ปัญหาเด็กกับความรุนแรงในสังคมไทยส่งผลในหลายรูปแบบทั้งความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงในด้านอื่นๆ โดยจะเห็นได้จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ กรณีลูกฆ่าพ่อแม่และพี่น้องของตนเอง เขาไม่ได้เป็นโรคจิตเภทเสมอไป แต่อาจจะเป็นโรคทางจิตวิญญาณ ในแง่การพัฒนาทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมบกพร่อง เนื่องจากสังคมปัจจุบันมุ่งเน้นไปในด้านเศรษฐกิจ และวัตถุ ทำให้พ่อแม่ไม่ค่อยมีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ซึ่งแพทย์ชี้ว่าปัญหาความรุนแรงนี้เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงดูของ พ่อแม่ การแข่งขันทางด้านการศึกษา การมุ่งเน้น ทางด้านรายได้ ด้านเศรษฐกิจ และค่านิยมที่เปลี่ยนไป
รองศาสตราจารย์ นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน เด็กบางคนอารมณ์ดี สนุกสนาน ร่าเริง ด้วยตัวพื้นฐานของเขาเอง เด็กบางคนหงุดหงิดง่าย ไม่ว่าจะเกิดจากยีนของเขา หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะแม่ที่มีความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ทำให้เป็นพิษ ต่อเซลล์ประสาท และเซลล์สมองไม่ปกติ ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ นอกจากนี้แม่ที่มี ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ภาวะแท้งคุกคาม มีเลือดออก ครรภ์เป็นพิษ คลอดเด็กก่อนกำหนด หรือแม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า มีผลต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น ความสามารถในการควบคุมตนเองบกพร่อง
อีกปัจจัยหนึ่ง คือเด็กบางคนป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคที่มีผลต่ออารมณ์โดยตรง ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์แปรปรวน (Bipolar disorder) ทำให้การควบคุมต่างๆ บกพร่อง ในกรณีอาการโรคซึมเศร้าเกิดกับผู้ใหญ่จะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ใจ ไม่มีความสุข อยากตาย
แต่ถ้าโรคซึมเศร้าที่เกิดกับวัยรุ่น จะมีอาการ เหมือนเป็นคนขี้รำคาญ หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี ใครพูดอะไรไม่ถูกใจก็จะโกรธง่าย ระเบิดอารมณ์ง่าย
การที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกตั้งแต่แรกเกิดมีความสำคัญมาก คนทั่วไปมักจะคิดว่าเด็กเล็ก ไม่รู้เรื่องอะไร ไม่รู้ภาษาอะไร ยังไม่ต้องให้ความสำคัญในการเลี้ยงดู แท้จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิด ในช่วงเวลาที่สำคัญคือ ตั้งแต่อายุ 1-3 ขวบแรกในชีวิตที่ลูกมีความต้องการความรักความอบอุ่น ความเอาใจใส่จากพ่อแม่แม่ ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นทำให้เด็กมีความผูกพันทางอารมณ์กับแม่ดีมาก ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีอารมณ์ที่ผูกพันต่อกัน มากขึ้น แม่ควรมีสุขภาพจิตที่ดี มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน จึงจะทำให้ลูกมีความสามารถในการควบคุมตนเอง ได้ดี (Self-regulation) ปัจจุบันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทั้งพ่อและแม่ต่างออกไปทำงานนอกบ้าน และการทำงานนี้ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของลูกไม่ว่าทางด้านร่างกายหรือจิตใจ เมื่อพ่อแม่มีความกดดันเยอะ ความอ่อนโยนที่จะทำให้ลูกผูกพันก็น้อยลง ความเครียดก็มีผลทำให้เกิดความวิตกกังวล ดังนั้นพ่อแม่อาจจะต้องทำงานจำกัดเวลา ถ้าเต็มวันต้องไม่เกิน 6 ชั่วโมง เวลาที่เหลือคือ เวลาที่สามารถกลับไปอยู่กับลูกได้มากขึ้น ควรมีนโยบายสนับสนุนการรณรงค์และการให้ความรู้วิธีการดูแลเด็กที่ถูกต้อง เมื่อเด็กมีพื้นฐานดีทุกอย่างก็จะออกมาดี แต่เพียงแค่นี้ก็ ไม่ได้หมายความว่า
จะเพียงพอแล้ว พ่อแม่ยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ทำสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมให้ลูกเห็น วัยรุ่นที่มีความรุนแรงส่วนใหญ่คิดว่าตนเองไม่มีอะไรดีพอ (Self Esteem) และเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ พ่อแม่ไม่สามารถทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองได้ เพราะไม่มีเวลา และตามใจลูก เวลาที่เด็กมีปัญหาจึงแสดงออกทางอารมณ์ได้ง่าย สิ่งที่สังคมมุ่งเน้นอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ทางด้านการศึกษาที่ เน้นการแข่งขันทางด้านการเรียนการสอน การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่าวัดผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเป็นคนดี การสอนเด็กทางด้านการเสียสละ มีน้ำใจ จิตอาสา คุณธรรม และจริยธรรมก็มีน้อยมาก เพราะโรงเรียนไปวัดผลที่คะแนนเพียง อย่างเดียว เด็กจำนวนมากต้องเรียนกวดวิชา เด็กบางคนต้องเรียนทุกวัน
ส่วนเด็กที่ได้รับการยอมรับจากครู และผู้ใหญ่คือเด็กที่เรียนดี เด็กที่เรียนไม่ดีคือเด็กที่ไม่ได้รับการยอมรับสังคมไทยเป็นสังคมที่ต้องการการยอมรับ ถ้าเขาไม่ได้รับการยอมรับก็จะไปกับเด็กที่เกเร เพื่อนที่เกเรจะเปิดใจ และยอมรับเขา ยิ่งเขาไปแข่งมอเตอร์ไซค์แว๊นชนะ หรือว่าชกต่อยกับใครชนะ เพื่อนจะบอกว่าเก่ง หรือใช้ยาเสพติดเพื่อนจะบอกว่าเจ๋งมาก ถ้าเป็นเด็กที่เรียนเก่งก็จะรู้สึกว่าตนมีคุณค่าที่เรียนเก่ง แต่เด็กที่เรียนไม่เก่งก็เอาแต่ดูทีวี เล่นเกมส์ ไม่ช่วยงานบ้าน และในขณะที่เด็กทำอะไรได้ดี พ่อแม่ก็ไม่ค่อยชม อีกทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ทำอะไรที่มีคุณค่า สื่อเทคโนโลยีก็เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นเกม อินเทอร์เน็ต ทำให้เด็กเข้าถึงข้อมูลด้านลบในเรื่องความรุนแรงได้ง่าย ทางภาครัฐ ควรเข้ามาควบคุมดูแลโดยมีรหัสประจำตัว (Identification:ID) และกำหนดให้เด็กสามารถเล่นเกมได้วันละ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นระบบจะตัดและไม่สามารถเข้าใช้งานได้อีก เป็นเรื่องที่สังคมต้องแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เพราะปัญหาเด็กกับความรุนแรงไม่ใช่แค่ปัญหาระดับครอบครัว แต่เป็นปัญหาระดับประเทศ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรตระหนักในเรื่องเหล่านี้ ศึกษาสาเหตุ และ วิธีการแก้ไข ช่วยกันกระตุ้นเตือน และปลุกเร้า จิตสำนึกให้ทุกคนร่วมมือกันกันแก้ปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะเกินเยียวยา
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 5 ต.ค.2557