ต้นแพรเซี่ยงไฮ้เป็นไม้ประดับยอดนิยมชนิดหนึ่ง มีหลากสีสวยงาม และยังเป็นไม้อวบน้ำที่ทนแดดได้ดี แพรเซี่ยงไฮ้สายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่ในอเมริกาใต้ ไม่มีบันทึกไว้แน่ชัดว่าเข้ามาเมืองไทยเมื่อใด คาดว่าคงไม่เกิน 200 ปี สายพันธุ์ดั้งเดิมที่เข้ามาในประเทศไทยมีเพียงสีเดียวคือชมพูอมม่วงเข้ม ซึ่งเป็นสีที่เหมือนกับผ้าแพรที่นำเข้ามาจากเซี่ยงไฮ้ จึงได้ชื่อว่า “แพรเซี่ยงไฮ้”
สายพันธุ์ที่นำมาเข้าในระยะเริ่มแรกดอกมีกลีบดอกหลายชั้น ในหนังสือ “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์” กล่าวไว้ว่า แพรเซี่ยงไฮ้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Portulaca grandiflora Hook. มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Japanese rose, Moss-rose, หรือ Portulaca rose มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ในประเทศไทยว่า ดอกผักเบี้ย แดงสวรรค์ ผักเบี้ยฝรั่ง แพรเซี่ยงไฮ้ (กรุงเทพฯ) แพรเซี่ยงไฮ้มีลำต้นและใบอวบน้ำ ใบเป็นแท่งรูปเข็มยาวประมาณ 1 นิ้ว สีเขียวอ่อนเป็นมัน ต้นแตกกิ่งได้ดีและมีกิ่งเลื่อยคลุมดิน จึงปลูกเป็นไม้คลุมดินได้ดีมากหรือจะปลูกเป็นไม้ในกระถางแขวนก็ได้ ดอกออกที่ปลายกิ่งลักษณะคล้ายกุหลาบดอกเล็กๆ ขนาด 1 – 2.5 นิ้วแล้วแต่พันธุ์ กลีบดอกบาง มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อนสารพัดสี
ในเมืองไทยส่วนใหญ่ดอกมีกลีบหลายชั้น และที่มีสีสันมากมายในช่วงหลังเพราะนำเอาเมล็ดไปฉายรังสี ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ แล้วทำการคัดเลือกสายพันธุ์จนได้ออกมาหลากหลายสี นอกจากนี้ยังมีการนำมาผสมข้ามพันธุ์กับต้นผักเบี้ยใหญ่หรือคุณนายตื่นสาย ชนิด P. oleracea, P. umbraticola และ P. villosa ทำให้ได้ไม้ประดับหลากหลายสายพันธุ์อีกด้วย คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดมักเรียกแพรเซี่งไฮ้ว่า คุณนายตื่นสาย ดอกคุณนายตื่นสายและแพรเซี้ยงไฮ้มีความแตกต่างกันตรงที่ ดอกคุณนายตื่นสายจะเป็นดอกชั้นเดียว และมีใบทรงแบน แต่แพรเซี่ยงไฮ้จะมีใบเรียวแบบเข็มและจะมีดอกสองชั้นขึ้นไป
ในอเมริกาใต้ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแพรเซี่ยงไฮ้ รายงานว่ามีการนำส่วนของไปไปประกอบอาหาร กินได้ทั้งในรูปแบบดิบและปรุงสุก เช่นเดียวกับส่วนของเมล็ดที่กินได้ทั้งดิบและสุก ส่วนใหญ่นำมาบดให้เป็นผงปรุงเป็นซุป หรือนำเมล็ดทั้งเมล็ดผสมกับธัญพืชหรือซีเรียลกินเป็นอาหารด้วย แต่เมล็ดมีขนาดเล็กมากทำให้ไม่ค่อยเหมาะในการนำมาใช้ ส่วนของรากต้องนำมาปรุงให้สุกจึงจะนำมารับประทานได้ หมอพื้นบ้านในอเมริกาใต้นำทั้งต้นมาใช้ในการล้างพิษออกจากร่างกาย ใช้รักษาโรคตับอักเสบ ตับแข็ง มีอาการท้องมาน บวม และปวดบริเวณคอหอย น้ำคั้นสดจากใบและลำต้นนำมาทาภายนอกเป็นโลชั่น รักษางูกัดและแมลงกัดต่อย แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และแผลเปื่อย
สมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับแพรเซี่งไฮ้ คือ สารพัดพิษ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Portulaca pilosa L. ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Kiss Me Quick หรือ Chisme เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดใน เกาะฮาวาย และในบริเวณเขตร้อนของอเมริกาตอนกลางและตอนใต้ มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศจีน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทยและเวียดนาม ในภาคอีสานเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ว่านจอด” มีความหมายว่าเป็นว่านที่นำใช้รักษาบาดแผลให้ผิวหนังเชื่อมติดกัน สารพัดพิษเป็นไม้ล้มลุก อายุปีเดียว อวบน้ำ ทอดนอน ตั้งขึ้น มีขนอุยสีขาวหนา มีข้อชัดเจน ใบ เดี่ยว ออกสลับ รูปแถบหรือรูปหอก ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อแบบกระจุก ออกที่ปลายยอด กลีบดอก 5 กลีบ สีชมพู รูปไข่กลับ ปลายติ่ง ผลแห้งแตก แตกแบบฝาเปิด เมล็ดเป็นรูปไต เมื่อแก่สีดำ ผิวขรุขระ สมุนไพรชนิดนี้พบได้ตามทางเดินทั่วไป ในภาคอีสานมักพบเห็นบริเวณที่เป็นกรวด หิน ลำต้นมีขนาดเล็ก ทุกส่วนมีสีแดงหม่น ความรู้พื้นบ้านทั่วไปของคนอีสานใช้ขยี้พอกบนแผล ในประเทศบราซิลสารพัดพิษใช้เป็นยาแผนโบราณ ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาลดไข้ และยาแก้ปวด
ในตำรายาจีนมีการใช้ทั้งแพรเซี่ยงไฮ้และสารพัดพิษ ซึ่งระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า แพรเซี่ยงไฮ้ใช้เป็นสมุนไพรลดร้อนและขับพิษออกจากร่างกาย รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน เส้นเลือดขอด อาการบวมและเจ็บคอเนื่องจากมีหนองในคอ รักษาโรคผิวหนังอักเสบ รักษาแผลไฟไหม้ หยุดเลือดที่เกิดจากการบาดเจ็บภายนอก ส่วนสารพัดพิษในตำรายาจีนมีข้อบ่งใช้คือ ลดความร้อนในร่างกาย ขจัดความชื้นที่เกินออกจากร่างกาย ขับพิษ ดับความร้อนชื้นในร่างกายที่เกิดจากอาการท้องเสียเนื่องจากติดเชื้อบิด ลดอาการเจ็บปวดที่เกิดจากฝีหนอง
จากการศึกษาในหนูพบว่าสารสกัดจากผลสารพัดพิษมีผลต่อไต กล่าวคือทำให้เกิดการขับโพแทสเซียมเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของการขับโซเดียม และจากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ในอเมริกาใต้พบว่าสารสกัดจากสารพัดพิษสามารถลดหรือต้านการอักเสบได้เป็นอย่างดี
แพรเซี่ยงไฮ้และสารพัดพิษใช้เป็นไม้ประดับสวยงามดีแล้ว ยังมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นสมุนไพรเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพได้หลายประการ โดยเฉพาะการต้านการอักเสบได้