20 ก.พ. 2557 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจัดประชุมวิชาการเตือนภัยสารเคมีประจำปี 2557 ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยมีนักวิชาการ หน่วยงานของรัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบการเข้าร่วมมากกว่า 400 คน
นพ.พิบูล อิสสระพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการตรวจเลือดของเกษตรกรตั้งแต่ปี 2554-2556 พบว่าความเสี่ยงของเกษตรกรยังอยู่ในระดับสูง โดยเกษตรกรประมาณ 30% มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเลือดในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย และยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงแต่ประการใด ส่วนอัตราการตายของประชาชนจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นอยู่ในระดับ 1 คนต่อแสนคนซึ่งสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากโรคไข้เลือดออกมาก
จากการประมวลของสำนักโรคฯ พบว่าประชาชนที่มีอัตราการเจ็บป่วยจากสารเคมีสูงที่สุด สิบอันดับแรกได้แก่ อ่างทอง กำแพงเพชร จันทบุรี อุทัยธานี พิจิตร สุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ ตาก น่าน และแม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางด้านตะวันตก
นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอผลงานการศึกษาเพื่อประมวลความเป็นพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยซึ่งมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนและได้นำมาใช้ในประเทศไทยจำนวน 406 ชนิด โดยประเมินความเป็นพิษเฉียบพลัน ผลกระทบระยะยาวที่ทำให้เกิดมะเร็ง การก่อกลายพันธุ์ ผลต่อระบบสืบพันธุ์ ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากฐานข้อมูลขององค์การอนามัยโลก สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อประเมินว่ามีสารเคมีชนิดใดที่ควรเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายกเลิกการใช้ในประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยควรยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งสิ้นรวม 155 ชนิด
ในจำนวนนั้นมีสารที่ควรยกเลิกโดยเร็วจำนวน 14 ชนิดได้แก่ คาร์โบฟูราน เมททิลโบรโมด์ ไดคลอวอส แลมดาไซฮาโลทริน เมธิดาไธออน เมโทมิล โอเมโทเอท เซตต้าไซเปอร์เมทริน เอนโดซัลแฟนซี.เอส. อัลดิคาร์บ อซินฟอสเมทิล คลอไพรีฟอสเอทิล เมธอกซ์ซิคลอร์ และพาราควอท ทั้งนี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะได้ขับเคลื่อนเพื่อให้มีการยกเลิกสารดังกล่าวเป็นลำดับต่อไป
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จัดเป็นต้นทางสำคัญของปัญหาอาหารผัก ผลไม้ไม่ปลอดภัย ประมาณการณ์ว่าหากสามารถยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตามข้อเสนอข้างต้น จะสามารถลดการปนเปื้อนในอาหารไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
อนึ่งเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ ไทยแพน (Thai-PAN) เป็นเครือข่ายซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักวิชาการ องค์กรสาธารณประโยชน์ เกษตรกร โดยที่ผ่านมาได้รณรงค์ให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีที่อันตรายร้ายแรง 4 ชนิด ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติให้มีการยกเลิกการใช้แล้ว 2 ชนิดคือ อีพีเอ็น และไดโครโตฟอส ส่วนสารเคมีอีก 2 ชนิด คือ เมโทมิล และคาร์โบฟูราน นั้น แม้ยังไม่มีการประกาศห้ามใช้ แต่กรมวิชาการเกษตร ยังไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนแต่ประการใด
ที่มา : ประชาไท 20 ก.พ.57