รู้หรือไม่ ? สมุนไพรที่มีนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยนิยมศึกษามากชนิดหนึ่ง คือ “โปร่งฟ้า” ซึ่งเคยเป็นที่ฮือฮากันว่า ใช้ในการอดบุหรี่ได้อย่างดี หากเกิดอาการอยากสูบบุหรี่มาก ๆ ให้นำใบสด 1 ใบ มาเคี้ยวให้แหลกแล้วกลืนลงไป พอไปสูบบุหรี่จะรู้สึกผะอืดผะอม อยากอาเจียน ทำให้อาการอยากสูบบุหรี่ลดลง จนทำให้มีกำลังใจเลิกบุหรี่ในที่สุด
โปร่งฟ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Murraya siamensis Craib เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีชื่อท้องถิ่น เช่น โปร่งฟ้า (ปราจีนบุรี) ลอดฟ้า (ภาคกลาง นครราชสีมา) และมีชื่อสามัญว่า Andaman satinwood ใบมีรสหอมเผ็ดร้อนและซ่า ในการใช้เป็นยาสมุนไพรกล่าวถึง ใบ ใช้ต้มดื่มหรือกินสด แก้ไอเจ็บคอเนื่องจากไข้หวัด ไอ หอบ หืด ไอจากการแพ้ฝุ่นละอองเกสรหรือแพ้อากาศ ราก ใช้ต้มดื่มเพื่อปรับธาตุในร่างกาย แก้อาการไข้หวัดเรื้อรัง แก้ไอได้เหมือนใช้ใบ และอาการไอเนื่องจากวัณโรคได้อย่างรวดเร็ว บำรุงความจำ บำรุงหัวใจ รากยังใช้เป็นยาภายนอกตำทาแก้คัน พอก ประคบ และนำมาเป็นสมุนไพรอบเพื่อกระจายเลือดลมให้เดินสะดวก แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต แก้ท้องอืด ขับลม
หมอเขมรใช้รากฝนกับน้ำซาวข้าวรักษาพิษงู ใช้พอกบริเวณที่งูขบกัด โดยต้องใช้วิธีกินร่วมด้วย จากงานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า ใบโปร่งฟ้ามีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ได้หลายชนิด และเป็นสมุนไพรที่ทางเภสัชกรรมแนะนำให้ใช้สำหรับเลิกบุหรี่ โดยการเคี้ยวใบสด 1-2 ใบเมื่ออยากสูบบุหรี่ และชาวบ้านที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบทอดกันมานั้น มักใช้ใบสดเคี้ยวแก้หวัด ไข้
แต่ในเอกสารบางแห่งใช้ชื่อท้องถิ่นของโปร่งฟ้าว่า ส่องฟ้า (อีสาน) หวดหม่อนต้น (ลำปาง) หัสคุณดง (โคราช) ลอดฟ้า (หล่มสัก) เลยทำให้เกิดความเข้าใจผิดและกล่าวอ้างกันอย่างสับสนกับ “ส่องฟ้า” หรือ “ส่องฟ้าดง” ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clausena harmandiana (Pierre) Guillaumin มีชื่อท้องถิ่นต่าง ๆ ว่า โปร่งฟ้า (ทั่วไป) ส่องฟ้า (อุดรธานี) สมุยหอม (นครศรีธรรมราช) ส่องฟ้าดง (เลย) เหม็น (จันทบุรี) ควรมาทำความเข้าใจว่าทั้งโปร่งฟ้าและส่องฟ้า จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (Rutaceae) เหมือนกัน
สำหรับ ส่องฟ้าดง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงไม่เกินเข่า มีอายุได้หลายปี ในขณะที่ โปร่งฟ้า เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ส่องฟ้าหรือส่องฟ้าดง มีทรงต้นตั้งตรง สูง 20-50 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียวแกมน้ำตาลเข้ม ไร้ขน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ปลายใบแหลม สีเขียวเข้ม ผิวใบมัน ใบจะหนากว่าโปร่งฟ้า มีจุดน้ำมันกระจายและจุดโปร่งใส สามารถส่องทะลุไปอีกด้านได้เหมือนโปร่งฟ้า ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อยห่าง ดอกช่อแบบช่อแยกแขนง เกิดที่ปลายยอด กลีบดอกสีขาวแกมเหลืองแกมเขียวอ่อน ผลสดรูปกลมรี ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่มีสีแดงหรือแดงอมส้ม ผลแก่ค่อนข้างฉ่ำน้ำและมีเมล็ดเดียว
