จิ๊บ หรือ กิตินาถ ทับเที่ยง กล่าวอย่างมั่นใจถึงสิ่งที่ค้นพบหลังเข้ามาเป็นอาสาสมัครนวดเด็กที่บ้านเด็กอ่อนปากเกร็ดตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ อาจเพราะชีวิตเติบโตมาอย่างเรียบง่าย จากโรงเรียนมัธยมในจังหวัดนครศรีธรรมราชบ้านเกิด สู่รั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กิตินาถไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมใดเลย เมื่อวัยล่วงถึง ๓๐ กว่าปี เธอจึงต้องการทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม ควบคู่กับการทำหน้าที่วิศวกรในงานประจำ
น้องที่กิตินาถให้การดูแลมาตั้งแต่อายุ ๑ขวบครึ่ง จนปัจจุบัน ๓ ขวบครึ่ง น้องวุธเป็นเด็กพิเศษ มีปัญหาทางสมอง พัฒนาการช้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาเรื่องการมองเห็น กิตินาถรับมาดูแลตั้งแต่ยังนั่งไม่ได้ ต้องเริ่มฝึกจากการให้ลุกนั่ง และฝึกการใช้สายตา กิตินาถพยายามฝึกน้องวุธให้ช่วยเหลือตนเอง แต่ละขั้นตอนล้วนยากลำบาก เพราะน้องวุธมีพัฒนาการช้ามาก กว่าจะลุกจากนอนมาเป็นนั่ง และกว่าจะนั่งได้เองโดยไม่ต้องจับก็ใช้เวลานานนับปี
ตลอดระยะเวลา ๒ ปีที่ฝึกให้น้องวุธช่วยเหลือตนเอง กิตินาถเพียรพยายามและคอยลุ้นด้วยความเป็นห่วงเสมอ หมั่นมาหาทุกวันอาทิตย์ จนกระทั่ง น้องวุธย้ายไปอยู่สถานสงเคราะห์แห่งใหม่คือ บ้านเด็กอ่อนพิการเฟื่องฟ้า ซึ่งอยู่ติดกับบ้านเด็กอ่อนปากเกร็ด กิตินาถยังตามไปดูแลอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ เพราะน้องวุธต้องอยู่รวมกับเด็กพิการในบ้านหลังเดียวกันประมาณ ๒๐คน ปะปนกันทั้งเด็กที่ช่วยเหลือตนเองได้และไม่ได้
ความยากลำบากที่ในการดูแลน้องวุธ อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยกายในบางครั้ง แต่พลังใจยังหนักแน่นไม่เคยเปลี่ยน “การดูแลเด็กไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เหนื่อยใจ แต่กลับทำให้มีแรงผลักดันในการเรียนรู้ที่จะทำสิ่งอื่นๆ ให้กับชีวิตเราด้วย เพราะเป็นกิจกรรมที่เราชอบ มีความสุขที่ได้ทำ และคิดว่าเรายังมีแรง มีศักยภาพเหลือพอจะทำอย่างอื่นได้อีก”
แม้มีอีกหนึ่งชีวิตให้ต้องดูแล แต่ชีวิตกิตินาถยังคงดำเนินไปตามปกติ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับตนเองคือการรู้จักใส่ใจคนอื่นมากขึ้น ทุกวันนี้นอกจากทำงานประจำและเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กแล้ว กิตินาถยังเรียนฝึกอาชีพทุกวันเสาร์ และไม่ลืมแบ่งเวลาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่มีพัฒนาการช้าด้วย “การเป็นอาสาสมัครทำให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องแบ่งเวลาให้ได้ จากเดิมใช้ชีวิตสบายๆ อยากทำอะไรก็ทำ แต่ทุกวันนี้ต้องแบ่งเวลาให้น้องด้วยส่วนหนึ่ง เหมือนมีคนที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เป็นห่วง อยากให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ”
ในอนาคตกิตินาถตั้งใจทำงานอาสาสมัครไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขเวลาของโครงการ เป้าหมายสำหรับการดูแลน้องวุธคือจนกว่าเขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ อย่างน้อยคือกินข้าวเองได้ เดินเองได้ เมื่อถึงระดับนั้นหรือมีคนรับไปอุปถัมภ์ กิตินาถก็จะรับดูแลเด็กคนอื่นต่อไป เพราะเธอมองเห็นแล้วว่าคุณค่าของการทำบุญคือการทำความดี โดยไม่เน้นเฉพาะการให้ทานสิ่งของกิตินาถยังฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า การรับอาสาสมัครดูแลเด็กในสถานสงเคราะห์อาจช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่เป็นเพียงการแก้ที่ปลายเหตุ หากมองในเชิงปัญหาสังคม เด็กถูกทิ้งต้องแก้ที่ต้นเหตุ โดยทุกหน่วยของสังคมต้องมีส่วนร่วมรับผอบ “แทนที่เราจะเปิดรับอาสาสมัครเพิ่ม หรือเปิดสถานสงเคราะห์เพิ่ม เราควรแก้ที่ต้นตอของปัญหา อาจเริ่มจากครอบครัวที่ต้องอบรมเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตเป็นคนดี”