รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ มข.ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และ บริษัทบางกอกแลปแอนด์คอสเมติก จำกัด ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ “พริกพันธุ์อัคนีพิโรธ” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม
โดยพริกพันธุ์อัคนีพิโรธ เป็นผลงานวิจัยของ รศ.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร คณะเกษตรศาสตร์ และคณะ เริ่มมีการรวบรวมพันธุ์พ่อแม่มาตั้งแต่ปี 2550 และเริ่มสร้างลูกผสมในปี 2553 และปรับปรุงพันธุ์จนกระทั่งได้เป็นลูกผสมที่มีลักษณะดี คือมีความเผ็ดสูงมากกว่า 500,000 สโคว์วิลล์ มีความทนทานโรคแอนแทรกโนส ซึ่งได้ยื่นจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต่อกรมวิชาการเกษตรเรียบร้อยแล้ว
ก่อนหน้านี้คณะผู้วิจัย มข.ได้ปรับปรุงพันธุ์พริกยอดสนเข็ม 80 และให้บริษัทบางกอกแลปฯ นำไปปลูกเพื่อสกัดสารแคปไซซิน ผสมในผลิตภัณฑ์ทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยมาแล้ว แต่คณะผู้วิจัยก็ยังพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม โดยการสร้างสายพันธุ์ลูกผสมพริกอัคนีพิโรธ ซึ่งมีแคปไซซินสูงกว่าพริกยอดสนเข็ม 80 ถึง 10 เท่า ผลงานชิ้นนี้ให้สิทธิบริษัทนำไปเป็นส่วนผสมผลิตภัณฑ์ยาบรรเทาปวดเมื่อย เป็นผลสำเร็จของการเชื่อมโยงระหว่าง มข. กับผู้ให้ทุนคือ สกว. และ สวทช.และบริษัทซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย
ดร.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร หัวหน้าคณะผู้วิจัย กล่าวว่าสารเผ็ดของพริกหรือแคปไซซินมีสรรพคุณกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว กระตุ้นการขับเสมหะทำให้หายใจสะดวกขึ้น และช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือด จึงนำมาใช้ประโยชน์ทั้งทางยาและเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตามพริกที่ชาวบ้านปลูกทั่วไปมีความเผ็ดไม่คงที่และผลผลิตต่ำ มข.จึงพัฒนาพันธุ์เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยา และได้พริกพันธุ์ยอดสนเข็ม 80 ที่มีความเผ็ดสูงและคงที่ 80,000 สโคว์วิลล์ และล่าสุดคือพันธุ์พริกอัคนีพิโรธ ที่เกิดจากพริกพันธุ์พิโรธ ที่มีรายงานว่าเผ็ดที่สุดในโลกพันธุ์หนึ่ง โดยพริกลูกผสมอัคนีพิโรธ มีความเผ็ดสูงเป็น 10 เท่าของพริกจินดา ขณะนี้บริษัทบางกอกแลปฯ ได้นำตัวอย่างพริกแห้งอัคนีพิโรธ ไปทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการปวดเมื่อยสูตรใหม่ และจะยื่นขึ้นทะเบียนตำหรับยาต่อไป
นายศุภชัย สายบัว กรรมการบริษัทบางกอกแลปฯ กล่าวว่าปัญหาหนึ่งของการต่อยอดงานวิจัยคือ ปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบที่เพียงพอต่อความต้องการ การใช้พริกตามท้องตลาดไม่สามารถควบคุมตรงนี้ได้ ดังนั้นการให้เกษตรกรปลูกจึงเป็นอีกทางออกหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ความรู้ในการดูแลรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสมุนไพร
ที่มา : ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน