น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวการตรวจพบสารกันบูดในผลิตภัณฑ์ขนมจีน โดยมูลนิธิฯ สุ่มตรวจขนมจีนทั้งหมด 12 ยี่ห้อจากแหล่งซื้อต่างๆ พบว่าตัวอย่างเส้นขนมจีนที่นำมาทดสอบทั้งหมด มีการปนเปื้อนสารกันบูดตกค้างอยู่ บางยี่ห้อตกค้างเกินกำหนด อย.จากการประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281 พ.ศ.2547) กำหนดค่ามาตรฐานให้อาหารจำพวกพาสต้า ก๋วยเตี๋ยวและผลิตภัณฑ์จำพวกเดียวกัน ค่ามาตรฐานของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิก ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
ผลทดสอบ 12 ยี่ห้อจากตลาดย่านพระประแดง อตก. เกษตร ยิ่งเจริญ สะพานขาว รวมทั้งห้างดังย่านรัชดาฯ พบสารกันบูดทุกยี่ห้อ แต่ไม่เกินมาตรฐานร้อยละ 83.33 แม้สารนี้จะมีส่วนช่วยให้ยืดอายุอาหารและถูกจัดอยู่ในพิษประเภทปานกลาง ซึ่งร่างกายสามารถขับออกมาได้เอง แต่หากได้รับสารเหล่านี้เป็นประจำหรือสะสมในปริมาณมากเกินไป จะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตลดลง หรืออาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้
น.ส.สารี กล่าวอีกว่า แม้ขนมจีนจะเป็นอาหารกลุ่มทั่วไปที่ไม่ต้องมีฉลาก แต่จากผลการทดสอบพบว่าขนมจีนที่ขายไม่ว่าจะในตลาดหรือห้างมีสารกันบูด 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะขายในกรุงเทพฯ เท่านั้น ต่างจังหวัดก็มีสภาพไม่ต่างกัน ฉะนั้นถ้าเลือกทานแนะนำให้เลือกทานขนมจีนเส้นสดจะปลอดภัยที่สุด แต่เพื่อเป็นการเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่จะต้องได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริงทางมูลนิธิฯ เตรียมเสนอสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) กำหนดมาตรฐานให้มีการติดฉลากส่วนผสม รวมถึงปริมาณสารกันบูดให้ชัดเจนในสินค้าจำพวกขนมจีน และอยากให้ อย.ร่วมกับท้องที่ต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจมาตรฐานโรงงานผลิตเส้นขนมจีน อย่างน้อยเพื่อไม่ไห้มีสารกันบูดเกินค่ามาตรฐาน รวมถึงเร่งรัดให้ อย.พัฒนาระบบฐานข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบอาหารต่างๆที่ อย.เคยทำมาแล้วแก่สาธารณะ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบรายงานความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร เหมือนในประเทศยุโรป หรือแม้แต่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมีใช้แล้ว
ที่มาข่าว : สำนักข่าวไทย 8 มี.ค.2559