โควิดจะอยู่กับโลกนี้ไปอีกนาน อะไรที่เกี่ยวกับโควิดก็จะมีออกมาเรื่อย ๆ ทั้ง วัคซีนรุ่นสองที่จะใช้ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ รวมถึงสมุนไพรที่แชร์กันบนโลกออนไลน์ จึงได้ลองทบทวนเอกสารที่ผ่านมาพบว่า โสมอินเดีย เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าจะมีศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์ แต่สำหรับการศึกษาวิจัยที่นำมาเป็นคำตอบของโควิด-19 ยังมีไม่มากพอ อย่างไรก็ตามก็มีความน่าสนใจมาก โสมอินเดีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Withania somnifera (L.) Dunal หรือที่มีชื่อทั่วไปว่า อาช-วา-กาน-ดา (Ashwagandha) คำว่า อาชวา-กานดา มาจากภาษาสันสฤตที่เป็นการผสมกันของคำว่าอัสวะ (ashva) ที่มีความหมายว่า “ม้า” กับคำว่า กานดะ (gandha) ที่มีความหมายว่า “กลิ่น” เนื่องจากรากของโสมอินเดียมีกลิ่นแรงคล้ายกับกลิ่นของม้านั่นเอง
โสมอินเดีย จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์มะเขือ อายุรเวทของอินเดียใช้เข้ายาในการรักษาข้ออักเสบ (arthritis) ภาวะวิตกกังวล (anxiety) โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorder) โรคสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder; ADHD) รักษาความสมดุลร่างกาย โรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive dirorder; OCD) ปัญหาการนอนหลับ (insomnia) เนื้องอกบางชนิด โรคผิวหนังที่ปรากฏเป็นปื้นสีขาว (leukoderma) ปวดหลัง (fibromyalgia) ปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน สะอึก โรคตับเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับความเสื่อมทางสมอง ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคฮันติงตัน (Huntington’s เป็นโรคทางพันธุกรรมโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสื่อมของระบบประสาท) และอัลไซเมอร์ รวมถึงยังใช้ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษามะเร็งและจิตเภท (schizophrenia) และมีการใช้เพื่อลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดอีกด้วย
ในวิถีชีวิตชาวอินเดียก็นำโสมอินเดียมาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดความเครียดและเป็นยาบำรุงร่างกายและป้องกันหรือลดความความชราด้วย บางคนยังใช้โสมอินเดียสำหรับพัฒนาทักษะการคิด ลดความเจ็บปวดและการอักเสบการบวม โสมอินเดียยังเป็นสมุนไพรสำหรับผู้มีบุตรยากซึ่งใช้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงใช้เป็นสมุนไพรเกี่ยวกับเพิ่มพลังทางเพศอีกด้วย ในประเทศอินเดียมีผลิตภัณฑ์จากโสมอินเดียหลายชนิด เช่น โลชั่นทาบนผิวหนังใช้รักษาบาดแผล แก้ปวดหลังและอัมพฤกษ์ครึ่งซีก (hemiplegia)
ในโสมอินเดียพบสารสำคัญหลายชนิดที่ช่วยทำให้สมองสงบลง ลดการบวม (อักเสบ) ลดความดันโลหิตลง และปรับสภาพระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย แต่การใช้โสมอินเดียยังมีข้อจำกัดหรือผลข้างเคียง ผู้ที่มีภาวะความดันไม่ปกติเมื่อใช้โสมอินเดียอาจทำให้ความดันโลหิตลดลง ซึ่งอาจเข้าไปรบกวนยาที่ใช้รักษาระดับความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นในกลุ่มผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำหรือใช้ยาควบคุมความดันโลหิตควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ โสมอินเดียยังไปสร้างความระคายเคืองแก่ระบบทางเดินอาหารจึงไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร และสำหรับผู้ป่วย“โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง” เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis; MS) โรคพุ่มพวง (Lupus (systemic lupus erythematosus; SLE) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis; RA) หรือภาวะที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ โสมอินเดียอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองมีอาการมากขึ้น จึงไม่ควรใช้โสมอินเดียจะดีที่สุด
แม้ว่าโสมอินเดียจะเป็นสมุนไพรที่มีการใช้ในกลุ่มประเทศอินเดีย เนปาล ปากีสถานมาเป็นเวลานานนับร้อยปี แต่งานวิจัยเชิงลึกที่จะสนับสนุนการบำบัดรักษาโรคต่างๆ เป็นการเฉพาะยังมีไม่เพียงพอรวมถึงการวิจัยรักษาโควิด-19 ด้วย แต่พบว่ามีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโสมอินเดียคือ โคมไฟจีน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alkekengi officinarum Moench มีถิ่นกำเนิดในยุโรปไปจนถึงทางตอนกลางและทางตอนใต้ของจีน มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าพืชชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับโสมอินเดีย เพราะมีลักษณะภายนอกคล้ายกันมาก นอกจากนี้ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับโสมอินเดีย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้และมีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย จนคนไทยคิดว่าเป็นพืชพื้นเมืองไทย นั้นก็คือ โทงเทง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalis angulata L. ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์มะเขือเช่นเดียวกับโสมอินเดีย
ในการสืบค้นข้อมูลพบว่า โทงเทงทั้งต้นและผลมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาขับความชื้นในร่างกาย แก้ไข้ตัวร้อน แก้อาการร้อนใน ไอร้อน กระหายน้ำ ขับเสมหะ ในตำรายาจีนหลายฉบับระบุว่า โทงเทงใช้รักษาโรคช่องปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลือง ช่วยแก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ วิธีใช้นำทั้งต้นนำมาตำละลายกับเหล้า เอาสำลีชุบน้ำยาอมไว้ข้าง ๆ แก้ม แล้วค่อย ๆ กลืนน้ำยาผ่านลำคอทีละน้อย สำหรับคนที่ไม่ดื่มสุรา จะใช้น้ำส้มสายชูแทนก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ส่วนการใช้เป็นยาแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ยารักษาหลอดลมอักเสบ หอบ ไอ คอเจ็บ เสียงแหบต่าง ๆ ให้ใช้โทงเทงผสมกับเปลือกส้มจีนแห้งอย่างละ 2 สลึง นำมาต้มกับน้ำกิน
มองสรรพคุณทั้งโสมอินเดียและโทงเทงแล้ว โทงเทงน่าจะมีสรรพคุณในการต้านโควิด-19 มากกว่า แต่แปลกใจว่าเมื่อสืบค้นข้อมูลและทบทวนเอกสารต่าง ๆ จากต่างประเทศกลับไม่ปรากฎรายชื่อของโทงเทง ทั้ง ๆ ที่จากตำรายาจีนโบราณบอกสรรพคุณไว้อย่างชัดเจน หรือเพราะเป็นไปได้ว่าในต่างประเทศมีจำนวนสมุนไพรโทงเทงไม่มากพอ ใครเห็นโอกาสนี้ โทงเทงก็เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าศึกษาวิจัยต่อไป.