รับขวัญศักราชใหม่ร่วมกันรักษาโลกรักษาสุขภาพกันดีหรือไม่ สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ แต่ดูเหมือนไม่ง่ายเพราะมักมีข้ออ้างว่าไม่ค่อยมีเวลาจึงล่วงเลยมาครบปีอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าลงมือทำวันนี้เชื่อว่าทั้งโลกและเราจะมีสุขภาพดีขึ้นแน่นอน ชวนทุกท่านปลูกต้นไม้ยืนต้นที่เป็นได้ทั้งอาหารและยาสมุนไพร บางท่านเรียก “ผักยืนต้น” เป็นไม้ที่กินแล้วอายุยืนและช่วยต่ออายุโลกให้ยั่งยืนด้วย ส่วนไม้สมุนไพรบางคนก็ตั้งชื่อให้เป็น “ไม้ยา” รณรงค์ให้ “ปลูกไม้ยารักษาป่า” ก็มาในแนวทางเดียวกัน ปลูกผักยืนต้นและไม้ยาก็ช่วยรักษาเราและโลกใบนี้
ขอถือฤกษ์ดีตามวิถีชาวพุทธรอยบรมครู คือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา หรือ พระพุทธเจ้าปางฉันสมอ ที่เกี่ยวกับสุขภาพ พระพุทธเจ้าปางนี้อยู่ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและธิเบต ไม่พบในฝ่ายเถรวาทบ้านเรา แต่ไทยก็รับวัฒนธรรมแบบมหายานมาด้วย ดูจากการสร้าง “พระกริ่ง” ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าหรือพระไภษัชยคุรุ นั่นเอง
พระพุทธเจ้าปางฉันสมอนี้ หนุนนำให้แวดวงพระภิกษุสงฆ์รู้จักและนิยมฉันลูกสมอมาแต่โบราณกาล และพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ฉันลูกสมอหลังเพลได้โดยถือเป็นโอสถเป็นยารักษาสุขภาพ สรรพคุณมีมากมายแต่ขอยกตัวอย่างเช่น เป็นยาระบายที่ดีและไม่เป็นอันตรายต่อลำไส้และช่วยรักษาโรคริดสีดวง หากทุก ๆ วันเรากินได้ถ่ายสะดวก นอนหลับสบายก็ช่วยให้สุขภาพดี เป็นยาอายุวัฒนะนั่นเอง
ครั้งนี้จะขอไม่ลงรายละเอียดตำรับยาแต่ขอเชิญชวนชิมเมนูอาหารเพื่อสุขภาพจานเด็ดที่ คุณกฤช เหลือลมัย เขียนในหนังสือผักยืนต้น กินผักอายุยืน โลกอายุยาว ของมูลนิธิชีววิถีได้รวบรวมไว้ จานแรก “แกงคั่วผลสมอไทย” สมอไทยรสขมฝาดมัน เนื้อแน่น ผลบางลูกจะกรอบอร่อย นำมาตำกินแนวอาหารอีสานได้ กินสด ๆ จิ้มน้ำพริกก็อร่อย แกงเผ็ด แกงคั่ว ก็อร่อย เพราะเนื้อสมอที่ดูดน้ำแกงไว้จนเข้าเนื้อจะไม่เละเหมือนผักหรือผลไม้อื่น สูตรแกงคั่วผลสมอที่แนะนำนี้ปรับสูตรมาจากสูตรของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ในหนังสือสุดคลาสสิค ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว
เครื่องปรุง น้ำพริกแกงเผ็ด ปลาทุกกังย่าง หมูสามชั้นนึ่งหั่นชิ้นย่อย ๆ กะทิ น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ลูกสมอดิบฝานขยำเกลือ คั้นน้ำทิ้งหนึ่งครั้ง วิธีปรุง เคี่ยวหัวกะทิในกระทะให้แตกมัน ผัดน้ำพริกแกงเผ็ดจนหอม ตามด้วยชิ้นสมอ ปลาเค็ม และหมูสามชั้น เติมกะทิเพิ่มให้เป็นน้ำแกง แล้วปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา ให้ได้รสตามต้องการ เท่านี้ก็ได้เมนูสุขภาพผลสมอไทย
สมอไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Terminalia chebula Retz. ชื่ออื่น ๆ ว่า มาแน่(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) สมออัพยา (ภาคกลาง) หมากแน่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ มีใบใหญ่ปลายใบแหลม มีดอกเล็ก ๆ เป็นฝอยเหมือนดอกหูกวาง ออกลูกเป็นพวง ลูกกลมมีเหลี่ยม พบเห็นได้ทั่วไปตามเขตป่าร้อนชื้นและป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่ประเทศอินเดียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยกันปลูกในชุมชนให้มาก ๆ เป็นวัตถุดิบยาที่ต้องการ และเป็นอาหารสุขภาพที่ดี
