เปิดงานวิจัยสารเคมีในอาหารพบล่าสุดเมื่อปี 2554 ไทยนำเข้าสารเคมีกว่ากำจัดศัตรูพืชถึง 164 ล้านก.ก. ตรวจสุขภาพเกษตรกร 74 จังหวัด กว่า 5.3 แสนคน พบกว่า 1.7 แสนคนเสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากสารเคมี และในแต่ละปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นจังหวัดละ 250 คน ขณะที่เกษตรกรคิดแค่ผลผลิตที่จะได้ แต่ไม่คำนึงถึงต้นทุนของสุขภาพ-สิ่งแวดล้อมที่เสียไปถึงปีละ 14.5 พันล้าน
164,338,014.83 กิโลกรัม คือปริมาณการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเมื่อปี 2554 และมีจำนวนอีกไม่รู้เท่าไร ที่อยู่ในจานอาหารของมื้อนี้ จากการประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประจำปี 2555 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN พบว่า ปีที่แล้วมีคนเสี่ยงป่วยต่อสารเคมี 209,192 คน และจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ต้นทุนที่ต้องจ่ายในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อแลกกับการกินผักเปื้อนสารเคมี ทำให้สูญเงินไปกว่า 14.5 พันล้านบาทเลยทีเดียว แม้กระทั่งผักพื้นบ้านที่เคยเชื่อว่าปลอดภัยก็ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว
พบคนเสี่ยงป่วยกว่า 2 แสนคน เพียง 1 ปีเพิ่มขึ้นจังหวัดละ 250 คน
น.พ.พิบูล อิสสระพันธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงงานวิจัยความเสี่ยงของเกษตรกรและประชาชน ที่ได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ว่า จากการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของเกษตรกร 74 จังหวัด ปี 2554 โดยการตรวจเลือดเกษตรกร 533,524 คน มี 173,243 คน หรือร้อยละ 32 ที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และการตรวจเลือดประชาชนทั่วไป 99,283 คน มีคนเสี่ยงและไม่ปลอดภัย 35,949 คน หรือร้อยละ 36 รวม 209,192 คน ในขณะที่ปีนี้ มีเกษตรกรที่รับการตรวจเลือด 117,131 คน ใน 16 จังหวัด มีคนที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัย 41,457 คน แม้ตัวเลขจะอยู่ในหลักหมื่น แต่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนพื้นที่จังหวัดแล้ว พบว่าเพียง 1 ปี กลับมีเกษตรกรที่เสี่ยงจากการได้รับพิษสารเคมีเพิ่มขึ้น เฉลี่ยถึง 250 คนต่อจังหวัดเลยทีเดียว
น.พ.พิบูลกล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีระบบรวบรวมข้อมูลโรคพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบเรื้อรัง เช่น อาการทางสมอง งานวิจัยนี้จึงทำได้เพียงการรวบรวมข้อมูลความเสี่ยง ในระยะก่อนการเกิดโรคจากการตรวจเลือด และข้อมูลโรคเฉพาะการเกิดโรคแบบเฉียบพลันเท่านั้น
เกษตรกรไม่นึกถึงต้นทุนสุขภาพทำสูญเงิน 14.5 พันล้าน
จากการวิจัยของ รศ.ดร.สุวรรณา ประณีตวตกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องต้นทุนผลกระทบภายนอกทางเศรษฐศาสตร์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย หมายถึง มูลค่าผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ด้านการเติบโตของความสามารถในการผลิต (Productivity Growth) ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพที่มีต่อผู้ฉีดพ่น ผู้บริโภค พบว่า ผลประโยชน์รวมของเกษตรกรจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จะมีมูลค่าเท่ากับมูลค่าที่จ่ายในการป้องกันการสูญเสียผลผลิตของเกษตรกร
เมื่อพิจารณาถึงมุมมองของเอกชนคือ เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านสารเคมี ซึ่งมุ่งก่อให้เกิดรายได้สูงสุด จึงมีความแตกต่างกับมุมมองของสังคม คือ หน่วยงานผู้กำหนดนโยบายของภาครัฐ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น เพราะในมุมของเกษตรกร ระดับการใช้สารเคมีขึ้นอยู่กับการประเมินของเกษตรกร โดยคำนึงถึงแต่ผลผลิตที่คาดว่าจะสูญเสียไป ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุม ดูแล และต้นทุนตามที่เกษตรกรมีความเข้าใจ เช่น เงินลงทุน แต่ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนด้านสุขภาพของเกษตรกร ที่เกิดจากผลกระทบจากการใช้สารเคมี หมายความว่า เกษตรกรเชื่อว่ายิ่งใช้สารเคมี ก็ยิ่งได้ผลผลิตมาก กำไรก็มากขึ้นด้วย ในขณะที่สังคมมีการประเมินการใช้สารเคมีในระดับที่เหมาะสมต่ำกว่าเกษตรกร แต่ระดับต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงกว่าเกษตรกร เพราะสังคมคำนึงถึงการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและอาหาร
ดร.สุวรรณายกตัวอย่างงานวิจัยในต่างประเทศ เพื่อให้เห็นถึงสถานการณ์มูลค่าผลกระทบในภาพรวมระดับโลก เช่น งานวิจัยของ Pimentel ปี พ.ศ.2548 ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบภายนอกของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ในอเมริกา มีมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ส่วนที่ Atreya วิจัยในปี พ.ศ.2549 พบว่า ประเทศเนปาลมีมูลค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมปีละ13.10-73.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และด้านสุขภาพสูงถึงปีละ 2.14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ประเทศเยอรมนี จากงานวิจัยของ Haucke และ Bruecker ปี พ.ศ.2553 มีมูลค่าผลกระทบด้านสุขภาพสูงถึง 15-62 พันล้านยูโร เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) มีบทบาทในการยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิต การโภชนาการ ทั้งยังเพิ่มสมรรถนะในการเพิ่มผลผลิต เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของโลก “มูลค่าผลกระทบภายนอกจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2553 เป็นเงิน 14.5 พันล้านบาทต่อปี เมื่อบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสารเคมีดังกล่าว ตัวเลขของต้นทุนก็ยิ่งพุ่งสูงขึ้นถึง 32.43 พันล้านบาทเลยทีเดียว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี โดยเกษตรกรและแรงงานในไร่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบภายนอกมากที่สุด คือ 11.81 พันล้านบาท รองลงมาคือผู้บริโภค 1.66 พันล้านบาท และระบบนิเวศในไร่ 1.03 พันล้านบาท” ดร.สุวรรณาให้ข้อมูล
พบผักพื้นบ้านไม่ปลอดภัย ตั๊กแตน ปู ปลา ปนเปื้อนถ้วนหน้า
นอกจากผลการวิจัยของน.พ.พิบูลและ ดร.สุวรรณา แสดงถึงแนวโน้มการขยายตัวของความเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจแล้ว
ดร.สุภาพร ใจการุณ อาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ยังเปิดเผยข้อมูลที่เปลี่ยนความคิดว่า ผักพื้นบ้านนั้นปลอดภัย แม้ว่าผักพื้นบ้านจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยมานาน ทั้งการบริโภค ภาษา โดยเฉพาะความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม แต่จากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้พื้นที่ที่หาเก็บผักพื้นบ้านน้อยลง รวมถึงปัญหาพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยว หรือพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจได้ขยายรุกล้ำพื้นที่ป่าธรรมชาติ ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีของพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจลุกลามเข้าไปในพื้นที่ของผักพื้นบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในที่สุด และยังมีการส่งเสริมให้ปลูกผักพื้นบ้านในรูปแบบการค้า จึงมีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีมากขึ้นไปอีก
ดร.สุภาพรเก็บตัวอย่างผักพื้นบ้านและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศใน 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และศรีสะเกษ เพื่อตรวจสอบสารเคมี พบว่าใบย่านางมีการปนเปื้อนถึงร้อยละ 86 ผักขะแยงร้อยละ 71 จิ้งหรีดร้อยละ 90 ตั๊กแตนร้อยละ 89 ปูนาร้อยละ 75 ปลาขนาดเล็กร้อยละ 57 และตัวอ่อนแมลงปอร้อยละ 60
ผลการวิจัยที่นักวิชาการนำเสนอ ทำให้ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ในอนาคตที่น่าหวาดหวั่น คือ การไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ของผู้ใช้สารเคมีเหล่านี้ การนิยมใช้สารเคมีหลายชนิดผสมกัน และการปลูกพืชซ้ำในแปลงเดิม ทำให้ง่ายต่อการเกิดการทำลายของศัตรูพืช ทั้งมาตรการการควบคุมการใช้ การนำเข้า การซื้อขายสารเคมีที่ไม่เข้มงวดพอ ทำให้คนไทยต้องแบกรับความเสี่ยงที่ทับทวีทุกเวลา แม้กระทั่งส้มตำปูปลาร้าจานเด็ดคู่โต๊ะอาหาร ก็ไม่สามารถเปิบได้อย่างสบายใจอีกแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถเหมารวมว่า เกษตรกรเป็นตัวร้ายของละครเรื่องนี้ได้ เหตุเกิดจากความไม่รู้ ความต้องการของตลาด ของนายทุน ทำให้ปิดกั้นโอกาสหรือทางเลือกอื่นที่ดีกว่า คงเหลือแต่ผู้คนอย่างเรา ๆ ที่ต้องเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีเหล่านี้
ที่มา : ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