ไทยนำเข้าสารเคมีสูงเท่าตึกใบหยก

เวที สช.เจาะประเด็นสุขภาพ หนุน รมว.เกษตรฯ ยกเลิกใช้สารเคมี 4 ตัว “คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น” เผยหลายประเทศสั่งห้ามใช้แล้ว แต่ไทยยังหลับหูหลับตานำเข้าอยู่ในปริมาณสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ชี้เป็นตัวการก่อให้เกิดความผิดปกติในดีเอ็นเอ ทำให้เกิดมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่นๆ เกษตรกรเสี่ยงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 4.4 เท่า ผู้หญิงท้องเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า แนะรัฐบาลส่งเสริมการปลูกพืชอินทรีย์ และเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ ขณะนี้ “สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ชี้ นโยบาย “บัตรเครดิตเกษตรกร” ทำให้เกิดการใช้สารเคมีมากขึ้น
สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็นเรื่องนโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีก่อมะเร็ง โดยมี ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น, นพ.พิบูลย์ อิสระพันธ์ รอง ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ, นางอรพรรณ อิสระพันธ์ รองเลขาธิการ สช., ดร.อัมรา เวียงวีระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว และนายน้ำค้าง มั่นศรีจันทร์ เกษตรกร จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมอภิปราย

โดย ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์กล่าวว่า ในหลายประเทศห้ามขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายหลายประเภท มีการตรวจสอบการนำเข้าอย่างรัดกุม รวมถึงการตรวจสอบผักผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสารเคมีประเภทคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น เป็นสารเคมีที่ห้ามใช้แล้ว เพราะมีอันตรายสูง โดยพิษเฉียบพลันจะทำให้มีอาการ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งที่ท้อง เหงื่อออก ท้องเสีย น้ำลายมาก อ่อนหล้า ง่วง งุนงง เสียการทรงตัว มองเห็นไม่ชัด หายใจลำบาก ความดันโลหิตสูงขึ้น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ในรายที่ได้รับพิษมากขึ้นจะมีอาการ เช่น หายใจลำบาก สั่น ชัก ล้มหมดสติ โคม่า ปอดบวมน้ำ ระบบหายใจล้มเหลว

ส่วนอันตรายในระยะยาว สารก่อกลายพันธุ์ที่รุนแรง และสารก่อมะเร็งที่รุนแรง การแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ตับ และกระตุ้นให้เกิดเนื้องอก ก่อมะเร็ง และรบกวนระบบต่อมไร้ท่อ ทำลายเอนไซม์ที่เยื่อหุ้มสมอง การก่อกลายพันธุ์ ความผิดปกติของอสุจิและการตายของอสุจิ และทำให้เป็นโรคผิวหนังแข็ง ยิ่งได้รับมาก ยิ่งเสี่ยงมาก สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับสารเคมีจะทำให้แม่น้ำหนักลด กล้ามเนื้อกระตุก กินน้อยลง โลหิตจาง สั่น สูญเสียการทรงตัว น้ำนมลดลง และลูกน้ำหนักลด ตายตั้งแต่กำเนิด

“เกษตรกรมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมากกว่าอาชีพอื่นๆ คิดเป็น 4.4 เท่า และผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า สรุปว่าได้รับสารพิษทำให้เกิดความผิดปกติของ DNA นั่นคือเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่นๆ เพิ่มขึ้น” ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์กล่าว

นพ.พิบูลย์กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากโลหะหนัก ขยะพิษ หมอกควันและสภาพอากาศ และสารกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะเรื่องการใช้สารเคมีที่เพิ่มขึ้นจากปี 2540 ที่มีอัตราการใช้อยู่ที่ 15% มาเป็น 38.5% ในปี 2550 มีการนำเข้าปีละหลายหมื่นตัน มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2554 มีการนำเข้าสารเคมีจำนวนมากเทียบความสูงได้เท่ากับตึกใบหยก 2

ทั้งนี้ จากการโครงการประเมินความเสี่ยงเกษตรกรจากสารกำจัดศัตรูพืช หรือมีระดับสารเคมีในเลือดเกิน 100 ยูนิต ปี 2554, 2555 ในกลุ่มเกษตรกรจำนวน 5 แสนรายทั่วประเทศ พบมีความเสี่ยงของการปนเปื้อนสารพิษในเลือดสูง 32% ส่วนประชาชนทั่วไปพบมีความเสี่ยง 36% ขณะที่ผลการตรวจสอบปี 2555 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1 แสนคน พบมีความเสี่ยงสูง 30% โดยเฉพาะทางภาคตะวันตกของประเทศ พบว่าเกษตรกรเสียชีวิตจากการใช้สารเคมีสูง 20% และมีการนำสารเคมีอันตรายไปใช้ฆ่าตัวตาย 80%

ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีว่าควรจะสั่งห้ามสารเคมีอันตรายทั้ง 4 ชนิด เพราะมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่ามีอันตรายมาก ต้องให้ความสนใจ เพราะแม้แต่ประเทศผู้ผลิตและส่งออกยังห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวแล้ว ส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ต้องปรับรูปแบบการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายอย่างเคร่งครัด รัดกุม รวมถึงเข้มงวดเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น โดยเฉพาะการขายตรง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ขนาดสารเคมีที่ยังอยู่ระหว่างรอขึ้นทะเบียนยังสามารถจำหน่ายได้

“รัฐบาลควรส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น และต้องเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ให้กับเกษตรกร และควบคุมพืช ผัก ผลไม้ที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งในประเทศของเขาแบนเยอะ แต่ที่ส่งมาขายบ้านเราสวยมาก ไม่มีแมลงเจาะเลย แสดงว่าใช้สารเคมีมาก แต่ขณะนี้นโยบายจัดทำบัตรเครดิตเกษตรกรจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีมากขึ้น เพราะไม่ต้องใช้เงินสดในการซื้อสารเคมี” ศ.เมธี ดร.สุปรีดิ์ กล่าว

ด้านนางอรพรรณกล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลเน้นเรื่องการผลิต เช่น ข้าวนั้นทำให้เกษตรกรคิดว่าหากปลูกแบบอินทรีย์ให้ผลผลิตไม่ทันใจ จึงต้องพึ่งพาสารเคมี ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการสนับสนุนให้ใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมา นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องการยกเลิกการนำเข้าสารเคมีอันตราย 4 ประเภท ซึ่งถ้าทำได้ก็เป็นผลดีต่อเกษตรกร ด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นจึงขอให้กำลังใจให้นายยุคลผลักดันเรื่องนี้จนสำเร็จ.

ที่มา : ไทยโพสต์ออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

สารเคมีตกค้างในพริกสูงสุด ไทยแพนจี้ ก.เกษตรฯ ปฏิรูปตรา Q

admin 6 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ […]

ทั่วโลกตื่นกลัวภัยคุกคามจากสารเคมี ประเทศไทยทำอะไรอยู่

admin 6 เมษายน 2019

สถานการณ์ภัยอันตรายจากสารเคมีเกษตรทั่วโลกเข้าขั้นวิกฤต […]

เกษตรกรป่วยสารเคมีพุ่ง 4 เท่า เสี่ยงเซ็กซ์เสื่อม

admin 6 เมษายน 2019

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ส […]

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand