รายงานพิเศษ นสพ.คมชัดลึก
วงการแพทย์ทั่วโลกเร่งวิจัยสืบค้นการแพร่กระจายของ“เอ็มซีอาร์–1” ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ หลังพบยีนตัวนี้แพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ และจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้ในจีนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ต้นตอมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูและไก่ที่ใช้ยาโคลิสตินเป็นทั้งอาหารและยารักษาโรคท้องร่วง ปัจจุบันมีรายงานพบยีนมหันตภัยนี้แล้วใน 25 ประเทศ รวมถึง “หมูไทย” และ “คนไทย” ที่ตรวจพบยีนตัวนี้ด้วย
ล่าสุด นักวิจัยด้านเชื้อดื้อยากำลังตื่นเต้นกับรายงานชิ้นใหม่จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ในอังกฤษ หลังพบผู้ป่วยร้อยละ 1 มีเชื้อดื้อยาโคลิสติน (colistin) และคาร์บาเพเนม (carbapenems) ทั้งที่ไม่เคยใช้ยาปฏิชีวนะสองชนิดนี้รักษาผู้ป่วยที่นั่นเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังสำรวจพบเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (Escherichia coli) ที่สุ่มจากฟาร์มไก่และเนื้อไก่ในร้านค้า 1 ใน 4 มีเชื้อดื้อยาโคลิสตินและประมาณ 1 ใน 3 มีเชื้อดื้อยาคาร์บาเพเนม
แต่ที่สร้างความกังวัลใจคือ การพบพาหะที่นำเชื้อดื้อยาทั้ง 2 ชนิดไปแพร่ระบาดคือ “แมลงวัน” แถมยังพาดพิงถึงประเทศไทยว่า เมื่อจีนกลัวยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ “เอ็มซีอาร์–1” ที่อาจเกิดจากการใช้ยาโคลิสตินในจีนปีละ กว่า 8,000 ตัน เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา รัฐบาลสั่งห้ามใช้เป็นยาตัวนี้ผสมในอาหารเพื่อเร่งโต หรือเพื่อป้องกันโรคในฟาร์มสุกรและฟาร์มไก่ มีการวิเคราะห์ว่าบรรดาผู้ผลิตยาเหล่านี้ อาจเปลี่ยนเป้าหมายตลาดเร่งการส่งออกมายัง “ประเทศไทย” และเวียดนามแทน
“เอ็มซีอาร์–1” (MCR-1) เป็นยีนสายพันธุ์ใหม่ มีฤทธิ์สามารถแพร่ไปยังแบคทีเรียตัวอื่นในร่างกายได้ สาเหตุที่แพทย์กลัว เนื่องจากยีนตัวนี้เกิดจาก “การดื้อยาโคลิสติน” ยาตัวนี้มีประสิทธิภาพสูงในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด เช่น ปาก ลำไส้ ผิวหนัง แต่ผลข้างเคียงมีมากและค่อนข้างอันตราย ทำให้เกิดพิษในตับและไต ดังนั้นยาโคลิสตินถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ เฉพาะคนไข้มีเชื้อดื้อยาและไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะตัวอื่นได้ผลแล้วเท่านั้น
หมอจะใช้ยาโคลิสตินจัดการ “ซูเปอร์บั๊ก” (Superbug) หรือเชื้อโรคที่รุนแรงและแข็งแรง ปกติเชื้อโรคมีชื่อเล่นสั้นๆ ว่า “บั๊ก” ถ้าเป็นซูเปอร์บั๊กหมายถึงเชื้อที่รุนแรงกว่าปกติ โดยเฉพาะการใช้สำหรับคนไข้ติดเชื้อดื้อยาที่เกาะติดอยู่ตามเครื่องมือแพทย์ เช่น เชื้อดื้อยา “อซีเนโตแบคเตอร์ บอมมานิไอ” (Acinetobacter baumannii) หรือ “เอบอม” (A-bomb) พบบ่อยในท่อช่วยหายใจ สายสวน ฯลฯ เนื่องจากในโรงพยาบาลมีเชื้อโรคอาศัยอยู่จำนวนมากมายหลายชนิด เชื้อโรคเหล่านี้จึงพัฒนาตัวเองให้ดื้อยาได้หลายขนาน เพราะที่ผ่านมาโอกาสรอดก็มีเพียงแค่ร้อยละ 50 เท่านั้น ในประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณวันละ 100 ราย หรือปีละเกือบ 4 หมื่นราย
ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” สำรวจพบฟาร์มหมูหลายจังหวัดใช้ “ยาโคลิสติน” ผสมในอาหารหมูกินเป็นประจำ โดยไม่คำนึงถึงปัญหาการดื้อยา และยังพบฟาร์มหมูจำนวนมากไม่ได้ใช้แค่ยาโคลิสตินถูกกฎหมาย ที่ได้รับการรับรองและควบคุมส่วนผสมจาก “อย.” หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่ยังลักลอบใช้ยาโคลิสตินเถื่อนหรือยาไม่มีทะเบียน
“รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์” ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา ประธานมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค วิเคราะห์ถึงอันตรายของการใช้ยาโคลิสตินอย่างผิดวิธีและผิดกฎหมายในฟาร์มปศุสัตว์ของไทยว่า “ตอนนี้กำลังตื่นเต้นกัน เพราะเพิ่งมีงานวิจัยล่าสุดพบแมลงวันเป็นหนึ่งในพาหะของตัวแพร่เชื้อดื้อยาโคลิสตินไปสู่คน เช่น แมลงวันบินไปเกาะมูลหรือขี้ของไก่ในฟาร์ม หรือเกาะตามเนื้อไก่สด แล้วบินไปเกาะอาหารในจานที่คนกินเข้าไป หรือแมลงวันไปเกาะตามที่ต่างๆ แล้วคนไปสัมผัสและเอามือที่สัมผัสมาแคะจมูกหรือจับอาหารเข้าปาก เชื้อดื้อยาจะเข้าสู่ร่างกาย แม้ว่าจำนวนเชื้อโรคไม่เยอะ แต่เชื้อโรคอาจเข้าไปเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณในร่างกายได้อย่างรวดเร็ว งานวิจัยนี้ทำให้คนไทยต้องระวังมากขึ้น เพราะเราเป็นประเทศเขตร้อน มีแมลงหรือสัตว์หลายชนิดที่เป็นพาหะ เช่น แมลงวัน แมลงสาบ หนู ฯลฯ”
พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อว่า หากฟาร์มหมูไทยใช้ยาโคลิสตินมากเกินความจำเป็นอาจกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยเฉพาะการใช้ยาโคลิสตินเถื่อน เนื่องจากยาไม่มีทะเบียนไม่ได้ รับการตรวจสอบตำรับยาจาก อย. อาจมีการใช้ในความเข้มข้นสูง เมื่อยาเข้มข้นมากหรือยาแรงมาก เชื้อโรคที่ดื้อยาก็จะดื้อยามากขึ้นด้วย
ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวต่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ต้องรีบออกมาตรการควบคุมการใช้หรือห้ามใช้ยาโคลิสตินในการป้องกันโรคในปศุสัตว์ ให้ใช้ได้เฉพาะการรักษาโรคโดยการแนะนำของสัตวแพทย์เท่านั้น และกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องรีบออกสำรวจวิจัยว่ามีแมลงหรือสัตว์อะไรบ้างที่อาจเป็นพาหะในการแพร่เชื้อแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาโคลิสติน เอ็มซีอาร์-1 จากฟาร์มหมูได้
“เพราะถ้านักวิจัยต่างประเทศพบแล้ว หมายความว่า ประเทศไทยก็อาจพบด้วย เพราะฉะนั้นการประชาสัมพันธ์จากบริษัทขายหมูขายไก่ที่พูดซ้ำๆ ว่า กินเนื้อสัตว์ปลอดภัยถ้าทำสุก แต่ปัญหาคือการแพร่เชื้อไม่ได้มาจากการกินเนื้อหมูเท่านั้น แต่มาจากสิ่งแวดล้อม ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันรับมือหามาตรการป้องกันยาโคลิสตินเถื่อน และให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง” รศ.ดร.จันทร์เพ็ญแนะนำ
“กรมปศุสัตว์” ตระหนักถึงปัญหานี้มานาน ล่าสุดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงนามคำสั่ง เรื่อง “การควบคุมการใช้ยา Colistin ในฟาร์ม” ส่งตรงถึง “นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย” ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 800 คน โดยออกคำสั่งเข้ม 5 ข้อ ได้แก่
1.ห้ามสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสั่งหรือใช้ยาโคลิสตินผสมอาหารหรือละลายน้ำให้สัตว์กินเพื่อป้องกันโรคอย่างเด็ดขาด
2.ยาโคลิสตินใช้ได้ต่อเมื่อไม่มียาปฏิชีวนะชนิดอื่นใช้ได้ผล
3.ให้รายงานการใช้ยาโคลิสตินแก่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด
4.ให้เก็บตัวอย่างอาหารสัตว์ส่งตรวจเพื่อพิสูจน์เป็นระยะ
และข้อที่สำคัญคือ 5.หากตรวจสอบพบการใช้ยาโคลิสตินจะพิจารณาสถานะของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม
“นสพ.สรวิศ ธานีโต” ยืนยันว่า หนังสือคำสั่งนี้ไม่ใช่แค่ขอความร่วมมือเหมือนที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เอาจริงถ้ามีหลักฐานว่าสัตวแพทย์คนไหนไม่ทำตามจะโดนลงโทษพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเลี้ยงสัตว์หากสืบสวนแล้วพบว่าใครมีเกี่ยวข้องกับการใช้ยาเถื่อนหรือยาปลอมอาจถึงขั้นถอนเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์
เมื่อกรมปศุสัตว์ ที่ขึ้นตรงกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเอาจริงในการจัดระเบียบการใช้ยาอันตรายตัวนี้ ตอนนี้คงต้องรอ “กระทรวงสาธารณสุข” จะประกาศเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” ห้ามซื้อขายทั่วไปหรือไม่ เพราะปัจจุบันยาตัวนี้สามารถหาซื้อได้เสรีอย่างถูกกฎหมายผ่านเซลส์ขายยาหรือร้านจำหน่ายอาหารและยาสัตว์ทั่วไป
ทั่วโลกตระหนักดีว่า หากปล่อยให้เชื้อดื้อยา “โคลิสติน” แพร่ระบาด จนไม่สามารถนำไปรักษาคนไข้ได้อีกต่อไปแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตจาก “ซูเปอร์บั๊ก” อาจเพิ่มขึ้นจนหมอเองแทบไม่กล้าวิเคราะห์ล่วงหน้า!
