เมื่อคราวที่แล้วพูดถึงความเชื่อเรื่องคนท้องกับการดื่มน้ำมะพร้าว
วันนี้จะเล่าเรื่องภูมิปัญญาของคนอีสานกับเรื่องของแม่มานหรือคนท้อง
ในอดีตเมื่อบ้านไหนมีหญิงใกล้คลอดหรือโดยเฉพาะอายุครรภ์ตั้งแต่ เดือนที่ 7 ขึ้นไป ผู้เป็นสามีหรือเจ้าของบ้านจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดกับแม่และเด็ก ไม่ให้เกิดความฉุกละหุก
การเตรียมความพร้อมและการป้องกันแม่และเด็ก เช่น ป้องจากผีร้ายภูติพรายที่อาจจะมาเอาเด็กไป ป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่อาจเกิดกับคนท้อง ระวังโรคภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเตรียมการช่วงก่อนคลอด-ระหว่างคลอดและหลังคลอด
ในชุมชนที่ยังคงมีหมอพื้นบ้านที่ขาดไม่ได้คือ “หมอตำแย”
ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แม่มานจะไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลและคลอดลูกที่โรงพยาบาล
อาจจะมีบางบางชุมชนที่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาลหรือเดินทางลำบาก จึงต้องให้หมอตำแยทำคลอด
การเตรียมตัวของคลอดของแม่มานหรือคนท้องในชุมชนอีสานนั้น ผู้ชายในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านจะช่วยกันขนฟืนขนเตาหม้อดินมาเตรียมไว้ในห้องชั้นบนของบ้านที่จะทำเป็นห้องคลอด และห้องอยู่ไฟด้วยไปในตัว
บ้านเรือนอีสานในอดีตเป็นบ้านยกสูงมีใต้ถุนด้านล่าง มีการเชิญหมอธรรมหรือพระสงฆ์มาทำพิธีป้องปัดเสนียดจัญไร ภูตผี สัมภเวสี จะไม่สามารถมารังควาญได้
การเตรียมห้องคลอดนั้น…เริ่มจากต้องทำเตาไฟ ทำฐานเตาไฟด้วยขอนไม้ วางขัดต่อกันเป็นสี่เหลี่ยม
จากนั้นนำกาบกล้วยมาปูรองพื้นและใส่ดินจนเต็ม แล้วเตรียมไม้ไผ่สับลำปล้องให้แตกปริ ทุบให้แบน เพื่อทำเป็น ฟาก จากนั้นทำร่องพื้นเพื่อให้ของเหลวพวกปัสสาวะ น้ำคร่ำ เลือดและอื่นๆ ไหลลงไปตามร่อง บริเวณหลุมนั้นจะตัดหนามพุทราหรือหนามอื่นๆมาวางไว้รอบๆขอบหลุม
บริเวณใต้ถุนบ้านจะทำการเสียบหนามต้นเล็บเหยี่ยวใส่หัวไพลเอาแหปิดล้อมรอบบริเวณหลุม เชื่อว่า ป้องกันผีปอบ ผีกระสือ ไม่ให้มากินเลือด การป้องกันหลุมน้ำเช่นนี้ อาจจะป้องกันสัตว์มาคุ้ยเขี่ยกินก็ได้
การคลอดที่บ้านโดยหมอตำแยเป็นคนทำคลอด…จะต้องรักษาความสะอาดมากที่สุด ป้องกันการติดเชื้อ ต้องดูแลความปลอดภัยจากสิ่งที่มองไม่เห็น และสัตว์ร้ายที่อาจจะเข้ามาในช่วงเวลากลางคืน
การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คอยเป็นหูเป็นตาให้กันและกันของคนในชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ …สิ่งเหล่านี้ยังไม่หายไปไหน เรายังได้ในชุมชน….
คราวหน้าจะมาเล่าความเชื่อเรื่อง “รก” จากการทำคลอด..
#มูลนิธิสุขภาพไทย #แม่มาน #คนท้อง #สมุนไพรไทย #หมอตำแย #ภูมิปัญญาคนอีสาน