นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คนชุดใหม่แทนชุดเก่าที่หมดวาระ เป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และมีมติเสนอตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ได้แก่ ชุดติตตามประเมินผลยุทธศาสตร์ ชุดส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ชุดพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และชุดพิจารณากำหนดราคากลางยา ขณะนี้ปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555 ให้ทันปัญหาสุขภาพและข้อมูลด้านยาที่เปลี่ยนแปลง ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรรวม 805 รายการ กำหนดราคากลางยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรรวม 526 รายการ และจัดทำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของทั้งผู้ขาย ผู้สั่งซื้อ และผู้สั่งใช้ยา เตรียมประกาศใช้เร็วๆนี้
บ่ายวันนี้ (21 กันยายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติครั้งที่ 2/2555 ว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับแผนการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติให้บ่อยครั้งขึ้น จากปีละ 1-2 ครั้ง เป็นปีละ 4 ครั้งหรือทุก 3 เดือน เพื่อสามารถทำงานในเชิงรุกสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัดการแก้ปัญหาด้านยาของประเทศให้เห็นผลรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการสิทธิการรักษาพยาบาล 3 กองทุน เรื่องยาเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยคณะกรรมการที่มีอยู่ก็เป็นไปตามเดิมทุกประการไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ และไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง มติต่าง ๆ จะเป็นมติความเห็นของคณะกรรมการทั้งชุด
สาระการประชุมวันนี้ มีเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่แทนชุดเดิมที่หมดวาระเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 รวม 10 คน โดยนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 212 / 2555 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ประกอบด้วย 1.นายจำรูญ มีขนอน มูลนิธินายแพทย์สมบูรณ์ วัชโรทัย 2.นายยุทธ โพธารามิก สมาคมส่งเสริมการผสมผสานกิจกรรมพัฒนาประชากรและสาธารณสุขไทย 3.ศ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ 4.รศ.ทวี เลาหพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์ทางเลือก 5.รศ.ธีรลักษณ์ สุทธเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทันตกรรม 6.รศ.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเภสัชกรรม 7.รศ.ปานเทพ รัตนากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสัตวแพทย์ 8.ศ.สุชัย เจริญรัตนกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข 9.นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ และ10.นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
และกรรมการที่เป็นผู้แทนจากคณบดีสถาบันอุดมศึกษาอีก 5 คน ได้แก่ 1.ศ.คลินิก อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2.รศ.ธีรลักษณ์ สุทธเสถียร คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 3.รศ.ศิริพร ขัมภลิขิต คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4.รศ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ5.รศ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นายวิทยากล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 4 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลตามนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาแห่งชาติ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นเลขานุการ 2.คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช
พยาบาล เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักยา อย. เป็นเลขานุการ 3.คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ มีศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล เป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักยา อย. เป็นเลขานุการ และ 4.คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยา มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการ ซึ่งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดนี้จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางวิชาการและข้อเสนอทางนโยบายด้านยา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ
เรื่องที่ 3 เสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ได้จัดทำนโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ.2554 แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการ พ.ศ.2555-2559 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ในเรื่องการเข้าถึงยา การใช้ยาอย่างสมเหตุผล การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยา ชีววัตถุ และสมุนไพร เพื่อการพึ่งพาตนเอง และ การพัฒนาระบบการควบคุมยาเพื่อประกันคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของ 2.ทบทวนและจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2555 ใช้ในการรักษาผู้ป่วย ทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีรายการยาทั้งหมด 805 รายการ ประกอบด้วย ยาแผนปัจจุบัน 734 รายการ และยาสมุนไพร 71 รายการ ซึ่งได้ปรับปรุงฉบับที่ 2 จำนวน 52 รายการ และกำลังปรับปรุงอีก 2 ฉบับ อยู่ระหว่างเสนอลงนามในประกาศ เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพ วิทยาการ และข้อมูลยาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและทันสถานการณ์
3.กำหนดราคากลางของยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดซื้อของสถานพยาบาลให้เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ โดยคำนึงถึงคุณภาพยา และส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ รวม 526 รายการ ประกอบด้วย ยาแผนปัจจุบัน 512 รายการ และเพิ่มเติมราคากลางยาแผนไทย 14 รายการ เช่น ขมิ้นชัน ชุมเห็ดเทศ ฟ้าทะลายโจร มะขามแขก อยู่ระหว่างเสนอลงนามในประกาศ
และ4.จัดทำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย และพัฒนารูปแบบการนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บริหาร แพทย์ เภสัชกร ที่เป็นผู้สั่งยา ผู้ใช้ยา บริษัทยาและผู้แทนยา นำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีการสั่งใช้ การสั่งซื้อ หรือการใช้ยา เพื่อประโยชน์ทางการค้า ประกอบด้วยเนื้อหา 7 หมวด ดังนี้ หมวดที่ 1 คำนิยาม หมวดที่ 2 ผู้สั่งใช้ยา หมวดที่ 3 ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจ หมวดที่ 4 เภสัชกร หมวดที่ 5 บริษัทยาและผู้แทนยา หมวดที่ 6 สถานพยาบาล สถานบริการเภสัชกรรมหรือหน่วยงาน หมวดที่ 7 สถานศึกษา คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจออนไลน์