ผศ.ดร.สุรชัย กังวล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร หรือแม่โจ้โพลล์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร โดย”แม่โจ้โพลล์” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน 86 ราย ในหัวข้อเรื่อง “เกษตรอินทรีย์ ในมุมมองปราชญ์ชาวบ้าน” ระหว่างวันที่ 18 ก.พ. – 18 มี.ค. 2556 จากการสอบถามปราชญ์ชาวบ้านถึงจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์อยู่ในพื้นที่ พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 17 ราย โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.6 มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.5 มีจำนวนที่ลดลง และเมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้เกษตรอินทรีย์ยังไม่เป็นที่สนใจและแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรนั้น อันดับที่ 1 ร้อยละ 80.2 บอกขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐอย่างถูกต้องและจริงจัง อันดับที่ 2 ร้อยละ 75.6 บอกเกษตรกรขาดความรู้เรื่องหลักการทำเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้อง และอันดับที่ 3 ร้อยละ 33.7 บอกมีความเสี่ยงจากความเสียหายของผลผลิตสูง
สอบถามถึงข้อดีและข้อได้เปรียบของการทำเกษตรอินทรีย์ นั้นพบว่า อันดับที่ 1 ร้อยละ 97.7 บอกไม่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค อันดับที่ 2 ร้อยละ 91.9 บอกไม่ทำลายระบบนิเวศทางธรรมชาติ และอันดับ 3 ร้อยละ 77.9 บอกมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำเพราะไม่ต้องซื้อสารเคมี และเมื่อถามถึงเกษตรอินทรีย์จะสามารถเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรในอนาคต นั้นพบว่า ร้อยละ 97.7 ให้ความเห็นว่าสามารถเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรได้ และมีเพียงร้อยละ 2.3 เท่านั้นที่ให้ความเห็นว่าไม่สามารถเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรได้
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะให้ประเทศไทยเป็น ครัวอาหารปลอดภัยของโลก นั้นพบว่า ร้อยละ 76.7 บอกสามารถเป็นครัวอาหารปลอดภัยของโลกได้ โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันประชาชนตระหนักเรื่องสุขภาพและต้องการอาหารปลอดภัยมากขึ้น ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการทำเกษตรอินทรีย์ และร้อยละ 23.3 บอกไม่สามารถเป็นครัวอาหารปลอดภัยของโลกได้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีนโยบายที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังทำเกษตรแบบเคมี เนื่องจากสารเคมีหาซื้อได้ง่ายและได้ผลเร็ว เกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ยังขาดความรู้ในด้านการผลิตที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน
เมื่อสอบถามถึงความต้องการให้ทางภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือนั้นพบว่า อันดับที่ 1 ร้อยละ 51.8 ต้องการให้มีการอบรมให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรแบบอินทรีย์อย่างถูกต้อง รวมถึงความรู้เรื่องโทษของเกษตรเคมี อันดับที่ 2 ร้อยละ 21.7 ต้องการให้มีนโยบายที่สนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง อันดับที่ 3 ร้อยละ 14.5 ต้องการให้การส่งเสริมแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ภายในชุมชน เช่น แปลงสาธิต ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ อันดับที่ 4 ร้อยละ 8.4 อยากให้มีการควบคุมการใช้สารเคมีของเกษตรกรและการนำเข้าสารเคมี และอันดับที่ 5 ร้อยละ 3.6 อยากให้มีการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา
ผศ.ดร.สุรชัย กล่าวว่า อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เกษตรกรมีการใช้สารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อสภาพดิน ระบบนิเวศทางธรรมชาติ รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการทำเกษตรแบบอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีและไม่เป็นอันตราย จึงได้กำหนดวาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แทนเกษตรเคมี
เนื่องจากปัจจุบันกระแสการดูแลสุขภาพของประชาชนในเรื่องการเลือกอาหารที่ปลอดภัยมีมากขึ้น เป็นโอกาสให้ตลาดเกษตรอินทรีย์มีการขยายตัวแต่ในขณะเดียวกันตรงกันข้ามการทำเกษตรอินทรีย์ที่ยังไม่เป็นที่สนใจและแพร่หลายของกลุ่มเกษตรกรในประเทศไทย เพราะขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ รวมถึงเกษตรกรยังขาดความเรื่องรู้หลักการทำเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้องจึงทำให้ได้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือและเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเพราะการทำเกษตรอินทรีย์ยังไม่เป็นที่นิยมของเกษตรกรมากนัก
ที่มา : นสพ.คมชัดลึก