เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับแผนงานความมั่งคงทางอาหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนายเดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2556 เรื่องการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศและชุมชน ว่า ปัจจุบันพบว่าพืชพลังงาน เช่น ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา มีพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้นรวมประมาณร้อยละ 34 ขณะที่ข้าวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 ซึ่งเกิดจากทั้งปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น การส่งออกที่มากขึ้น เมื่อพิจารณาข้อมูลระหว่างปี 2553-2555 พบว่าพื้นที่การปลูกพืชประเภทผลไม้ลดลงประมาณ 3 แสนไร่ เท่ากับผู้ปลูกลดลงประมาณ 1 แสนครัวเรือน โดยการลดลงดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างไม่รู้ตัว เมื่อดูปริมาณการบริโภคผัก ผลไม้ พบว่าผู้ชายไทยร้อยละ 81 ผู้หญิงไทยร้อยละ 76 บริโภคผักผลไม้ไม่เพียงพอ
“พื้นที่ปลูกผักผลไม้ที่ลดลงจะกระทบต่อจำนวนการกินผักผลไม้คนไทย เพราะทำให้ราคาสูงขึ้น ในขณะที่เกษตรกรได้เงินน้อยเหมือนเดิม จึงเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชพลังงานแทน ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ 3 ใน 4 ของภาคใต้ปลูกพืชพลังงาน ทำให้อัตราการผลิตอาหารพอเพียงต่อครัวเรือนมีเพียงร้อยละ 2 โดยมีเพียง 2 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราชและพัทลุง ที่ปลูกข้าวได้เพียงพอสำหรับคนในพื้นที่ ทำให้คนในภาคใต้ต้องจ่ายเงินซื้ออาหารรองจากคน กทม. ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนรายได้น้อย ความมั่นคงทางอาหารจึงถือเป็นภัยเงียบที่จะเข้ามาแบบไม่รู้ตัว” นายเดชรัตกล่าว
ที่มา : มติชนออนไลน์ 14 มิ.ย.56