“แมลงวัน” พาหะแพร่เชื้อดื้อยาจากฟาร์มสู่มนุษย์
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 เว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ www.newscientist.com ได้ตีพิมพ์บทความ เรื่อง “Flies are spreading antibiotic resistance from farms to people” เกี่ยวกับงานวิจัยใหม่ล่าสุดที่พบว่า “แมลงวัน” เป็นพาหะแพร่นำเชื้อดื้อยาจากฟาร์มปศุสัตว์สู่มนุษย์ได้ด้วย โดยสรุปเนื้อหาจากบทความได้ดังนี้
ผลศึกษาเกี่ยวกับการดื้อยาคาร์บาเพเนม (carbapenems) และโคลิสติน (colistin) ในหลายภูมิภาคของจีนโดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์สหราชอาณาจักร พบว่าปัญหาดื้อยาโคลิสตินในผู้ป่วยโรงพยาบาลในสองเมืองใหญ่ราวร้อยละ 1 ทั้งที่ไม่เคยมีการใช้ยาปฏิชีวนะสองชนิดนี้รักษาผู้ป่วยที่นั่นเลย ขณะผลการศึกษาเกี่ยวเนื่องอีกชิ้น โดยทีมวิจัยชุดเดียวกันพบเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (Escherichia coli) ที่สุ่มจากฟาร์มไก่และเนื้อไก่ในร้านขายของชำราว 1 ใน 3 ดื้อยาคาร์บาเพเนม และ 1 ใน 4 ยังต้านยาโคลิสติน
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบเชื้อแบคทีเรียที่ต้านยาปฏิชีวนะทั้งสองชนิดอัตราสูงในมูลสุนัขจากฟาร์มไก่และในแมลงวันในฟาร์มเหล่านั้นอีกด้วยเป็นการค้นพบครั้งแรกที่บ่งชี้ว่า แมลงวันอาจเป็นพาหะแพร่แบคทีเรียดื้อยาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทีมวิจัยสรุปว่า ศักยภาพในการทำสภาพแวดล้อมปนเปื้อนของแมลงวันเพิ่มความวิตกด้านสาธารณสุขอย่างมากและอาจเป็นเหตุผลอธิบายว่า เหตุใดผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกลจากฟาร์มจึงมีความเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นในฤดูร้อน เพราะในฤดูร้อนแมลงวันจะเป็นพาหะแบคทีเรียไปทุกหนแห่ง
เมื่อทีมวิจัยเรียงลำดับพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ตรวจพบจากฟาร์มไก่เกือบทั้งหมดมียีนเอ็มซีอาร์-1 แต่เชื้อสามารถแสดงคุณลักษณะดื้อยาโคลิสตินประมาณครึ่งเดียวเท่านั้น จึงหมายความว่า หากใช้วิธีตรวจสอบโดยวิธีมาตรฐานทั่วไปที่ใช้ทดสอบความไวของเชื้อต่อยาจะพบเชื้อดื้อยาน้อยกว่าการตรวจหายีนดื้อยา
ผลศึกษาพบอีกว่า เชื้อแบคทีเรียเกือบทั้งหมดที่สุ่มจากฟาร์มไก่มียีน “เอ็มซีอาร์–1” อยู่ แม้มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ดื้อยาโคลิสติน แต่สะท้อนว่าผลตรวจสอบแบบมาตรฐานยังประเมินความเสี่ยงการดื้อยาปฏิชีวนะต่ำเกินไปทีมวิจัยสรุปว่า จากลำดับพันธุกรรมของแบคทีเรียจากฟาร์มไก่ โรงฆ่าสัตว์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และคน มีความคล้ายคลึงกันมากจนเชื่อว่ามีการดื้อยาคาร์บาเพเนมและโคลิสติน