สรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เมื่อมีสิ่งที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติมอบให้ ก็อาจมีข้อเสียบางอย่างแฝงตัวอยู่ด้วย เหมือนเช่น แร่ใยหิน ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นเส้นใยรวมกันเป็นมัด มีคุณสมบัติเหนียวทนทานต่อทุกสภาวะ ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เพื่อประดิษฐ์วัสดุให้มีความแข็งแกร่ง
เพราะข้อดีของแร่ใยหินคือ ทนทาน และราคาถูก จึงถูกนำมาใช้เป็นวัสดุทำกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อระบายน้ำ ภาชนะพลาสติกบรรจุแบตเตอรี่รถยนต์ เบรคและครัทช์รถยนตร์ ฯลฯ แต่แร่ชนิดนี้ก็มีข้อเสีย เนื่องจากขนาดเส้นใยแร่ใยหินเล็กมาก มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2 ไมครอน และยาวน้อยกว่า 5 ไมครอน
ลองนึกเล่นๆ เส้นผมมนุษย์หรือเม็ดเลือดแดง ยังมีขนาดใหญ่กว่าเส้นใยแร่ใยหิน หรือแบคทีเรียพวก coccus เมื่อโตเต็มที่นำมาผ่าครึ่งก็ประมาณ 1 ไมครอน ส่วนเส้นใยหินมีขนาดเล็กกว่า 2 ไมครอน จึงไม่แปลก หากแร่ชนิดนี้ฟุ้งกระจาย ฝุ่นเส้นใยจะเข้าไปสู่ถุงลมปอดของมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย
ตามธรรมชาติของมนุษย์ เชื้อโรคและเส้นใยที่มากกว่า 3 ไมครอน จะหยุดอยู่แค่ทางเดินหายใจส่วนบนของมนุษย์ และถูกกำจัดออกทางเสมหะ แต่เส้นใยแร่ขนาดเล็กจิ๋วชนิดนี้ทะลุทะลวงไปถึงถุงลมปอดได้ นั่นหมายถึง ถ้าเข้าไปสู่ถุงลมปอดในปริมาณมาก ก็จะทำลายปอดได้ แต่ใช้เวลาฟักตัวนานมาก ประมาณ 15-35 ปีกว่าคนๆ นั้นจะป่วยเป็นมะเร็ง และในบ้านเราก็ไม่อาจวินิจฉัยได้ว่า คนป่วยเป็นมะเร็งปอดเนื่องจากแร่ใยหิน หรือการสูบบุหรี่ หรือสาเหตุใดก็ตาม เพราะเทคโนโลยีและกรรมวิธีในบ้านเรา ยังไม่ทันสมัยเหมือนต่างประเทศ
เพราะพิษภัยของแร่ใยหินเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่คุณสมบัติของแร่ชนิดนี้ เหมือนที่กล่าวมา ดีต่อการใช้งาน แต่ไม่ดีต่อสุขภาพมนุษย์
แล้วทำไม…ผู้บริโภคยังเลือกใช้วัสดุที่มาจากแร่ใยหิน
“รู้ทั้งรู้ว่า กระเบื้องบางยี่ห้อมีส่วนผสมของแร่ใยหิน เราก็พยายามถามคนขาย แต่เวลาไปซื้อ คนขายก็ไม่รู้ ไม่สนใจ และไม่มีป้ายกำกับว่า “มีส่วนผสมจากแร่ใยหิน อาจทำให้เป็นมะเร็งได้” ผู้รับเหมาก่อสร้างก็ไม่ใส่ใจเรื่องพวกนี้เลย “ ผู้บริโภครายหนึ่ง เล่าให้ฟัง
ไม่ต่างจาก ดวงใจ ยงยิ่งเชาว์ ผู้บริโภคที่เคยต่อเติมบ้าน บอกว่า เวลาซื้อกระเบื้อง ไม่สนใจหรอกว่า มีแร่ใยหินหรือไม่ “แค่ดูว่า สวย ชอบ และไม่ลื่น เท่านั้นก็พอแล้ว”
นี่คือส่วนหนึ่งของผู้บริโภคที่ไม่ต่างจากหลายรายในประเทศนี้ที่ไม่ใส่ใจกับปัญหาการใช้วัสดุที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน หรือแม้จะใส่ใจ แต่ก็ไม่อาจรู้ได้ว่า วัสดุยี่ห้อใดมีส่วนผสมของแร่ใยหิน เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ติดป้ายบอกผู้บริโภค และวัสดุจากแร่ใยหินยังใช้มากมายในประเทศนี้ และพรบ.วัตถุอันตราย มาตรา 18 จัดแร่ใยหินอยู่ในประเภทวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 นั่นก็คือ “วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ครอบครองต้องได้รับอนุญาต” แต่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก หรือ มีไว้ในครอบครอง
