คุณๆ คะ รู้จัก “แม่ซื้อ” มั้ยคะ? หรือ ทำไมเด็กแรกเกิดเราต้องชมว่า หน้าตาน่าเกลียดน่าชัง ห้ามบอกว่าน่ารัก?
โพสต์นี้แอดมินจะพาไปรู้จักเรื่องของ “แม่ซื้อ” และที่มาของของคำชมเด็กที่แอดมินไม่เข้าใจมาตั้งแต่เด็กๆ
วันนี้เราจะเข้าใจเรื่องราวไปพร้อมๆ กัน
“แม่ซื้อ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “แม่ซื้อ เทวดาหรือผีที่ประจำทารก”หรือเรียกว่า แม่วี
นอกจากนั้นยังหมายถึงหญิงที่รับเป็นแม่ซื้อที่ซื้อเด็กจากหมอตำแยตามประเพณีด้วย
คนโบราณเชื่อว่ามนุษย์ที่จะเกิดมานั้น ผีจะปั้นหุ่นขึ้นมาก่อนแล้วจึงหาวิญญาณมาใส่ จากนั้นส่งมาให้เกิดในครรภ์สตรี
ในอดีตการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า เด็กแรกเกิดอาจจะรอดหรือตายก็ได้ เด็กที่จะตายอาจจะตายหลังจากเกิดแล้ว 3-7วัน
เชื่อกันว่าเป็นเพราะแม่ผีที่ปั้นหุ่นนั้นเห็นว่าเด็กน่ารัก จึงทำให้เด็กตายเพื่อที่จะนำเด็กไปเลี้ยงดูเอง
ถ้าผีไม่ชอบใจก็จะปล่อยให้มนุษย์เลี้ยงเอง
จึงต้องมีวิธีหลอกล่อไม่ให้แม่ผีเอาเด็กกลับไปเลี้ยงเอง เช่น ชมเด็กด้วยคำว่า “น่าเกลียดน่าชัง” “เป็นตาซังเนาะ” (ภาษาอีสาน)
หรือตั้งชื่อเด็กให้น่าเกลียด เช่น อึ่ง อ่าง หมู หมา
หรือเมื่อแม่คลอดลูกแล้วจะทำเป็นว่าไม่รับเด็ก หลอกผีว่าแม่ของเด็กเองยังเกลียด หมอตำแยจะอุ้มเด็กใส่กระด้งแล้วร่อนเบาๆ พร้อมกับพูดว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครรับไปเน้อ” ทำแบบนี้ก็คือพิธีนอนกระด้งของเด็กแรกเกิด
ให้ผู้หญิงที่นั่งอยู่ในที่นั้น ที่เลี้ยงลูกเก่ง ใจดี จะเป็นผู้รับซื้อเด็ก เรียกว่า “แม่ซื้อ” โดยผู้หญิงคนที่เป็นแม่ซื้อให้เงินแก่หมอตำแยพอเป็นพิธี บางครั้งหมอตำแยก็ทำหน้าที่เป็นแม่ซื้อเองก็ได้
เมื่อเด็กเจ็บป่วย ตัวร้อน นอนผวา ก็ว่าแม่ซื้อที่เป็นผีมารบกวนมารังควาน จะต้องทำพิธีทิ้งข้าวหรือขว้างข้าวให้แม่ซื้อกินจะได้ไม่มารบกวนเด็กอีก
คนโบราณยังเชื่อว่า “แม่ซื้อ” จะคอยช่วยคุ้มครองเด็กเมื่อหกล้ม หรือตกบันได หรือจะเกิดอันตรายต่างๆ โดยแม่ซื้อจะรับอันตรายนั้นๆ ไว้เอง …ถ้าคอยปกป้องเด็ก เราจะเรียกว่า เทพพิทักษ์เด็ก
“แม่ซื้อ” เป็นความเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาต้องมีแม่ซื้อประจำวันเกิดคอยดูแล เพื่อพิทักษ์รักษาไม่ให้เด็กเจ็บไข้ได้ป่วย แม่ซื้อ คือ ผีที่ชอบมาคอยหยอกล้อเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกกลัว หลอน ร้องไห้โยเยบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
แต่แพทย์แผนปัจจุบันให้เหตุผลว่า…
หากเด็กร้องไห้ไม่หยุด หรือมีลักษณะดังกล่าว แพทย์อาจสันนิษฐานว่า เป็นโรคโคลิค(Colic) ซึ่งเป็นกับเด็กๆ โดยอาจเกิดขึ้นได้จาก เช่น แก๊สในท้องมากไป ท้องอืด เด็กปวดท้อง ไม่สบายตัว ป้อนนมมากหรือน้อยเกินไป หรือมีการระคายเคืองของระบบประสาท เป็นต้น
เรื่องของ “แม่ซื้อ” ยังมีหลักฐานปรากฏเป็นจารึกและภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ ศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ด้านทิศใต้ของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ ที่เรียกกันว่า “ศาลาแม่ซื้อ” ที่กล่าวถึง แม่ซื้อประจำวันเกิด โรคแม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิด พิธีกรรม และยารักษาโรคแม่ซื้อทั้ง 7 วัน โดยแม่ซื้อแต่ละนางก็จะมีนาม รูปลักษณ์ และที่สถิตแตกต่างกัน ซึ่งสมัยก่อนนิยมเขียนภาพแม่ซื้อลงในแผ่นผ้าขาว ลักษณะคล้ายยันต์เพื่อแขวนไว้ที่เปลเด็ก โดยเขียนด้วยยางมะเดื่อ แล้วระบายสีแม่ซื้อตามสีอาภรณ์และสีกายของแม่ซื้อประจำวันนั้นๆ ส่วนด้านหลังผ้าขาวนี้ จะลงภาพท้าวเวสสุวัณ ทั้งหน้ายักษ์และหน้ามนุษย์ไว้ด้วย เพราะเชื่อว่าจะช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเด็กได้ เนื่องจากพระองค์เป็นอธิบดีแห่งอสูร หรือเจ้าแห่งภูตผีปีศาจทั้งหลาย
ใครไปวัดโพธิ์ลองแวะไปที่ศาลาแม่ซื้อก็ได้นะคะ … อาจจะรู้จักแม่ซื้อมากขึ้น
ปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก ผู้หญิงเริ่มตั้งครรภ์จะไปฝากท้องกับหมอ ไม่ค่อยมีใครคลอดลูกกับหมอตำแย
และ เรื่องของแม่ซื้อค่อยๆ จางหายไป ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครพูดถึงเรื่องของ “แม่ซื้อ”
#มูลนิธิสุขภาพไทย #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน #คนท้อง #สมุนไพรไทย #อยู่ไฟ #หมอตำแย #อยู่ไฟไทบ้าน
#หมอพื้นบ้าน #ภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสาน #สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.
#อบสมุนไพร #อยู่ไฟเย็น #อยู่ไฟร้อน #การดูแลเด็กอ่อน #การสู่ขวัญ #แม่ซื้อ
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์วัดโพธิ์ https://www.watpho.com/th#Page1