มีพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่หมอพื้นบ้านอีสานเรียกว่า “ตองหมอง” ณ เวลานี้คาดว่าน่าจะเป็นพืชที่มีเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน แต่ในทางราชการโดยหอพรรณไม้ กรมป่าไม้ เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ไชหิน” ซึ่งน่าจะมาจากการสำรวจพบครั้งแรกที่จังหวัดชัยภูมิหรือสุรินทร์ ซึ่งชาวบ้านที่นั่นเรียกว่า “ไซหิน” ชาติพันธุ์กูยในจังหวัดสุรินทร์เรียกไม้ชนิดนี้ว่า “การะ” ในขณะที่คนชาติพันธุ์เขมรในจังหวัดสุรินทร์เรียกสมุนไพรนี้ว่า “เรียะ” หรือ “ เรียง” แต่เมื่อคนภาคกลางภาษาทางกลางก็ออกเสียงเป็น “ ไชหิน”
ตองหมอง หรือ ไชหิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Droogmansia godefroyana (Kuntze) Schindl. เป็นไม้พุ่ม สูง 1-2.5 เมตร ลำต้นมีขนสีขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี โคนใบเว้า ปลายใบมนมีติ่งแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบหนา มีขนทั้งสองด้าน ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยก สีเขียว กลีบดอกรูปดอกถั่วสีแดงแกมม่วง ยอดเกสรเป็นพู ผลเป็นฝักแห้งมีรูปร่างขอดเป็นข้อ ๆ มี 5-6 ข้อ ปลายสุดมีติ่งแหลม มีขนสีขาวปกคลุมหนาแน่น เมล็ดรูปกลมแบน ตองหมองในภาคอีสานนั้น พบได้ในตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงบนภูเขา และพบรายงานของต่างประเทศว่าขึ้นได้ในประเทศเขมร ลาวและเวียดนาม แสดงว่าพืชชนิดนี้มีการกระจายอยู่ในพื้นที่ที่ไม่กว้างมากนัก ช่วงเวลาการออกดอก(สีสวยงามดี)และออกผลอยู่ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เป็นพืชขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
เหตุที่เรียกว่า ตองหมอง น่าจะมาจากวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์ของพืชชนิดนี้ เนื่องจากขนาดใบประมาณเท่าฝ่ามือ ชาวบ้านนำมาใช้ห่อของ ซึ่งใบอะไรที่ใช้ห่อของมักเรียกรวมๆ ว่า “ตอง” และด้วยใบตองหมองมีขนสีขาวปกคลุมอย่างหนาแน่นจนทำให้ใบมีลักษณะเป็นสีขาวหม่น ๆ ชาวอีสานจึงเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า ตองหมอง นั่นเอง
ประโยชน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของตองหมอง คือ ใช้เป็นอาหารตามธรรมชาติให้กับสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือได้มาแทะเล็มได้ดี ไม่ใช่แค่เป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยงเท่านั้น ใบอ่อนและยอดอ่อน มีรสฝาด กินกับเมี่ยงหรือนำมากินเป็นผักสดกับน้ำพริกหรือแจ่วก็อร่อยดี
