เลี่ยน คือพืชตระกูลเดียวกับสะเดาที่เราคุ้นเคย แต่คนอีสานเรียกเลี่ยน ว่า ต้นนารี (ไม่รู้เหตุใดจึงเรียกเช่นนี้) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Bastard cedar, Bead tree, Chaina tree, Chinaball tree, Persian lilac, White cedar มีชื่อวิทยาศาสตร์ Melia azedarach L. มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น เกรียน เคี่ยน เฮี่ยน (ภาคเหนือ) เลี่ยนใบใหญ่ เคี่ยน เลี่ยน เกษมณี (ภาคกลาง) เลี่ยนดอกม่วง (ทั่วไป) นารี (ภาคอีสาน) ลำเลี่ยน (ลั้วะ) โขวหนาย (จีนแต้จิ๋ว) ขู่เลี่ยน ขู่เลี่ยนซู่ (จีนกลาง)
เลี่ยนเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นและใบมีความใกล้เคียงกันกับสะเดามาก ต้นสูงได้ 20-30 เมตร เจริญเติบโตเร็ว ลำต้นเจริญขึ้นตรง ทรงพุ่มกลมรูปกรวยโปร่ง แตกกิ่งก้านจำนวนมาก เปลือกผิวลำต้นมีสีน้ำตาล มีแผลเป็นร่องตามยาว ใบออกเป็นช่อ ประมาณ 3-5 ใบ ปลายใบแหลมเรียวโคนใบสอบขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย บนใบเกลี้ยงสีเขียวส่วนล่างของใบมีขนสีเขียวอ่อนเห็นเส้นใบชัด ออกดอกเป็นช่อ เป็นกระจุกใหญ่ ดอกมีสีม่วงอ่อนหรือสีฟ้า กลิ่นหอม ดอกแยกเพศ แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ผลกลม รี สีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมล็ดและเนื้อไม้มีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นของชะมด ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด การกระจายในแถบเอเชียใต้ ไปอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์จนถึงทางตะวันตกของออสเตรเลีย
ในทางยาไทยกล่าวว่า ทุกส่วนของต้นเลี่ยน รสขม เมา ใช้แก้โรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อนและกุดถัง (ทำให้ผิวหนังดำเกรียมแล้วลอกเป็นขุย) ทั้งต้นของเลี่ยนถือเป็นยาอายุวัฒนะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ยางใช้แก้ม้ามโต เมล็ดแก้ปวดในข้อ ผลแก้โรคเรื้อนและฝีคันทะมาลา(ฝีในลำคอ) ดอกแก้โรคผิวหนัง น้ำคั้นจากใบใช้ ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว บำรุงโลหิต ประจำเดือน ดอกและใบ พอกแก้ปวดศีรษะ ปวดประสาท เปลือกต้นใช้รักษาเหา
เปลือกต้นหรือราก ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิตัวแบน ในการทำยานั้นจากภูมิปัญญาแนะนำให้เก็บยาในช่วงฤดูหนาว และให้เอาเฉพาะเปลือกชั้นในสีเทาเท่านั้น (ขูดเอาผิวชั้นนอกทิ้งก่อน) และถ้าใช้เปลือกรากจะให้สรรพคุณดีกว่าเปลือกต้นหรือเลือกเปลือกใกล้กับรากหมายถึงเหนือดินประมาณ 5 นิ้วใกล้รากนั้นเอง จะมีฤทธิ์ในการขับพยาธิใกล้เคียงกับราก ในการทำยาต้องใช้ไฟอ่อนต้ม เพื่อให้สารที่ออกฤทธิ์จะละลายน้ำออกมา ให้กินยาเพียงครั้งเดียวก่อนนอนหรือตื่นเช้าตอนท้องว่าง หรือแบ่งครึ่งกินก่อนนอนและตอนเช้า โดยยาต้มจะเติมน้ำตาลเพื่อช่วยปรุงรสด้วยก็ได้เพราะรสยาขม
เลี่ยนเป็นอาหารรสอร่อย สามารถเด็ดยอดและใบอ่อนมารับประทาน ถ้านำมาย่างไฟพอสลดก่อนจะดีมากเพราะช่วยลดความขม เมื่อกินเป็นผักแกล้มกับน้ำพริกชนิดต่าง ๆ เช่น ลาบ ก้อย ได้เข้ากันอย่างอร่อยเพราะรสขมผสมรสเผ็ดเปรี้ยวเค็มหวานได้ดี ใบยังทำเป็นสารไล่แมลง โบราณมีการนำใบเลี่ยนมาสอดไว้ในหนังสือช่วยป้องกันแมลงไม่ให้มากัดกินหนังสือ ปัจจุบันมีการนำทั้งใบ เปลือกต้น และเปลือกราก ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยไล่แมลง มาทำเป็นสารสมุนไพรกำจัดแมลง เพียงแค่ใช้ใบและเปลือกแห้งนำมาต้มกับน้ำแล้วนำมาฉีด ซึ่งไล่ตั๊กแตน (grasshopper) และตั๊กแตนห่า (locusts) ได้ด้วย และใบให้สีเขียวนำมาเป็นสมุนไพรย้อมสีผ้าได้เช่นกัน
สำหรับผล มีการนำไปใช้เป็นยาเบื่อปลาโดยการตำผลแล้วเทลงในบ่อปลา และยังใช้กำจัดตัวมวน ที่ทำอันตรายต่อผลส้ม และต้องระวังว่าผลก็มีพิษต่อคนด้วย หากกินเข้าไปไม่กี่ชั่วโมงหลังอาหารย่อย จะมีอาการกระหายน้ำ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด ปวดท้อง หายใจขัด หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิต ย้ำว่าไม่ควรกินผลเด็ดขาด แต่น่าแปลกที่พิษไม่เกิดกับนก จึงเห็นนกกินผลและช่วยกระจายเมล็ดไปแพร่พันธุ์ได้
สำหรับเนื้อไม้ปลูกจนโตได้ที่ตัดมาสร้างบ้านจะทำเป็นฝาบ้าน ไม้กระดาน โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ หรือใช้ทำไม้อัด เยื่อกระดาษ ทำฟืน ก็ได้ นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้านและสวน เพราะออกดอกเป็นช่อบานพร้อมกันดูสวยงาม ในด้านนิเวศน์มีประโยชน์ในด้านการให้ร่มเงา ป้องกันลม ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ฯลฯ และในความเชื่อแต่โบราณ บ้านใครปลูกต้นเลี่ยนจะช่วยให้คนอาศัยมีแต่ความ ราบเรียบ ปลอดโปร่ง เรียบร้อยไปทุกสิ่ง เพราะคำว่าเลี่ยน คือ “เลี่ยนเตียน” และคนโบราณยังถือว่าต้นเลี่ยน คือสิ่งสูงมีค่า จึงตั้งชื่อเรียกให้เป็น “ต้นเกษมณี” เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย และเชื่อว่าควรปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และปลูกในวันเสาร์เพื่อเอาคุณประโยชน์
แนะนำเลี่ยนนอกจากใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว เพราะเป็นไม้ที่ทนแล้ง ทนอากาศร้อน และทนเค็มได้ดี จึงควรเร่งส่งเสริมหามาปลูกตั้งแต่วันนี้ ในพื้นที่ว่างๆ ก็โตไวให้ร่มเงา ในพื้นที่เสื่อมโทรมก็ช่วยให้กลายเป็นสีเขียวได้เร็วขึ้น.