นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตรองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) กล่าวว่า การปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ทั้ง 7 คน โดยให้เหตุผลว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนถือว่าไม่เป็นจริง เพราะ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 18 ว่า ถ้าเป็นกรรมการบริษัทเอกชนหรือบุคคล มาเป็นกรรมการและรับเงินสสส. ถือว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ถ้าเป็นกรรมการสมาคม มูลนิธิสาธารณะประโยชน์ ถือเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว เงินไม่ได้เข้ากระเป๋ากรรมการ ซึ่งที่กฎหมายเขียนเช่นนี้ก็มีเหตุผล เพราะต้องการให้ประเทศไทยมีองค์กรขนาดเล็กที่ทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม นักวิชาการ
“อย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีผู้แทน 2 คน คือ รมว.สาธารณสุข และปลัด สธ. เมื่อรับงบไปก็ไม่ได้เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะทำงานให้กับประชาชน มูลนิธิต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน เงินไม่ได้เป็นของกรรมการ เราไม่มีเงินเดือน ไม่มีเงินปันผล แต่ทำงานเพื่อประชาชน ทำงานเพื่อชุมชน ดังนั้น ต้องถือปฏิบัติในแนวเดียวกัน ถ้าไม่ใช่บริษัทเอกชน แต่ถือประโยชน์สาธารณะ กฎหมายจึงเขียนว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น เราไม่ห้าม แต่ระหว่างที่มีการพิจารณาให้ทุนจะห้ามไม่ให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมอยู่ในห้องประชุม ซึ่งเป็นหลักการสากล ทั่วโลกทำอย่างนี้” นพ.วิชัย กล่าว
นพ.วิชัย กล่าวว่า การปลดในครั้งนี้จะสรุปว่าเป็นการล้ม สสส.ไม่ได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ต่อเนื่องกันมา ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเฉพาะเมื่อกลางปี 2558 ในช่วงท้ายของการเขียนร่างรัฐธรรมนูญมีการปิดห้องเขียน เร่งรัดเขียนเพิ่มมาตราหนึ่งเข้าไปโดยไม่ให้ส่งเงินภาษีร้อยละ 2 มาที่ สสส.โดยตรงอีก ทำให้ สสส.หมดสภาพการทำงาน เท่ากับเป็นการล้ม เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้กฎหมาย สสส.ไปขัดกันเอง แต่มีการต่อรอง ต่อสู้กันจนกระทั่งให้มีบทเฉพาะกาล ให้ สสส.อยู่ได้ 3 ปี ทั้งนี้ การเขียนช่วงนั้นมีบริษัทบุหรี่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคณะร่างรัฐธรรมนูญ มีการร่วมเดินทางไปประเทศพม่ากัน และในที่สุดมีการคัดค้านอย่างกว้างขวาง และมีข่าวรั่วออกมาจนเกิดการต่อต้าน สู้กันจนไม่มีการใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ มีการปรับข้อความให้สสส.ยังดำรงอยู่ได้
“แต่สุดท้ายก็ส่ง คตร. กับ สตง.เข้ามาตรวจเข้ม โดย สสส.ไม่มีโอกาสได้ชี้แจงช่วงตรวจสอบ แต่กลับมีการออกข่าวว่า สสส. ทำผิด 3 เรื่อง คือ ทำนอกกรอบ มีการทุจริต และมีผลประทับซ้อน รวมถึงมีการออกข่าวสร้างความเสียหายให้ สสส. ว่าเป็นองค์กรชั่วร้าย กรรมการชั่วร้าย มีการตั้งองค์กร มูลนิธิต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรับงบประมาณจาก สสส. แต่ก็ชี้แจงกันไปแล้ว พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ก็ออกมาแถลงว่าไม่ได้ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องถูกต้องที่สามารถทำได้ แต่ตอนนี้กลับเอาเหตุผลนี้มากล่าวหาอีก จึงมองว่าไม่มีคำอธิบาย และไม่อยากหาคำอธิบาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพราะตนถูกปลดแล้วมาบอกว่าไม่ถูกต้อง เพราะตนจะอยู่ใน สสส.หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น การปลดครั้งนี้ คนปลดต้องอธิบายว่ามีเหตุผลที่ถูกต้องเหมาะสม พอเพียงหรือไม่ ตนไม่บอกว่าเป็นอย่างไร แต่เขาต้องอธิบายและมาดูว่าฟังขึ้นหรือไม่” นพ.วิชัย กล่าว
ที่มา : www.manager.co.th 7 ม.ค.2558