อย่างไรก็ตาม ผู้ทำงานด้านสาธารณสุข อาชีวอนามัยเพื่อความปลอดภัย และนักวิชาการที่ทำงานด้านนี้ พยายามให้มีการยกเลิกการใช้และนำเข้าแร่ใยหินหลายครั้งหลายคราว เพราะมีข้อมูลวิจัยจากหลายประเทศยืนยันว่า การใช้แร่ใยหิน ทำให้ก่อเกิดโรคมะเร็งปอดได้ แต่ปัจจุบันความพยายามดังกล่าว ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเกี่ยวโยงกับการค้าและการลงทุน
ใยเล็กๆ มีผลต่อร่างกาย
แม้เรื่องราวเกี่ยวกับแร่ใยหินจะมีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะ ทั้งฝ่ายที่ออกมารณรงค์ให้มีการยกเลิกแร่ใยหิน เพราะเกรงว่า คนไทยจะป่วยเป็นมะเร็งปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหิน และบ้านเราก็ยังไม่มีเทคโนโลยีในการตรวจวัดร่างกายมนุษย์ที่สัมผัสแร่ใยหินเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว จึงมีฝ่ายคัดค้านออกข่าวว่า แร่ใยหินใช้ได้ ไม่มีอันตราย ทั้งๆ ที่กว่า 50ประเทศ ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และมีบางประเทศ แม้จะมีมาตรการกฎหมายห้ามใช้แร่ใยหินในประเทศ แต่มีการผลิตเพื่อส่งออกนอกประเทศ
แล้วทำไมประชาชนให้ความสนใจเรื่องนี้น้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหน่วยงานรัฐไม่ค่อยออกมาให้ข้อมูล หรือมีมาตรการติดป้ายเพื่อบอกผู้บริโภคว่า วัสดุชนิดใดมีส่วนผสมของแร่ใยหิน และมีอันตรายเพียงใด
ถ้าอย่างนั้นลองทำความรู้จักคร่าวๆ กับแร่ใยหิน หรือ Asbestos ซึ่งเป็นเส้นใยแร่ซิลิเกต อยู่รวมกันเป็นมัด เพราะคุณสมบัติที่เหนียว ทนทานต่อแรงดึงได้สูง ทนความร้อน ทนทานต่อกรด ด่าง และสารเคมีต่างๆ ได้ดี ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มีผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์
เหมือนเช่นที่กล่าวมา ไม่มีใครรู้หรอกว่า คนที่ป่วยเป็นมะเร็งปอด มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่หรือแร่ใยหิน แม้จะมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ก็ไม่อาจฟันธงได้ ส่วนคนที่เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง มักจะมีอาการหายใจสั้นและเจ็บช่องอก ซึ่งพบน้อยมากในประชาชนทั่วไป และส่วนใหญ่พบในคนที่เคยสัมผัสแร่ใยหิน และมักจะมีอาการรุนแรง เสียชีวิตด้วยเวลาอันรวดเร็ว แต่ก็ไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน
ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์อาชีวอนามัยความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน บอกว่า แม้เราจะมีเครื่องมือในการตรวจสอบน้อยกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว แต่คนเราไม่มีความสามารถต้านทานมะเร็งที่เกิดจากแร่ใยหินได้ ทั้งๆ ที่มีวัสดุทดแทนแร่ใยหินได้ ทำไมไม่นำมาใช้ แล้วยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย “ลองคิดดูประเทศเรากระเบื้องมุงหลังคารับน้ำฝน น้ำหนักน้อยกว่าประเทศที่ใช้หลังคารับหิมะยังมยกเลิกการใช้แร่ใยหิน พวกเขามีเครื่องมือวัดผลกระทบจากแร่ใยหินมากกว่าบ้านเรา แต่ในสังคมไทยคนที่ป่วยจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสแร่ใยหินไม่ได้มาพบผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือก็ไม่มีมากพอที่จะวินิจฉัย”