ต้นไม้หรือผักยืนต้นที่แนะนำต้นที่สอง คนไทยคุ้นเคยและเป็นเสมือนต้นไม้คอยเตือนสติชายหญิงที่ออกแนวเจ้าชู้ให้หักห้ามใจ มิฉะนั้นจะต้องปีนป่ายต้นงิ้วยามในยมโลก ต้นงิ้ว มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Bombax ceiba Linn. ดอกงิ้วมีกลีบใหญ่ 5 กลีบ กลิ่นหอมเย็น มักมี 3-5 ดอกรวมกันเป็นกระจุกอยู่ปลายกิ่ง เมื่อบานได้ที่ขั้วดอกจะหลุดร่วงง่าย เพียงลมแล้งพัดมาจะร่วงพรู ในอดีตเป็นของเล่นตามธรรมชาติของเด็ก ๆ ที่แย่งกันเก็บดอกงิ้วไปให้แม่ทำอาหาร ปัจจุบันมีการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น ต้นงิ้วใหญ่ในป่าเบญจพรรณก็ถูกทำลายไปด้วย เมนูข้าวเส้น(ขนมจีน)น้ำเงี้ยว เป็นอาหารพื้นบ้านล้านนาที่ขาดเกสรดอกงิ้วไม่ได้เลย เพราะจะช่วยให้ลำขนาด(อร่อยมาก) นั่นเอง และมีเคล็ดลับให้แช่ดอกงิ้วในน้ำนาน ๆ จนนุ่มก่อนนำไปปรุง
ขอแนะนำสรรพคุณของดอกงิ้วแดงไว้เล็กน้อย ใช้แก้ไข้พิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้แผลในปาก ลิ้นเป็นฝ้า แก้ท้องเสีย ท้องร่วง และในดอกงิ้วมีสาระสำคัญที่นำมาชงชา เป็นเครื่องดื่มช่วยบรรเทาปวดเมื่อย บำรุงไต ขับปัสสาวะด้วย
ต้นไม้ที่สามที่จะออกดอกช่วงปลายปี คือ สะเดา ผู้เฒ่าแม่แก่แต่โบราณแนะนำว่า “กินใบสะเดาทุกคน กินแล้วเป็นยาเจริญอาหาร รักษาธาตุ แก้เป็นลม กินแล้วนอนหลับดี” นอกจากยอดและดอกสะเดากินกับน้ำปลาหวานที่เราคุ้นคยแล้ว มีเมนู “ยำสะเดา” ให้ลิ้มรส ยอดและดอกสะเดาหาเก็บหรือซื้อได้ง่าย บางคนชอบสะเดาขมเพราะชอบของแรง บางคนชอบขมน้อย ๆ ก็สะเดามัน ก่อนทำกินควรลวกน้ำร้อน นึ่งพอสุก แนะว่าเอาฟาดกับไฟให้หอมกลิ่นไฟยิ่งขึ้น หรือลวกสุกแล้วฟาดไฟให้เนื้อดอกแห้ง ซึมซับน้ำยำได้ดีขึ้น จากนั้นเด็ดเป็นช่อเล็ก ๆ เครื่องปรุง ยอดอ่อน ดอกอ่อนสะเดาลวก หอมแดงซอย ปลาดุกย่าง พริกขี้หนูหั่น น้ำมะขามเปียกหรือน้ำมะนาว น้ำปลาหรือน้ำปลาร้า (แล้วแต่ชอบ) นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าให้เข้ากันเร็ว ๆ ตักใส่จานกินได้ทันที เคล็ดลับ ไม่ควรปรุงรสเผ็ดและเปรี้ยวจัดเพราะจะไปกลบความขมนัว ๆ อร่อย ๆ ของสะเดา และจะปรุงแต่งเพิ่มวุ้นเส้นลวกหั่นคลุกเคล้าเพื่อเพิ่มเนื้อยำ และลดความขมสำหรับคนที่ไม่คุ้นรสขมได้
แนะนำต้นไม้ยืนต้นได้เพียง 3 ชนิด แต่ขอส่งท้ายเมนูจานด่วนที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของไม้ยืนต้นที่ควรช่วยกันปลูกไว้เพิ่มขึ้นได้เสมอ คือ “ยำปลากระป๋องใบมะขามอ่อน” เครื่องปรุงแบบยำทั่วไปแต่มีน้ำพริกแกงส้มเพิ่ม นำมาผัดพร้อมหอมแดงซอย กระเทียมซอยให้สุกหอมแล้วใส่ซอสปลากระป๋องลงเคี่ยวดี ใส่เนื้อปลาคลุกเคล้า แล้วทิ้งไว้ให้เย็นจึงโรยใบมะขามอ่อนให้มาก ๆ คลุกเคล้าให้เข้ากันก่อนเสิร์ฟ จะได้ยำรสเปรี้ยวที่อร่อยแปลกไป แต่ท่านที่ชอบเปรี้ยวจัดอาจขอความช่วยเหลือจากน้ำมะนาวเล็กน้อยแต่งรสเพิ่มได้
เมนูจากไม้ยาหรือผักยืนต้นมีมากมายนับร้อยสูตร ปรุงกินทุกสัปดาห์ตลอดปี ปลูกกันเดือนละต้น สุขภาพเราและโลกดีแน่นอน