ในตำรายาไทยมีการใช้ ส่องฟ้า เช่น รากส่องฟ้าฝนรวมกับรากหมี่ (Litsea glutinosa (Lour.) C.B.Rob.) ทาแก้ฝี นำรากต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ปวดศีรษะ แก้ผิดสำแดง รากส่องฟ้าผสมกับรากเจตพังคี (Cladogynos orientalis Zipp.) ต้มน้ำดื่ม แก้จุกเสียด และรากส่องฟ้าผสมกับรากหนามงัวซัง (Capparis sepiaria L.) และเหง้าว่านน้ำ (Acorus calamus L.) ปริมาณเท่ากัน ต้มน้ำดื่ม แก้หลอดลมอักเสบ เป็นต้น
นอกจานี้มีตำรายาของหมอพื้นบ้าน ปรีชา พิณทอง ซึ่งเป็นตำราพื้นเมืองอีสาน กล่าวไว้ว่าส่องฟ้าใช้เป็นยารักษาอาการต่าง ๆ ได้ไม่น้อยกว่า 10 ตำรับ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นไข้หมากไม้ ออกตุ่มได้ 5 วัน ให้ดับพิษตุ่มด้วยยาประกอบด้วย ฮากพุด (รากพุด Tabernaemontana bufalina Lour.) ฮากส่องฟ้า (รากส่องฟ้า Clausena harmandiana (Pierre) Guillaumin) ฝนใส่น้ำเหล้าเด็ด กินและทา ดีแล แต่ถ้าเป็นไข้หมากไม้น้อย (อาการคล้ายหัด) ให้เอา ฮากส่องฟ้า (Clausena harmandiana (Pierre) Guillaumin) ฝนกับเหล้ากิน
ยาแก้ฝีลม ให้เอา ฮากส่องฟ้า (Clausena harmandiana (Pierre) Guillaumin) ฮากชะมัด (Clausena excavata Burm.f.) ฮากพังคีน้อย (Croton crassifolius Geiseler) แก่นไม้ไต้ (Pinus merkusii Jungh. & de Vriese) แก่นปะดงเลือด (Knema cinerea var. glauca (Blume) Y.H. Li) แก่นเปือยเลือด (Terminalia mucronata Craib & Hutch.) ฝนกิน ถ้าเป็น ยาแก้คะยือ (หอบ หืด) ให้เอา ฮากส่องฟ้า (Clausena harmandiana (Pierre) Guillaumin) ฮากต้างไก่ (Leea indica (Burm. f.) Merr.) ฮากชะมัดผู้ (Micromelum minutum Wight & Arn.) ฮากต้างไก่แม่ (Lee sp.) ฮากเขืองน้อย (Smilax ovalifolia Roxb. ex D.Don) ฮากเขืองใหญ่ (Smilax perfoliata Lour.) ต้มกิน
ยาแก้ปวดหัว ฮากกาสัก (Leea macrophylla Roxb. ex Hornem.) ฮากชมชื่น (Glycosmis pentaphylla (Retz.) DC.) ฮากชะมัด (Clausena excavata Burm.f.) ฮากส่องฟ้า (Clausena harmandiana (Pierre) Guillaumin) ฝนด้วยน้ำเหล้าหรือน้ำหม้อนึ่ง ทา (ปวดหัวที่มีอาการร้อน) ถ้าตกเลือดหลังคลอด ใช้ ฮากส่องฟ้า (Clausena harmandiana (Pierre) Guillaumin) เปลือกแคแดง (Sesbania grandiflora (L.) Pers.) ผักอิตู่ไทย (Ocimum tenuiflorum L.) หัวข่า (Alpinia galanga (L.) Willd.) หญ้าแห้วหมู (Cyperus rotundus L.) กระเทียม (Allium sativum L.) โคกกระสุน (Tribulus terrestris L.) เอาส่วนเท่ากัน ต้มกิน
โปร่งฟ้า เป็นสมุนไพรขึ้นตามป่าโปร่งที่แห้งแล้งหรือป่าละเมาะทั่วไป แต่ปัจจุบันหลงเหลือในธรรมชาติน้อยมาก สำหรับส่องฟ้ายังมีเหลือตามธรรมชาติพอสมควร แต่ก็ไม่มาก ทั้ง โปร่งฟ้าและส่องฟ้า เป็นสมุนไพรที่ควรส่งเสริมปลูกและใช้อย่างยิ่ง ก่อนที่จะหามาทำยายาก !