แม้ในบ้านเราจะใช้ข้อมูลวิจัยจากต่างประเทศยืนยัน คุณหมอพรชัย บอกว่า กลุ่มที่เห็นด้วย ต้องให้เหตุผลก่อนว่า คนไทยทนต่อแร่ใยหินมากกว่าคนอเมริกัน ญี่ปุ่นและเกาหลี ได้อย่างไร “ถ้ารอให้คนป่วยมากกว่านี้ แล้วค่อยยกเลิก แสดงว่าเราไม่เห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ เรื่องนี้เราย่ำอยู่กับที่ เราอยากเห็นคนป่วย คนตาย มากๆ ก่อน แล้วค่อยยกเลิกการใช้แร่ใยหินหรือ”
หากไล่เลียงหาเหตุผลว่า คนป่วยเป็นมะเร็งปอด ต้องได้รับปริมาณแร่ใยหินมากน้อยเพียงใด คงเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ เพราะคนที่ป่วยไม่ได้ใช้ชีวิตเสี่ยงกับแร่ใยหินอย่างเดียว แต่ยังเสี่ยงจากมลพิษรอบตัว การสูบบุหรี่ การสูดดมสารเคมีในรูปอื่นๆ อีกมากมาย “เราเป็นนักวิชาการ ก็ลำบากใจที่จะบอกว่า ได้รับแร่ใยหินแค่ไหน จึงจะมีปัญหาต่อสุขภาพ ด้านเทคโนโลยีสารทดแทนแร่ใยหิน เราไม่เห็นปัญหาเลยว่าทำไม่ได้ เพราะเครือเอสซีจี ก็ยกเลิกการใช้เป็นแห่งแรก” รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะคณะทำงานคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และการคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าว
รัฐต้องใช้มาตรการเด็ดขาด
จากสถิติปี 2555 ในแถบอาเซียน แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ใช้แร่ใยหินอันดับหนึ่ง แต่ก็ขึ้นอันดับสามรองจาก อินโดนีเซีย และเวียดนาม ประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินประมาณ 58,008 ตัน ส่วนประเทศที่ส่งออกรายใหญ่ที่สุดคือ รัสเซีย มีการส่งออกใยหินปีละ 1 ล้านตัน แต่ประเทศนี้กลับลดการใช้แร่ใยหินเหลือร้อยละ 38 โดยเน้นการส่งออกเป็นหลัก ส่วนประเทศในแถบเอเชียมีการใช้ใยหินเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 ของการใช้ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์และบรูไน ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ส่วนมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ใช้แร่ใยหินน้อยกว่าไทย 30 เท่า
ปัจจุบันออสเตรเลียประกาศมาตรการปกป้องสุขภาพประชาชนจากอันตรายของใยหินเป็นกฎหมาย มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พวกเขาตั้งหน่วยงานสนับสนุน มีมาตรการควบคุมลดความเสี่ยงจากใยหิน เพื่อป้องกันภัยจากใยหิน นั่นเป็นตัวอย่างคร่าวๆ ที่รศ.ดร. วิทยา ให้ข้อมูล และตั้งคำถามว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาว่า แร่ใยหินมีอันตรายเพียงพอต่อการยกเลิกการใช้หรือไม่ แต่คณะทำงานยังไม่ได้สรุปผลเพื่อยกเลิกการใช้ ปัจจุบันแร่ใยหินไครโซไทล์ จึงไม่ได้จัดอยู่ในวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งได้แก่ “วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง” “มีความพยายามตั้งคณะทำงานจากกระทรวงพาณิชย์ พวกเขาบอกว่า ประเทศคู่ค้าของไทย คือรัสเซีย ไม่พอใจนักที่จะยกเลิกการใช้ใยหิน เพราะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ แผนการยกเลิกการใช้สินค้าห้าชนิด อาทิ กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องมุงหลังคา ท่อใยหิน เบรค ครัทต์ ภายในห้าปี ถ้ารอขนาดนั้น แล้วจะทำให้คนไทยเสียชีวิตแค่ไหนอย่างไร ทั้งๆ ที่มีหลักฐานข้อมูลจากประเทศหลักๆ หลายประเทศเลิกใช้แล้ว อาทิ ยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่นและไต้หวัน
แม้สคบ.จะออกคำเตือนว่า แร่ใยหินเป็นอันตราย นำไปสู่โรคปอดและมะเร็งปอด แต่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น ซึ่งมาตรการแบบนี้ผู้บริโภคไม่รู้เรื่องหรอก นอกจากเครือเอสซีจี ยกเลิกการใช้ ยังมีบริษัทมหพันธ์ไม่ใช้แร่ใยหิน แต่หลายบริษัทที่มีโรงงานในต่างจังหวัด ยังผลิตในระบบเปิด ทั้งๆ ที่ใยหินต้องทำในระบบปิด ถ้าทำในระบบเปิด ใยหินจะฟุ้งกระจายมีปัญหาต่อคนงาน”
ส่วนกรณีรื้ออาคารบ้านเรือน รศ.ดร.วิทยา บอกว่า การเลื่อย ตัดต่อ วัสดุที่มีอนุภาคเล็กมากจะฟุ้งกระจายสร้างปัญหาให้กับคนได้ รวมถึงขยะพิษจากเศษกระเบื้อง “ฝ่ายตรงข้ามเคยบอกว่า ถ้ายกเลิกการใช้แร่ใยหิน รัฐจะให้รื้อถอนหลังคาทั้งหมด เราไม่เคยบอกอย่างนั้น แต่เราบอกว่าให้ยกเลิกการนำเข้าและการใช้ และมีมาตรการป้องกันเวลารื้อถอนหลังคา”
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังให้ข้อมูลอีกว่า กระเบื้องมุงหลังคาบางยี่ห้อที่มีส่วนผสมใยหิน แม้จะปั๊มตราเตือนไว้ แต่ตราที่ปั๊มออกจะเบลอๆ และคนส่วนใหญ่ชอบซื้อกระเบื้องราคาถูกซึ่งมีส่วนผสมของแร่ใยหิน แต่ก็มีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ศุภาลัย เวลาขายบ้านบอกเลยว่า ไม่ใช้ชิ้นส่วนจากแร่ใยหิน หรือบริษัทเบรคบางแห่งก็เริ่มเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ ส่วนใหญ่ระบบเบรคที่มากับรถใหม่ไม่ค่อยมีปัญหา จะมีปัญหาก็เมื่อเบรคหมดอายุ ต้องเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ ผู้บริโภคก็ไม่สนใจว่า จะมีส่วนประกอบแร่ใยหินไหม “มาตรการเร่งด่วน ผมเสนอว่าหน่วยงานรัฐควรประกาศว่า ไม่ซื้อสินค้าจากแร่ใยหิน ซึ่งง่ายมาก อย่างในออสเตรเลีย แม้กระทั่งโครงการให้ทุนเพื่อก่อสร้างอะไรก็ตาม เขาจะเขียนไว้ว่า ถ้าผู้รับทุนจะสร้างอะไร ต้องไม่มีวัสดุแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ อย่างญี่ปุ่นก็ยกเลิกการใช้ เพราะคนที่อยู่รอบโรงงานที่ทำธุรกิจจากส่วนประกอบใยหินได้รับผลกระทบ แคนาดาไม่มีการใช้ใยหิน แต่มีการส่งออก หมอของพวกเขาก็ต่อว่ารัฐบาลที่ยังมีนโยบายแบบนี้อีก ”
แม้ปัจจุบันจะไม่มีบทสรุปว่า จะยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยหรือไม่ แต่หลายฝ่ายก็ยังมีความหวัง หากผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับชีวิตคน เรื่องนี้ก็มีอนาคตอยู่บ้าง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 8 ก.ค.2556