รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจง และมอบนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองหรือ ศสม. เพื่อยกระดับความเข้มแข็งของระบบบริการขั้นปฐมภูมิของกระทรวงสาธารณสุข แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ ผู้แทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองหรือศสม.ใน 29 จังหวัดภาคกลางรวมกว่า 1,000 คน เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพบริการแก่ประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วงทศวรรษที่ 2 ให้มีสถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ให้เป็นรูปธรรม ประชาชนสัมผัสบริการได้จริง ภายใน 6 เดือนในปีนี้
นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาคุณภาพระบบบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ คือรพ.สต. ที่มี 9,750 แห่ง ทั่วประเทศ และศสม.อีก 228 แห่ง ซึ่งเป็นหน่วยบริการในสังกัดที่ไม่มีเตียงรับผู้ป่วยนอนรักษา ตั้งอยู่ในเขตชนบท และชุมชนในเขตเมือง เพื่อให้สถานบริการเหล่านี้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2 โรคคือเบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยจะเน้นหนักการดูแลส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน เพื่อลดจำนวนผู้เจ็บป่วย ลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ให้เป็นผลสำเร็จภายในปี 2556 โดยในปี 2555นี้ มีเป้าหมายพัฒนารพ.สต.ขนาดใหญ่ 1,000 แห่ง
ในการพัฒนาดังกล่าว จะมีการเพิ่มบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตาภิบาล เพิ่มแพทย์แผนไทยให้บริการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยและส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะเป็นหมอประจำทุกครัวเรือน และมีแพทย์ที่ปรึกษาประจำรพ.สต. 1,000 แหง และได้ให้รพ.สต.ทุกแห่งติดตั้งสไกป์ ( Skype) ซึ่งเป็นระบบวิดีโอออนไลน์ ใช้เงินลงทุนต่ำมาก เชื่อมโยงระบบกับโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อสามารถปรึกษาและสนทนากับแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลใหญ่ ในรายที่มีปัญหาซับซ้อนแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยอาการผู้ป่วยได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลใหญ่ จากการตรวจเยี่ยมรพ.สต.หลายแห่งที่จ.นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี และพระนครศรีอยุธยา พบว่าได้ผลดี ประชาชนพึงพอใจมาก การเสริมบริการด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารนี้ จะทำให้สามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนแพทย์ได้
ทั้งนี้ตั้งเป้าในปี 2555 มุ่งหวังจะลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่ให้ได้ร้อยละ 50 ของที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มั่นใจว่าภายในปี 2556 จะสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มอัตราการใช้บริการของประชาชนให้ได้ร้อยละ 60 และดูแลเยี่ยมบ้านประชาชนได้ร้อยละ 80 ส่วนผู้ป่วยทั้งโรคทั่วไปหรือโรคเรื้อรังที่ป่วยรุนแรงหรือมีอาการแทรกซ้อน จะมีระบบส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ออนไลน์
31 มี.ค.2555