คณะกรรมการวัตถุอันตรายอาศัยช่วงชุลมุนไฟเขียวสาร “คาร์โบฟูราน”- “มโทมิล” มูลนิธิชีววิถีและเครือข่ายเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้าน
สืบเนื่องจากที่เครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งมีตัวแทนมาจากทุกภาคของประเทศเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรยกเลิกการขึ้นทะเบียน การอนุญาตนำเข้า และจำหน่ายสารเคมี 4 ชนิดที่มีพิษร้ายแรง ได้แก่ คาร์โบฟูราน, อีพีเอ็น, ไดโครโตฟอส และเมโทมิล ตั้งแต่ต้นปี 2554 กรมวิชาการเกษตรได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และได้ทำประชาพิจารณ์ใช้เวลาเกือบ 3 ปี
เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา มีข่าวออกมาจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้พิจารณาเรื่องนี้จนถึงที่สุดแล้ว และมีมติให้เปลี่ยนระดับการควบคุมสารเคมีการเกษตร 2 ชนิด คืออีพีเอ็น และไดโครโตฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายกำหนดไว้ว่า วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องรับใบอนุญาต ให้เปลี่ยนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
ส่วนสารเคมีอีก 2 ชนิด คือคาร์โบฟูราน และเมโทมิล ที่ยังมีเกษตรกรใช้และใช้ในปริมาณมากจนมีสารตกค้างในผลผลิตและเป็นพิษต่อผู้ใช้นั้น คณะกรรมการวัตถุอันตรายให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับระดับจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ยกเว้นสาร คาร์โบฟูราน สูตร 3% GR และสารเมโทมิล สูตร 40% SP ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้กรมวิชาการเกษตรรับขึ้นทะเบียน
มติของคณะกรรมการมีผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขที่มีสารเมโทมิล และสารคาร์โบฟูรานเป็นส่วนประกอบ จะไม่สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครองได้ แต่สาร คาร์โบฟูราน สูตร 3% GR และสารเมโทมิล สูตร 40% SP ยังสามารถใช้ในการเกษตรได้ แต่ต้องได้รับการอนุญาตขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร
ทั้งนี้ สารอีพีเอ็น และไดโครโตฟอส ที่ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นั้น ไม่มีผู้ใช้และไม่มีบริษัทขอขึ้นทะเบียนนำเข้าแล้ว จึงค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วว่า สารเคมี 2 ชนิดนี้จะถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และถึงแม้จะไม่ถูกจัดเป็นชนิดที่ 4 ก็ย่อมตกจากการขึ้นทะเบียนและไม่มีการนำเข้าอยู่แล้ว แต่สารเคมีอีก 2 ตัวที่มีพิษร้ายแรง คือเมโทมิล และคาร์โบฟูราน ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมเรียกร้องอยากให้ยกเลิกนั้น กลับยังสามารถใช้และอนุญาตขึ้นทะเบียนนำเข้าได้อยู่
จากการตรวจสอบข้อมูลรายงานสรุปการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร พ.ศ. 2556 พบข้อมูลผิดปกติอย่างหนึ่ง คือในช่วงครึ่งปีแรกมีการนำเข้าสารเมโทมิล 40% SP จากประเทศจีน ปริมาณ 5 กก. ทั้งที่ทะเบียนสารเคมีทุกชนิดได้หมดอายุลงไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2554 และสารเมโทมิลเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ยังมีปัญหา ยังอยู่ในกระบวนการจัดชนิดของสารเคมี ยังไม่มีใบอนุญาต ขึ้นทะเบียน แต่กลับมีผู้นำเข้าได้อยู่ อีกทั้งไม่ใช่ลักษณะการลักลอบนำเข้า เพราะมีข้อมูลปรากฏในรายงานการนำเข้าของกรมวิชาการเกษตรด้วย
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งโดยตำแหน่งแล้วมีชื่อเป็นกรรมการและเลขานุการใน คณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเรื่องนี้เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และจะออกเป็นประกาศโดยกรมวิชาการเกษตร ลงนาม รับรองประกาศโดยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรฯ แต่ขณะนี้อยู่ใน สถานการณ์สุญญากาศทางการเมืองจึง ไม่สามารถออกประกาศได้
สำหรับเหตุผลหลักๆที่บริษัทผู้นำเข้าส่งข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ที่นำมาสู่การยังไม่จัดให้สารเคมีทั้ง 2 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยผู้นำเข้าสารคาร์โบฟูรานได้มีเอกสารโต้แย้งว่าสารเคมีทั้ง 2 ชนิดยังใช้ประโยชน์ได้ดีสำหรับพืชบางชนิด และยืนยันว่ามีผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาว่าไม่กระทบต่อสุขภาพ
นายณัฐพลอธิบายว่า กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการนั้น มีการตั้งคณะอนุกรรมการเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการจัดชนิดของวัตถุอันตรายและพิจารณากันหลายรอบ ในทางปฏิบัติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะไม่ค่อยได้ออกความเห็น ถ้าสารเคมีชนิดใดเกี่ยวข้องกับกระทรวงไหนจะให้คณะกรรมการและอนุกรรมการที่มาจากกระทรวงนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ประกอบด้วยนักวิชาการด้านเกษตรเป็นส่วนมาก โดยมี ดร.นวลศรี ทยาพัชร อดีตผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ส่วนการพิจารณาลงความเห็นจะเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาและเสนอขึ้นมา เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอเรื่องขึ้นมาแล้ว คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเห็นชอบตามนั้นและออกมาเป็นมติสิ้นสุด
‘วิฑูรย์’ แปลกใจทำไมรับข้อมูลเอกชนฝ่ายเดียว
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ซึ่งเป็นองค์กรที่ต่อต้านสารเคมีทั้ง 4 ชนิดมาตลอด กล่าวว่า แปลกใจที่ผลการพิจารณาออกมาแบบนี้ แต่ทราบว่ามีความผิดปกติบางอย่างหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อ 3-4 เดือนก่อน เพราะทางคณะกรรมการให้บริษัทเอกชนผู้นำเข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมว่าเหตุใดจึงยังควรให้อนุญาตนำเข้า ทั้งที่กระทรวงเกษตรฯซึ่งรับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตรได้ทำประชาพิจารณ์แล้ว เป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรมต่อฝ่าย คู่กรณีที่ให้เอกชนเสนอเอกสารเพิ่มเติม แต่ไม่ได้ให้ฝ่ายเรียกร้องเสนอเอกสารเพิ่มเติม หลังจากที่คณะกรรมการให้เอกชนส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ยังไม่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นรายละเอียดที่เอกชนเสนอมา จนกระทั่งมีข่าวออกมาว่าการพิจารณาสิ้นสุดและมีมติออกมาแล้ว
สารเคมี 2 ชนิดที่ยังอนุญาตให้ใช้นั้น เอกชนมีข้อโต้แย้งว่ามีผลการศึกษารองรับว่าไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งข้อมูลนี้ขัดแย้งกับผลการพิพากษาคดีของศาลฎีกาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศผู้ผลิตสารชนิดนี้ ศาลฎีกาพิพากษาให้หน่วยงานรัฐที่มีข้อมูลวิจัยถึงความอันตรายร้ายแรงของสารเคมีชนิดนี้กว่า 10 ปีชนะบริษัทเอฟเอ็มซี ผู้ผลิตสารคาร์โบฟูรานเมื่อพฤษภาคม 2554
ส่วนเมโทมิลนั้นตามเหตุผลที่ว่าให้นำเข้าเพราะยังไม่มีสารที่จะใช้ทดแทนนั้น เห็นว่าเรื่องไม่มีสารทดแทนกับเรื่องสารตกค้างที่เป็นภัยต่อผู้บริโภคควรจะแยกออกจากกัน เพราะสินค้าไทยโดน ตรวจพบสารตกค้างและโดนตีกลับมาบ่อย ดังนั้นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรต้องหาสารทดแทนที่ตกค้างน้อยกว่าและมีพิษน้อยกว่า
ความสำคัญของการใช้เมโทมิลนั้นมีเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงใช้อยู่เป็นจำนวนมาก และบอกว่าจำเป็นต้องใช้ อ้างว่าประเทศนำเข้ามะม่วงมีความเข้มงวดมาก ไม่ให้มีรอยขีดข่วน ฉะนั้นจะไม่มีสารตกค้างในเนื้อมะม่วงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเกษตรกรปลูกแบบไม่ใช้สารเมโทมิล ได้ผลผลิตดี คุณภาพส่งออกเช่นกัน
นายวิฑูรย์กล่าวอีกว่า มูลนิธิชีววิถีและเครือข่ายจะเคลื่อนไหวคัดค้าน 2 ชั้น คือ 1)จะเคลื่อนไหวเฝ้าระวังการขึ้นทะเบียน กระบวนการขอให้ยกเลิกมาจากกรมวิชาการเกษตรเอง ดังนั้นต้องให้กรมยืนยันในจุดยืนเรื่องการขึ้นทะเบียนอีกครั้ง 2)จะขอเอกสารทั้งหมดที่มีการพิจารณาในคณะกรรมการวัตถุอันตราย และที่สำคัญคือข้อมูลที่เอกชนส่งมาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สาร 2 ชนิดนี้ไม่ถูกจัดเป็นประเภทที่ 4 และจะจับตาเฝ้าระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์อธิบดีกรมวิชาการเกษตรทางโทรศัพท์หลายครั้ง แต่ไม่มีการตอบรับ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ 29 ม.ค.57