ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายปิยเกษตร สุขสถาน ผอ.สำนักพัฒนาและปลูกบำรุง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) จัดแถลงข่าวความคืบหน้าในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมขิง-ข่าโลก ครั้งที่ 7 ณ สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2558 ว่า ประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลกของพืชตระกูลวงศ์ และอันดับขิงข่า โดยส่วนใหญ่พืชวงศ์ขิงข่าจะอยู่ในเขตร้อน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์ก ศาสตราจารย์ ไค ลาร์เสน ระบุว่าประเทศไทยมีขิง-ข่าพื้นเมือง 26 สกุล 300 ชนิด หรือคิดเป็น 1 ต่อ 4 ของขิง-ข่าโลก ดังนั้นพืชวงศ์ขิงข่าในประเทศไทยจึงเป็นที่สนใจของผู้เชี่ยวชาญฝั่งอเมริกาและยุโรปมาก เพราะพืชตระกูลนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายๆ ด้าน เช่น อาหารเครื่องเทศ สมุนไพร ไม้ประดับ เครื่องสำอาง การพัฒนาเป็นยา สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยใช้ในสปาหรือสถานเสริมความงามต่างๆ ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก
“สิ่งที่น่ากังวลสำหรับพืชวงศ์ขิงข่าคือ พื้นที่ป่ามีปริมาณลดลง ที่เกิดจากไฟป่าและจากการแปลงสภาพป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ขิงข่าพื้นเมืองหายไปจำนวนมากซึ่งบางชนิดหายไปโดยที่เราไม่รู้ตัว อีกทั้งการเข้ามาของนักวิชาการต่างชาติได้นำพืชตระกูลขิงข่าออกไปโดยพืชตระกูลนี้ยังไม่ได้จัดอยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิด สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรืออนุสัญญาไซเตส จึงยากแก่การตรวจสอบ โดยการประชุมขิง-ข่าโลกครั้งนี้จะมีการหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหานี้ด้วย” นายปิยเกษตร กล่าว
นายปิยเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการจัดประชุมขิง-ข่าโลกครั้งที่ 7 ทาง อ.ส.พ.จะขยายในส่วนงานวิชาการและจัดนิทรรศการ โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนคือ 1.การประชุมวิชาการด้านอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา การอนุรักษ์พฤกษศาสตร์ท้องถิ่น การอนุรักษ์ การพัฒนาใช้ประโยชน์ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะพืชวงศ์ขิงข่า แต่รวมไปถึงพืชที่อยู่ในกลุ่มใกล้เคียงกัน เช่น กล้วย คล้า พุทธรักษา เอื้องหมายนา เป็นต้น 2.การเปิดสวนรวบรวมพืชตระกูลวงศ์และอันดับขิงข่า 3.การจัดนิทรรศการขิงข่า และการออกร้านชุมชน และ 4.การจัดทัศนศึกษาดูงานการผลิตในฟาร์มเกษตรกร ซึ่งคาดว่าผลที่ได้จะช่วยกระตุ้นเรื่องการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพื้นเมืองของไทย อีกทั้งยังจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยที่สนใจปลูกพืชดังกล่าวให้ดีขึ้นอีกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถนำเสนอผลงานในทุกสาขา เช่น อนุกรมวิธาน พฤกษศาสตร์ชีววิทยา พืชสวน พันธุศาสตร์ เคมี เภสัชศาสตร์นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.qsbg.org
ที่มา : โพสต์ทูเดย์