นอกจากประโยชน์ด้านอาหารแล้ว คนอีสานหรือในภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพนำมาปรุงเป็นยาสมุนไพรด้วยการนำมาต้มน้ำดื่มแก้ปวด และอาจารย์วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุลและคณะ ได้เคยทำการศึกษาในเขตภาคอีสานมาตั้งแต่ราวปี2543 รายงานว่ามีการใช้เป็นยาพื้นบ้านอยู่หลายตำรับ เช่น ใช้รากต้มน้ำดื่มแก้อาเจียนที่มีเลือดออกทั้งทางปากและทวารหนัก ซึ่งต่อมาก็สอดคล้องกับการรวบรวมความรู้ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามพบว่า รากตองหมองนำมาต้มรวมกับรากแกลบหนู (Dendrolobium lanceolatum (Dunn) Schindl.) ต้มดื่ม รักษาอาการถ่ายเป็นมูกเลือด
นอกจากนี้ในตำรายาพ่อปรีชา พิณทอง ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านท่านหนึ่งที่มีการรวบรวมความรู้ไว้ มีการใช้ตองหมองในหลายตำรับ เช่น
ตำรับแก้ทราง ใช้ทั้งต้นและราก แช่อาบ ตำรับแก้สะดวงดัง (ริดสีดวงจมูก) ใช้ ฮาก(ราก)ตองหมอง ไฮมี้ (Ficus sp.) ไม้ฮังแฮ้ง (แครกฟ้าหรือHeterophragma sulfureum Kurz) ข่าลิ้น (กัดลิ้นหรือ Walsura trichostemon Miq.) ฮากหญ้าหวายนา (Calamus sp.) ต้มกิน ตำรับแก้เลือดออกทางทวาร ให้เอาฮากเจียงปืน (ครอบจักรวาลหรือ Xantonnea parvifolia Craib) เครือเขามวก (Parameria laevigata (Juss.) Moldenke.) ฮากก้ามปู (ต่อไส้หรือ Allophylus cobbe (L.) Raeusch.) ฮากสาเหล้าน้อย (ซำซาเตี้ยหรือ Bridelia harmandii Gagnep.) ฮากตองหมอง ฝนกินหรือแช่กิน
ตำรับแก้เลือดทั้งปวง ให้เอาฮากเจียงปืน เครือเขามวก ฮากก้ามปู ฮากสาเหล้าน้อย ฮากตองหมอง ฝนกิน ตำรับแก้ป้าง (ม้าม) หย่อนให้เอา ฮากเจียงปืน ฮากชะมัดน้อย (Micromelum falcatum (Lour.) Tanaka) ฮากมูกน้อย (พุดทุ่งหรือ Holarrhena curtisii King & Gamble) ฮากตองหมอง เอาทั้งหมดอย่างละเท่ากัน ต้มกิน ตำรับแก้ไข้ ให้เอาฮากดูกอึ่ง (แกลบหนูหรือ Dendrolobium lanceolatum (Dunn) Schindl.) ฮากตองหนัง (Ficus callosa Willd.) ฮากเอ็นอ้า (โคลงเคลงหรือ Melastoma saigonense (Kuntze) Merr.) ฮากตองหมอง เอาสมุนไพรทั้งหมดอย่างละเท่ากัน ต้มกิน
ในต่างประเทศมีรายงานการใช้เช่นกัน เช่น นำรากและยอดอ่อนมาต้มบ้วนปาก แก้ปวดฟัน ใช้ทั้งต้นนำมาต้มดื่ม ทำให้หยุดอาเจียน แก้ไข้มาลาเรีย แก้อาการท้องเสียและแก้อาการเลือดไหลออกทางปากและทวารหนัก รากต้มดื่มทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ รากเมื่อนำมาสกัดด้วยเอทานอลจะได้สารสำคัญที่มีคุณสมบัติเหมือนฮอร์โมนเพศหญิงและยังมีคุณสมบัติลดอัตราการตายของเซลล์เนื่องมากจากขบวนการออกซิเดชั่น และการศึกษาที่น่าสนใจว่า “ตองหมอง” จะช่วยลดความหมองให้ผิวพรรณ คือมีคุณสมบัติในการลดการเหยี่ยวย่นของผิวในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนด้วย
ไชหิน หรือ ตองหมองเป็นสมุนไพรที่เราไม่ค่อยรู้จัก แต่เป็นพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ในหลายรูปแบบ นอกจากนี้ตองหมองยังเป็นพืชในตระกูลถั่ว ปลูกเป็นพืชบำรุงดินได้เป็นอย่างดี ผลผลิตใบดอกผลก็นำมาเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอางได้ จึงไม่ควรมองข้ามพืชพันธุ์แห่งดินแดนที่ราบสูงอีสานบ้านเรา.