วิธีตรวจสอบการโฆษณาเกินจริง

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวในการแถลงข่าวฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการภาคีเครือข่ายตามแผนปฏิบัติการจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทางวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ว่า ปัจจุบันมูลค่าการโฆษณายาและอาหารเสริมมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงปี 2549-2552 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยสูงกว่าปี 2539 ถึง 12 เท่า และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งเคเบิลดาวเทียม วิทยุท้องถิ่นมากกว่า 7,700 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจำนวนมากเป็นการโฆษณาเกินจริง ไม่มีการระบุข้อเสีย และละเมิดกฎหมาย

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานดูแลและเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกินจริง ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนภาคประชาชนต่างๆ แต่ยังไม่มีความร่วมมือที่ชัดเจน จึงต้องมีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น กพย.จึงร่วมกับ อย.ชมรมเภสัชชนบท มีเดียมอนิเตอร์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเฝ้าระวังและจัดการปัญหาในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชนซึ่งต้องมีความรู้เท่าทัน 4 เรื่อง คือ 1.รู้เท่าทันสื่อ 2.รู้เท่าทันกฎหมาย ว่าโฆษณามีความเป็นไปได้หรือไม่ 3.รู้เท่าทันสุขภาพ คือต้องรู้จักดูแลป้องกันตัวเองก่อน อย่าถูกสะกดจิต และ 4.รู้เท่าทันยา เช่น โฆษณาน้ำเอนไซม์ ซึ่งเมื่อรับประทานไปแล้วจริงๆไม่เกิดประโยชน์ใดๆทางการรักษา เพราะเอนไซม์เมื่อเข้าสู่กระเพาะก็จะถูกย่อยสลายกลายเป็นกรดอะมิโนธรรมดาเท่านั้น
“จริยธรรมและจรรยาบรรณในการโฆษณานั้นเป็นสิ่งสำคัญ ขอฝากครูอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ในการสอนเรื่องจริยธรรมด้วย จะคิดโฆษณาออกมาอย่างไรก็ได้ แต่ไม่ควรละเลยเรื่องจริยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีสรรพคุณเกินจริง เพราะเมื่อประชาชนหลงเชื่อจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าอาการดีขึ้น หลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์ครั้งแรก ซึ่งเป็นลักษณะของการเกิดอุปาทานหรือเรียกว่ายาหลอก (Placebo Effect)” ผู้จัดการ กพย. กล่าว

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญอีกประการคือเรื่องกฎหมายมีความล้าหลัง เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ยา พ.ศ.2510 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เป็นต้น ซึ่งมีข้อจำกัดและไม่ทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น จึงมีการผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ ในชื่อ ร่างพ.ร.บ.ยา พ.ศ….(ฉบับประชาชน) โดยจะมีการพัฒนาข้อกฎหมายใน 5 เรื่องหลัก อาทิ 1.ทันสมัยขึ้น 2.เพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น 3.การส่งเสริมการควบคุม 4.มีบทลงโทษทางแพ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง และ 5.มีการกำหนดราคา ซึ่งเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เสนอร่างกฎหมายไปยังรัฐสภาแล้ว โดยประธานรัฐสภาแจ้งว่าสภาได้รับหลักการและผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นที่เรียบ้รอยแล้ว เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา รอเพียงนายกรัฐมนตรีลงนามเท่านั้น

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า ขณะนี้ อย.และกสทช.ได้ลงนามความร่วมมือในการเฝ้าระวังและควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกินจริงแล้ว แต่ยังไม่มีการใช้ฐานข้อมูลร่วมกัน ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปอย่างทันท่วงที อย่างมีการร้องเรียนโฆษณาผลิตภัณฑ์เกินจริงเข้ามาก็มีความล่าช้าในการพิจารณาตรวจสอบ และถึงแม้จะมีการเอาผิดได้ แต่บทลงโทษก็ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากมีการปรับผู้กระทำผิดแค่ขั้นหลักพัน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้จากการโฆษณาสินค้า

