หมอพื้นบ้านมาก่อนกาล หรือพูดได้ว่าก่อน “การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26” ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร มีผู้นำจาก 100 ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นและข้อตกลงว่าจะร่วมกันทำงานเพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 – 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยระงับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี หนึ่งในวิธีที่ช่วยลดโลกร้อน คือ การลดการตัดไม้ทำลายป่าและช่วยกันปลูกป่าเพิ่มหรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุด
หมอพื้นบ้านคือกลุ่มคนหนึ่งที่สืบสายธารภูมิปัญญาท้องถิ่นจากอดีตสู่ปัจจุบัน ที่เป็นนักปลูกและอนุรักษ์พันธุ์พืช แม้ว่าหมอพื้นบ้านต้องออกหาตัวยาสมุนไพร ทั้งตัดใบ กิ่ง แก่น หรือขุดเหง้าหัวเพื่อมาปรุงยาแต่ก็ไม่ใช่นักล่าล้างเผ่าพันธุ์พืช หมอพื้นบ้านจะนำเอาตัวยามาใช้เท่าที่จำเป็น และที่สำคัญยังปลูกเพิ่มทั้งในที่ตนเองและป่าในหมู่บ้านหรือพื้นที่สาธารณะในชุมชนด้วย
จากรายงานการศึกษา “ป่าชุมชนกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ” ของ พยอม ดีน้อย ที่นำเสนอในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 พบว่า หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้รู้ เป็นปราชญ์ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นคณะกรรมป่าชุมชน และเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนด้านสมุนไพรเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของคนทั้งในและนอกชุมชน ตำรับยาสมุนไพรที่พบว่ายังมีการรักษาอยู่ในปัจจุบัน คือ (1) ตำรับยารักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (2) ตำรับยาบำรุง (ร่างกาย/เลือดและลม/น้ำนม) (3) ตำรับยาดูแลสตรีหลังการคลอดบุตร (4) ตำรับยาลม (5) ตำรับยารักษาเบาหวาน (6) ตำรับยารักษาความดัน เป็นต้น นอกจากนี้ หมอพื้นบ้านจะมีตำรับยาสมุนไพรประจำตระกูล แต่ละตำรับมีจำนวนสมุนไพร 5-10 ชนิด ปริมาณการใช้สมุนไพรนั้น หมอหนึ่งคนจะเก็บสมุนไพรแต่ละชนิดไว้ในคลังยาของหมอประมาณ 20-50 กิโลกรัมต่อปี และดูแลรักษาคนไข้ประมาณ 5-10 คนต่อเดือน หมอบางคนดูรักษาคนไข้มากกว่า 50 คนต่อเดือน หมอพื้นบ้านในแต่ละชุมชนมีประมาณ 5-10 คน
จากการสำรวจของมูลนิธิสุขภาพไทย ในคราวการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562 ก็พบเช่นกันว่าในพื้นที่ป่าชุมชน 8 แห่ง ในเขตภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ หมอพื้นบ้านยังคงมีบทบาทในการดูแลสุขภาพคนในชุมชน และต่อมาได้ร่วมขับเคลื่อนงานกับสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การทำงานขับเคลื่อนและลงพื้นที่ 5 จังหวัดมาตั้งแต่ปลายปี 2563 กับเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แพร่ อุดรธานี บุรีรัมย์และพัทลุง
ผลการดำเนินงานเบื้องต้นกับการค้นหาหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์รักษานานเกิน 10 ปี (หลายคนมากกว่า 20 ปี) ซึ่งคัดกรองหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์จังหวัดละ 30 คน โดยเกณฑ์สำคัญคือหมอพื้นบ้านทั้งหมดนี้ยังทำงานให้บริการดูและสุขภาพคนในชุมชนเสมอมา ขณะนี้พบตำรับยาทั้งหมด 343 ตำรับ ซึ่งใช้สมุนไพรถึง 556 ชนิด ซึ่งพบสมุนไพรที่ใช้ในตำรับยาบ่อยๆร่วมกันของทั้ง 5 จังหวัดใน 10 อันดับแรก ได้แก่ ฝาง ไพล กำแพงเจ็ดชั้น พริกไทย หญ้าคา ขมิ้นชัน เปล้าใหญ่ ฮ่อสะพายควาย ข้าวเย็นเหนือ นอกจากนี้แต่ละจังหวัดก็มีสมุนไพรที่หายากที่ต้องเร่งอนุรักษ์หรือปลูกเพิ่ม เช่น จังหวัดเชียงรายควรเพิ่มต้นกำแพงเจ็ดชั้น กำลังเสื้อโคร่ง ฯลฯ จังหวัดแพร่หายากแล้วคือ ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ฯลฯ จังหวัดอุดรธานีหายากคือต้น ตากวง ตาไก้ ฯลฯ จังหวัดบุรีรัมย์ควรเพิ่ม ต้นนมสาว(มะไฟแรด) สบู่เลือด ฯลฯ จังหวัดพัทลุงที่ส่งเสริมให้ปลูก ประดงเลือด ประดงข้อ ฯลฯ และมีการสำรวจสมุนไพรที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจอีกด้วย
ตัวอย่างน่าสนใจของหมอสวาท จันทร์แดง หมอพื้นบ้านจังหวัดพัทุลง ได้มีการปลูกสมุนไพรในพื้นที่ของตนเอง โดยปลูกร่วมกับยางพารา เมื่อเดินเข้าไปในสวนยางของหมอสวาท จะพบต้นปลาไหลเผือกปลูกเรียงกัน 2 ข้างทางเดิน และมีสมุนไพรอื่นๆ อีกหลายสิบชนิด เป็นพื้นที่เรียนรู้สมุนไพรของนักศึกษาแพทย์แผนไทยในพื้นที่ สำหรับเครือข่ายหมอพื้นบ้านจังหวัดแพร่กำลังส่งเสริมให้มีการปลูกฮ่อม เพราะเป็นทั้งสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากปริมาณต้นฮ่อมลดลงมาก เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ฮ่อมไม่ใช่แค่ใช้ย้อมผ้าเท่านั้น ในภูมิปัญญาท้องถิ่นใช้ฮ่อมมาตำและพอกฝ่ามือ ฝ่าเท้า เพื่อลดไข้ด้วย
นอกจากนี้มีตัวอย่าง ตำรับยาบำรุงกำลังของหมอชาญณรงค์ เต๋จะปิก จ.แพร่ ประกอบด้วย ม้ากระทืบโรง กำแพงเจ็ดชั้น ปลาไหลเผือก ฮ่อสะพายควาย เจ็ดกำลังช้างสาร ฝางเสน หัวยาข้าวเย็นเหนือ นำมาต้มกินน้ำบำรุงร่างกายดีนัก
การอนุรักษ์และปลูกสมุนไพรในพื้นที่ควรเรียนรู้จากหมอพื้นบ้าน ซึ่งจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่หมอพื้นบ้านทุกคนมีจิตวิญญาณในการเก็บรักษาต้นไม้เพราะกลัวสูญพันธุ์