เมื่อนักลงทุนต่างชาติได้รับการคุ้มครอง แต่ใครจะคุ้มครอง ปท.ไทย?

เมื่อ FTA มาถึง : นักลงทุนต่างชาติได้รับการคุ้มครอง แต่ใครจะคุ้มครอง ปท.ไทย?

ข้อเรียกร้องข้อสำคัญของสหภาพยุโรป ในการเจรจาเอฟทีเอกับไทย เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งคือ รัฐไทยต้องให้การคุ้มครองการลงทุนผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor State Dispute Settlement –ISDS) ที่ภาคเอกชน ภาคการลงทุน นักลงทุนข้ามชาติผลักดันกันสุดตัว สุดใจ

หัวใจของเจ้า ISDS คือการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องค่าเสียหาย หรือล้มนโยบายต่างๆที่รัฐบาลประกาศออกมา แม้จะต้องการปกป้องคุ้มครองสิทธิให้ประชาชน แต่ไปกีดขวางนายทุนข้ามชาติ ให้เขาได้รับกำไร “ที่คาดว่าจะได้” น้อยลง ราวกับว่ารัฐบาลไปยึดทรัพย์นายทุนเหล่านั้น แม้จะเป็นทรัพย์ในอนาคต (อันลางเลือน) ก็ตาม

กลไกที่ว่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ครั้งแรกใช้ในการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และพยายามจะผลักดันเพื่อใช้ให้มากขึ้นด้วย แต่ไม่มีใครเอาด้วย แต่อย่างไรก็ตามในกระบวนการการค้าโลกมีกลไกที่คล้ายๆกันอยู่อีก ที่เรียกกันว่า ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน หรือที่เรียกสั้นๆว่า BIT (Bilateral Investment Treaty)

BIT เป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่จะสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนข้ามชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ว่ารัฐบาลจะไม่ไปยึดทรัพย์ หรือมีนโยบายใดให้เขาเสียหาย เช่น จะไม่ไปเวนคืนที่ดินของพื้นที่อุตสาหกรรมของเขา เป็นต้น ซึ่งก็เข้าใจได้หากเป็นการยึดทรัพย์ทางตรงเช่นนั้น ใครๆ ก็ต้องการให้คุ้มครองอยู่แล้ว

แต่ความหมายของ “การยึดทรัพย์” ถูกตีความให้กว้างขวาง นัยยะดังกล่าวถูกขยายความไปถึงการยึดทรัพย์ทางอ้อม ซึ่งหมายถึง “ผลกำไรที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต” ด้วย

การให้นิยามอย่างกว้างขวางของ “นักลงทุน” ว่าอาจจะหมายถึงการมีหุ้นส่วนเพียงเล็กน้อย หรือการมาเปิดตู้ไปรษณีย์ ณ ประเทศไทยเพื่อการติดต่อก็นับเป็น “นักลงทุน” แม้จะไม่ได้มาลงทุนจริงก็ตาม

ตัวอย่างกรณีระดับโลก เช่น ออสเตรเลีย ถูกบริษัท ฟิลลิปส์ มอร์ริสซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อรัฐบาลออสเตรเลีย ในกรณีที่ออกนโยบายซองบุหรี่สีเดียวห้ามโฆษณาที่ซองบุหรี่ ให้ใส่ได้แต่ชื่อบริษัทเท่านั้น ไม่ให้ปรากฎรส กลิ่นและอื่นใด ในพื้นที่ 15% ส่วนอีก 85% ต้องเป็นรูปที่เตือนอันตรายจากการสูบบุหรี่ ซึ่งคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์

ประเด็นที่คนไทยคุ้นเคยและใกล้ตัว คือกรณีที่ถูกอายัดเครื่องบินที่สนามบินมิวนิค ประเทศเยอรมัน บริษัทวอลเตอร์ บาวสัญชาติเยอรมันในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย 30 ล้านยูโร ฐานที่รัฐบาลไทยขอให้บริษัทลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย และมีมาตรการไม่ให้บริษัทปรับขึ้นค่าผ่านทางแถมยังทุบไฟแดง สร้างเกือกม้ากลับรถให้คนมีทางเลือกไม่ขึ้นโทลล์เวย์

และแล้วอนุญาโตตุลาการก็ชี้ขาดให้ไทยแพ้คดีฐานทำกำไรของนักลงทุนหด ต้องชำระค่าเสียหาย ข่าวนี้เงียบฉี่ แต่ไทยต้องจ่ายค่าเสียหายจริงเป็นเงินกว่า 1,400 ล้านบาท และยังต้องเสียค่าดำเนินคดี ค่าทนาย ค่าจิปาถะ อีกกว่า 140 ล้านบาท

ตัวอย่างนี้เป็น 2 ในหลายพันกรณีทั่วโลก แม้รัฐบาลจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิประชาชน แต่หากไปทำให้ “กำไรที่คาดว่าจะได้” ของบริษัทน้อยลง บริษัทข้ามชาติก็มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลได้ แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย หากไม่ใช่ภาษีของเราทุกคน

กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน ไม่ใช่ศาลในประเทศ ไม่ใช่ศาลโลก แต่เป็นกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ 3 คนที่ทั้งสองฝ่ายเลือกกันมา และคนกลางที่สองฝ่ายเห็นร่วมกัน ซึ่งหมายความแบบเดียวกับที่ รัชกาลที่ 5 ทรงใช้คำว่า “เสียอิสรภาพนอกอาณาเขต” คล้ายกับว่าเราเสียเอกราชไปแล้วครึ่งตัว เมื่อยอมรับและทำตามความตกลงนี้

ข้อกำหนดนี้เป็น “ฝันของนักลงทุน” ที่อยากจะให้มีอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีทุกฉบับกับทุกประเทศ และแน่นอน บรรจุเป็นข้อเรียกร้องของการเจรจาเอฟทีเอ ระหว่างไทย กับสหภาพยุโรปครั้งนี้ด้วย

ไทยมีความตกลง BIT กับ 36 ประเทศทั่วโลก ในนั้นรวมความตกลงกับสหภาพยุโรป 13 ฉบับแล้ว แต่หากรัฐบาลไทยยอมรับข้อเรียกร้องในประเด็น ISDS จากการเจรจาการค้าครั้งนี้ ก็จะมีผลบังคับใหม่ที่ใหญ่ หนักหน่วงและสาหัสกว่าเดิมกับทุกประเทศในสหภาพยุโรปนั่นหมายถึง “รัฐไทยคงจะต้องเสียเอกราช” แล้วจริงๆในยุคนี้

ที่มา : ณัฐกานต์ กิจประสงค์ : มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
สถาบันอิศรา 23 ก.ย.56

บทความที่เกี่ยวข้อง

https://www.thefest.com/Images/acetoto888/ https://www.thefest.com/Images/acegaming888/ https://www.thefest.com/Images/plazaslot/
slot thailand