มีข่าวเผยแพร่กันว่ากิน “กะเพรา” วันละ 50 กรัม จะต้านโควิดได้ ! ต้องป่าวประกาศทั่วกันว่านี่คือ ข่าวปลอม แต่ก็ชวนคิดว่า ข่าวที่สร้างความสนใจเช่นนี้ น่าจะมาจากพื้นฐานของข้อมูลบางอย่าง จึงลองนำเสนอให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน
คนอินเดียนับถือว่า กะเพรา เป็นพืชศักดิ์สิทธิ์มาก เชื่อว่าเป็นอวตารของเทพธิดาลักษมี จึงพบเห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้านของชาวฮินดูจะปลูกกะเพราไว้ตรงกลางลานบ้าน เพื่อนำใบมาใช้ในการบูชาเทพเจ้าของฮินดูและใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับโรคทั่วไปที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลด้วย ทุกเย็นจะมีการจุดประทีบด้วยกะเพราเพื่อเป็นเครื่องบูชาแด่พระนางลักษมี ให้นำความสุขและความมั่งคั่งมาสู่ครอบครัว และยังมีการบูชากะเพราในช่วงระหว่าง วันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 12 โดยชาวฮินดูก็เชื่อกันว่าได้บุญและเป็นมงคลยิ่งกว่าถวายโคเป็นพันตัวเลยทีเดียว
มองชาวคริสต์บางกลุ่มในประเทศกรีซ ก็มีความเชื่อว่า กะเพรา คือพืชศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน เพราะมีเรื่องเล่ากันว่ากะเพราเป็นพืชที่งอกขึ้นอยู่เหนือหลุมฝังศพของพระเยซูนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีนักบุญที่ชื่อ เบซิล (Basil คือ กะเพรา) และก็มีวัน Saint Basil’s Day หรือวันนักบุญกะเพราอีกด้วย ในความศรัทธาและจากความเชื่อมาสู่การปฎิบัติในวิถีวัฒนธรรมนั้น จึงมีการเรียกชื่อ กะเพรา ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Holy basil หรือ Sacred basil ส่วนคนอินเดียเรียกกะเพราว่า ตุลซี (tulsi) ซึ่งเป็นชื่อปางหนึ่งของพระนางลักษมีเลยทีเดียว
กะเพรามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum tenuiflorum L. (เดิมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum sanctum L. ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นชื่อพ้อง) คนอินเดียจัดว่ากะเพราเป็น “ราชินีแห่งสมุนไพร” (Queen of Herbs) หรือ “มารดาแห่งยาจากธรรมชาติ (The mother medicine of nature) หรือ “สมุนไพรที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยสมุนไพรอื่นใด” (The irreplaceable one) เพราะเป็นสมุนไพรที่มีการใช้เป็นประจำ การแพทย์อายุรเวทและการแพทย์สิทธา ซึ่งพบว่ามีการใช้กะเพราเป็นสมุนไพรมานานกว่า 1,000 ปี ในแต่ละส่วนของกะเพรายังนำมาใช้กับอาการและรักษาโรคที่ต่างกันด้วย และลองรวบรวมมาให้เรียนรู้เช่น
ใบ ใช้บำรุงไฟธาตุ ขับลมแก้ปวดท้อง แก้ลมตานซาง แก้จุกเสียด แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้โรคบิด และขับลม ใบกะเพรามาตำละลายกับน้ำผึ้ง หยอดให้เด็กแรกเกิดกินเรียกว่าถ่ายขี้เถ้า หรือตำแล้วบีบเอาน้ำผสมกับมหาหิงค์ ทารอบสะดือ แก้ปวดท้องของเด็ก
เมล็ด เมื่อนำไปแช่น้ำเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว ใช้พอกบริเวณตา เมื่อตามีผง หรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นละอองนั้นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาเรานั้นช้ำอีกด้วยรากที่แห้งแล้ว นำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ
น้ำสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร น้ำสกัดในใบที่ได้น้ำมันหอมระเหยจากกะเพราและสารยูจีนอล มีฤทธิ์ขับน้ำได้ดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด
นอกจากสรรพคุณตามส่วนต่างๆ แล้วยังมีผู้นำใบกะเพรามาต้มน้ำดื่ม ช่วยบรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ ลดอาการไอ อาการไม่สบายตัวและเป็นหวัด และช่วยกระตุ้นกระเพาะให้ทำงานดีขึ้น กะเพรายังใช้เป็นยาไล่ยุง และยาโรคผิวหนัง เช่น กลากเกลื้อนด้วย และตำราโบราณกล่าวว่ากะเพราช่วยแก้ผิวหนังอักเสบจาการไปสัมผัสพิษจากต้นโอ๊คหรือต้นไอวี่ด้วย
นอกจากนี้ กะเพรา ยังมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ ทั้งแบคทีเรีย ฟังไจและไวรัส และมีคุณสมบัติในการต้านพิษ แก้ไอ ต้านการอักเสบ ต้านมาเลเรีย ต้านเบาหวาน ปรับสมดุลของภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญคือช่วยลดความเครียด สารสกัดน้ำมันจากกะเพราพบว่ามีแคลเซี่ยม วิตามินซี และพบสารสำคัญอีกหลายชนิด เช่น ยูจีนอล แทนนิน ฟาโวนอยด์ กรดยูโซลิก ฯ จากการศึกษาเชิงลึกเมื่อไม่นานมานี้ พบว่ามีคุณสมบัติในการต้านไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น HSV, HIV, H9N2, NDV, BHV และอื่น ๆ
การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดจากกะเพราสามารถยับยั้งการหดตัวของหลอดลมได้ และมีการศึกษาทางคลีนิก คือ ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด กินกะเพราในขนาด 500 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าผู้ป่วยมีการหายใจได้ดีขึ้น อาการหอบหืดลดลง ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกต้องได้รับการขยายท่อทางเดินหายใจ การศึกษาน้ำตาลและปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าลดลงเมื่อได้รับกะเพราวันละ 2,500 มิลลิกรัมต่อวัน และการทดลองทางคลีนิกกับคนที่มีภาวะอ้วนให้กินกะเพราวันละ 500 มิลลิกรัม นาน 8 สัปดาห์ พบว่าสามารถทำให้ กลูโคลส อินซูลิน ไตรกลีเซอไรด์และโคเลสเตอรอลลดลง
แต่มีงานวิจัยที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับโควิด-19 คือ สารสกัดที่ได้จากกะเพราเมื่อนำมารวมกับสารสกัดที่ได้จากบอระเพ็ดและสารสกัดจากโสมอินเดีย (Ashwagandha; Withania somnifera) สามารถทำลายโควิดในหลอดทดลองได้ หรืองานวิจัยอีกรายการหนึ่งที่นำเอาสารสกัดจากกะเพรามาผสมกับสารสกัดจากสะเดาสามารถต้าน SARS-CoV-2 ได้ แต่ถ้าลำพังกะเพราเพียงอย่างเดียวไม่สามารถมีผลต่อ โควิด 19 ซึ่งการศึกษาเบื้องต้นนี้ชี้ให้เห็น 2 ประการ คือ กะเพราโดดๆไม่มีฤทธิ์มากพอ และการศึกษายังอยู่ในระดับห้องทดลอง ยังต้องวิจัยกันอีกนาน
แต่กะเพราเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยด้วย ปรุงกินเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยขึ้นได้ตลอดเวลา น้ำมันหอมระเหยจากกะเพรายังช่วยลดความเครียดด้วย และหากมีอาการลมในท้อง ปวดท้อง และคลื่นไส้อาเจียน เพียงใช้ยอดสด 1 กำมือ ต้มพอเดือด ดื่มกินน้ำกะเพราเป็นยาสามัญประจำบ้านได้เลย ใบกะเพราชงดื่มทุกวันจะสามารถป้องโรคที่เกิดไข้เปลี่ยนฤดู และในโรงพยาบาลบางแห่งของอินเดียจะต้มน้ำใบกะเพรา ให้ผู้ป่วยโควิดกินเป็นประจำเพื่อช่วยฟื้นตัวของร่างกาย
ก็อย่าถึงกับเฮโลกินกะเพรามากเกินไปทุกวัน เพราะแทนที่จะดีกลับทำให้เกิดอาการปวดท้อง มีแก๊สมากและทำให้ผายลมมาก.