ภก.ภาณุโชติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพมักมีการเปลี่ยนคำในการโฆษณา เพื่อเลี่ยงปัญหาทางกฎหมาย เช่น เปลี่ยนจากการรักษาเป็นการบำบัด เป็นต้น อย่างน้ำเอนไซม์ในทีวีจานดำโฆษณาว่า สามารถบำบัดโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน และโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ แต่เมื่อพิจารณาจากส่วนประกอบมีเพียงผงมะละกอ และผงผลไม้อื่นๆ ไม่มีส่วนประกอบใดที่จะช่วยบำบัดโรคได้ตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งถือว่ามีความผิดกฎหมายด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ที่ระบุว่า ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการจะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม

“ประชาชนมักมีความเข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์มักจะถูกกฎหมายอยู่แล้ว และยิ่งมีการฟังโฆษณาบ่อยๆย้ำๆ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ จนละเว้นการดูแลสุขภาพตัวเอง ดังนั้น การโฆษณาโน้มน้าวจนเป็นผลิตภัณฑ์เทวดารักษาได้ทุกโรค รวมไปถึงการโฆษณาด้วยถ้อยคำที่ติดหู เช่น อกฟูรูฟิต หรือ ทานแล้วขันทั้งแวง แข็งทั้งวัน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับประชาชนหรือชาวบ้านที่ไม่มีความรู้” ประธานเภสัชชุมชน กล่าว

ภก.ภาณุโชติ กล่าวอีกว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง นอกจากผิดกฎหมายแล้ว ยังมีผลเสียต่อสุขภาพและเศรษฐกิจด้วย เพราะพบว่ามีข้อมูลการเสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาเกินจริงมากขึ้น บางรายถึงขั้นขายที่ดิน ขายไร่ จนหมดเนื้อหมดตัว เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ก็มี ซึ่งผลิตภัณฑ์บางอย่างมีการผสมยาลดความอ้วน สเตียรอยด์ ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง ประชาชนควรมีความหนักแน่น ไม่เชื่ออย่างสุดตัว เพราะหากผลิตภัณฑ์ดีจริงต้องมีการนำไปใช้ในโรงพยาบาลแล้ว โดยมีเกณฑ์ในการตรวจสอบก่อนเชื่อโฆษณา 4 ข้อ คือ

1.โฆษณาต้องมีเลขที่อนุญาตโฆษณา 2.เนื้อหาโฆษณาต้องตรงกับชนิดของผลิตภัณฑ์ 3.เนื้อหาโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ และ 4.หากสงสัยว่าโฆษณาเกินจริงหรือไม่ สามารถสอบถามได้ที่ อย. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโรงพยาบาลทุกแห่ง

1.เลขที่อนุญาตโฆษณา หากเป็น ยาต้องมีเลขที่โฆษณาระบุ ฆท …/… อาหาร ระบุ ฆอ …/… เครื่องมือแพทย์ ระบุ ฆพ …/… และเครื่องสำอาง ไม่ต้องมีเลขที่โฆษณา

2.ชนิดผลิตภัณฑ์ ยา คือ ของที่ใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ อาหาร คือ ของกิน ดื่ม อม เพื่อค้ำจุนชีวิต (ไม่สามารถอ้างว่าวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยได้) เครื่องมือแพทย์ คือ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มุ่งหมายเฉพาะสำหรับใช้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข, วินิจฉัย ป้องกัน ติดตาม บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคของมนุษย์หรือสัตว์, ตรวจสอบ ทดแทน แก้ไขดัดแปลง พยุงค้ำจุนร่างกาย หรือเพื่อการวินิจฉัย ทำลายหรือฆ่าเชื้อสำหรับเครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง คือ ของที่ใช้สำหรับทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม (ไม่สามารถอ้างว่าวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้)

3.โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ สามารถพิจารณาได้จาก ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ข้อความก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ข้อความสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ และข้อความทำให้เกิดความแตกแยก หรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน

4.การแจ้งโฆษณาเกินจริงหากไม่แน่ใจ ควรมีพยานอื่นๆเพิ่มเติมด้วย อาทิ เอกสาร วัตถุ หรือบุคคลอ้างอิง

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

สั่งกรมวิชาการเกษตร แก้ พ.ร.บ.ปุ๋ยเอาผิดผู้โฆษณาเกินจริง

admin 4 เมษายน 2019

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระ […]

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand