เมื่อครั้งที่แล้วได้แนะนำให้รู้จัก 2 ตำรับยาจีนแล้ว มาเรียนรู้ตำรับยาที่เรียกว่า “ชิงเฟ่ย พายตู่” (Qingfei Paidu) ซึ่งเป็นยาที่แพทย์จีนเป็นผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ซื้อหากินเอง ข้อมูลการใช้ในมณฑลซานซี พบว่ายามีประสิทธิภาพดี ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและความรุนแรงของโรคลดลง ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 214 คน หรือมากกว่า 90 เปอร์เซนต์ ที่มีอาการดีขึ้น ต่อมาจึงได้มีการประกาศให้ใช้ยาตำรับนี้ทั่วประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2020 ตำรับยาชิงเฟ่ย พายตู่ ใช้สมุนไพรถึง 21 ชนิด ได้แก่
1.หมาหวง (Mahuang; Herba Ephedrae) มาจากสมุนไพร 3 ชนิด คือ Ephedra sinica Stapf , Ephedra intermedia Schrenk & C.A.Mey. และ Ephedra equisetina Bunge ส่วนที่ใช้คือกิ่งขนาดเล็ก ปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรกลุ่มนี้มีรสเผ็ดขม กลิ่นฉุน คุณสมบัติอุ่นเล็กน้อย ขับเหงื่อ ขับพิษไข้ กระจายซี่ในปอด บรรเทาหอบ 2.ชะเอมเทศ หรือ Zhigancao (Radix Glycyrrhizae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glycyrrhiza uralensis Fisch. ใช้ส่วนของรากปริมาณ 6 กรัม เป็นสมุนไพรให้รสหวาน สุขุม ยาในกลุ่มบำรุงซี่ บำรุงส่วนกลางของร่างกาย ระบายความร้อน ขับพิษ ระงับไอ ขับเสมหะ ปรับประสานตัวยาอื่นๆ ให้เข้ากัน 3.เมล็ดเอพริคอต หรือ ซิ่งเหริ่น (Xingren; Semen Armeniacae Amarum) สมุนไพรในกลุ่มนี้มีหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่ใช้สมุนไพรชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus armeniaca L. ใช้ปริมาณ 9 กรัม เมล็ดเอพริคอต มีสรรพคุณบรรเทาอาการไอ ระงับการหอบ 4.เซิงสือเกา หรือ Shengshigao (Gypsum Fibrosum) เป็นเกลือยิปซั่มหรือเกลือจืด ใช้ปริมาณ 15 กรัม มีรสเผ็ดอมหวาน คุณสมบัติ เย็นมาก สรรพคุณ ระบายความร้อน รักษาอาการไข้ร้อนสูง ลดอาการร้อนกระวนกระวาย และกระหายน้ำ
5.อบเชยจีน หรือ กุ้นจือ (Guizhi; Ramulus Cinnamoni) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum cassia (Nees & T.Nees) J.Presl ใช้ส่วนของกิ่งในปริมาณ 9 กรัม มีรสชาติเผ็ดอมหวาน คุณสมบัติอุ่น ขับเหงื่อ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ให้ความอบอุ่นและเสริม หยาง ช่วยให้ซี่มีการไหลเวียนได้ดีขึ้น 6.หญ้ากองลอย หรือสมุนไพรเจ๋อเซี่ย (Zexie; Rhizoma Alismatis) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alisma plantago-aquatica subsp. orientale (Sam.) Sam. จัดเป็นพืชน้ำ ใช้ทั้งต้นในปริมาณ 9 กรัม มีรสชาติ จืด อมหวาน คุณสมบัติเย็น ขับปัสสาวะ ขับความชื้น ระบายความร้อน 7.จูหลิง Zhuling (Polyporus Umbellatus) เป็นเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อเรียว่า “เห็ดขอนช้อนซ้อน” หรือเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “ไมตาเกะ” (Maitake) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Grifola frondosa (Dicks.) Gray ใช้ในปริมาณ 9 กรัม รสชาติจืด อมหวาน คุณสมบัติ สุขุม สรรพคุณ ระบายความชื้น ลดถ่ายเหลว ช่วยให้ปัสสาวะคล่อง บรรเทาอาการปัสสาวะขุ่น ลดบวม
8.สมุนไพรไป๋จู๋ (Baizhu; Rhizoma Atractylodis Macrocephalae) เป็นโกฐชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Atractylodes macrocephala Koidz. ใช้ในปริมาณ 9 กรัม มีรสชาติขมอมหวาน คุณสมบัติ อุ่น บำรุงซี่ เสริมม้ามให้แข็งแรง ขจัดความชื้น ระบายน้ำ ระงับเหงื่อ กล่อมครรภ์ 9.โป่งรากสน หรือ สมุนไพรฝูหลิง (Fuling; Poria) เป็นเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wolfiporia extensa (Peck) Ginns ใช้ในปริมาณ 15 กรัม มีรสชาติจืดอมหวาน มีคุณสมบัติสุขุม สรรพคุณขับน้ำ สลายความชื้น บำรุงม้าม สงบจิตใจ 10.สมุนไพรไฉหู (Chaihu; Radix Bupleuri) มาจากสมุนไพร 2 ชนิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bupleurum chinense DC. และ Bupleurum scorzonerifolium Willd. ใช้ส่วนรากในปริมาณ 16 กรัม ไฉหูมีรสชาติ ขมเผ็ด มีคุณสมบัติ เย็นเล็กน้อย ขับกระจายลดไข้ ผ่อนคลายระบบตับ และคลายเครียด ช่วยให้หยางซี่ขึ้นสู่ส่วนบน
11.อึ่งงิ้ม(ภาษาจีนแต้จิ๋ว) หรือหวงฉิน(ภาษาจีนกลาง) (Huangqin; Radix Scutellariae) ได้มาจากรากของสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scutellaria baicalensis Georgi พืชชนิดนี้เป็นพืชปลูกในไซบีเรีย มองโกเลีย ภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย จีน และเกาหลี รากแห้งเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ตรงกลางมีเส้นสีแดงอมน้ำตาล ใช้ในปริมาณ 6 กรัม มีรสชาติขม มีคุณสมบัติ เย็น สรรพคุณ ระบายความร้อน แก้ความชื้น ขับพิษร้อน ช่วยให้เลือดเย็นลง และห้ามเลือด แก้ตัวร้อน กล่อมครรภ์ 12.สมุนไพรปั้นเซี่ย (Jiang Ban Xia; Rhizome Pinelliae Preparata) ได้มาจากเหง้าของสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pinellia ternata (Thunb.) Makino ในเอกสารบางเล่มกล่าวว่าสมุนไพรชนิดนี้มีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า “โหราข้าวโพด” ใช้ในปริมาณ 9 กรัม มีรสชาติเผ็ดร้อน คุณสมบัติอุ่น มีพิษ (จำเป็นต้องฆ่าพิษก่อนนำมาใช้) สรรพคุณ ขจัดความชื้น ละลายเสมหะ ลดการไหลย้อนกลับของซี่ ระงับอาเจียน ละลายเสมหะที่จับเป็นก้อนเถาดาน 13.ขิง หรือ Sheng Jiang (Rhizama Zingiberis Recens) ไทยรู้จักกันดีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber officinale Roscoe ใช้ปริมาณ 9 กรัม รากขิงแก่สด มีรสชาติเผ็ด คุณสมบัติอุ่น สรรพคุณ ขับเหงื่อ ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยให้ปอดอบอุ่น ระงับไอ
14.จือหว้น (Ziyuanว Radix Asteris) เป็นกลุ่มดอกเอสเตอร์ เครื่องยาได้จากส่วนรากของสมุนไพรชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aster tataricus L.f. ใช้ในปริมาณ 9 กรัม มีรสชาติ เผ็ดอมหวานและขม คุณสมบัติอุ่น ให้ความชุ่มชื้นแก่ปอด ดึงซี่ลงต่ำ ละลายเสมหะที่เป็นสาเหตุของการไอทั้งไอเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งแบบเย็นร้อน พร่อง และแกร่ง บรรเทาอาการคันคอ เสมหะมีเลือดปน 15.ข่วนตงฮวา (Kuan Dong Hua; Flos Farfarae) เป็นส่วนดอกของสมุนไพรชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tussilago farfara L. ใช้ปริมาณ 9 กรัม มีรสชาติเผ็ดขมเล็กน้อย คุณสมบัติยาอุ่น ให้ความชุ่มชื้นระบบปอด ระงับอาการไอ ละลายเสมหะ 16.ว่านหางช้าง หรือ สมุนไพรเซ่อกาน (Shegan; Rhizoma Belamcandae) ใช้ส่วนเหง้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Iris domestica (L.) Goldblatt & Mabb. ใช้ปริมาณ 9 กรัม มีรสขมเย็น สรรพคุณ ระบายความร้อน ถอนพิษ ละลายเสมหะ ช่วยให้ลำคอโล่ง 17.ซี่ซิน (Xixin; Herba Asari) มาจากรากของสมุนไพรชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Asarum sieboldii Miq. ใช้ในปริมาณ 6 กรัม มีรสชาติเผ็ดร้อน มีคุณสมบัติอุ่น สรรพคุณสลายความเย็น เปิดทวาร แก้ปวด ให้ความอบอุ่นแก่ปอด ขับของเหลว
18.กลอยจีนหรือสมุนไพรซานเย่า (Shanyao; Rhizoma Dioscoreae) เป็นมันชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Dioscorea polystachya Turcz. Dioscorea เอกสารหลายฉบับมีความสับสนมักจะรายงานว่าเป็น Dioscorea oppositifolia L. ซึ่งเป็นกลอยอินเดีย ใช้ส่วนของรากแห้งปริมาณ 12 กรัม มีรสหวาน คุณสมบัติสุขุม มีสรรพคุณบำรุงซี่ บำรุงปอดและม้าม ไต เหนี่ยวรั้งสารจำเป็นบรรเทาอาการตกขาว 19.ผลส้มจีนหรือสมุนไพรจื่อสือ (Zhishi, Fructus Aurantii Immaturus) เป็นสมุนไพรที่ได้มาจากผลส้มจีน 2 ชนิด คือ Citrus aurantium L.และ Citrus sinensis (L.) Osbeck โดยนำผลส้มมาฝานตามขวางทำให้แห้ง ใช้ปริมาณ 6 กรัม มีรสขมเผ็ด มีคุณสมบัติเป็นยาเย็นเล็กน้อย สรรพคุณขับซี่ลงล่าง สลายก้อน สลายของเสียตกค้าง ละลายเสมหะ 20.เปลือกส้มจีน หรือ สมุนไพรเฉินผี (Chenpi; Pericarpium Citri Reticulatae) เป็นเปลือกแห้งของผลส้มที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus reticulata Blanco ใช้ปริมาณ 6 กรัม มีรสเผ็ดขม มีคุณสมบัติเป็นยาอุ่น สรรพคุณปรับและกายซี่ ปรับส่วนกลางของร่างกายให้เป็นปกติ ขับความชื้น ละลายเสมหะ 21.พิมเสนต้น หรือ ฮั้วเซียง (Huoxiang; Herba Pogostemonis) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pogostemon cablin (Blanco) Benth. ใช้ส่วนลำต้นที่อยู่เหนือดินในปริมาณ 9 กรัม สมุนไพรชนิดนี้มีรสเผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น สรรพคุณ สลายความชื้น ระงับการอาเจียน และระบายความร้อน
ดูจีนแล้วย้อนดูไทย ประเทศเมืองหนาวเช่นจีนใช้สมุนไพรถึง 21 ตัว แต่ในประเทศไทยเมืองร้อนตำรับยาที่ใช้ย่อมแตกต่าง เช่น ในภาคอีสานมีตำรับยาที่คล้ายกันนี้เรียกว่า “ยาซุมใหญ่” แก้ไข้หมากไม้ มีตัวยา 20 ชนิดขึ้นไปเหมือนกัน ภูมิปัญญาเรามีต้องมาช่วยกันศึกษานำมาตอบโจทย์คนไทยดีไหม