“ข่อย” เป็นพืชสมุนไพรในตระกูล Moraceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Streblus asper Lour หรือ Streblus lactescens Blanco หรือ Carius Lactescens Blanco เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายอย่าง ประโยชน์ของข่อยต่อช่องปากที่มีรายงาน เช่น ในอินเดียใช้กิ่งข่อยอ่อนทุบให้นิ่มใช้เป็นไม้สีฟัน ทำให้ฟันแน่นทน ในประเทศอื่นๆ ใช้น้ำต้มจากเปลือกข่อยต้มกับเกลือ เป็นยาอมแก้เหงือกอักเสบ ในประเทศไทยพบว่ามีการใช้กิ่งข่อยสีฟัน ใช้น้ำยางจากต้นข่อยผสมเกลือใส่ฟันหรือถูบริเวณที่ปวดฟัน เหงือกบวม จะแก้อาการเจ็บปวดได้ นอกจากนั้น ข่อยยังมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี โดยสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ในคลองรากฟันและเชื้อก่อโรคปริทันต์ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่ม Streptococci โดยเฉพาะเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส มิวแทนส์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดแผ่นคราบจุลินทรีย์และโรคฟันผุ
การวิจัยพบว่า “ใบข่อย” มีสารอันเป็นประโยชน์ในการลดการอักเสบในเหงือก ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากได้ จึงได้พัฒนาสารสกัดจากใบข่อยเป็นเจลสำหรับใส่ในร่องลึกปริทันต์ โดย รศ.ดร.ทพญ.สุวิมล ทวีชัยศุภพงษ์ ภาควิชาวินิจฉัยโรคช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ รศ.ดร.วัชรี คุณกิตติ, รศ.ดร.บังอร ศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ รศ.ดร.ทพญ. นวรัตน์ วราอัศวปติเจริญ และ ผศ.ทพญ.วราภรณ์ สุวรรณรงค์ ภาควิชาปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ พร้อมจดอนุสิทธิบัตร
คณะผู้วิจัยได้รายงานผลการใช้น้ำบ้วนปากผสมสารสกัดจากใบข่อยในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี ซึ่งพบว่าสามารถลดปริมาณเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส มิวแทนส์ ในช่องปากได้ โดยไม่ทำให้ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์โดยรวมในช่องปากเปลี่ยนแปลง ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณแคลเซียม ค่าความเป็นกรด-ด่าง และความจุบัพเฟอร์ของน้ำลาย นอกจากนี้ ยังพบว่า การบ้วนปากด้วยสารสกัดจากใบข่อยเช้า-เย็น โดยไม่แปรงฟันเป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน สามารถลดการอักเสบของเหงือกได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับการบ้วนปากด้วยน้ำกลั่น
จากการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในอาสาสมัครที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบ โดยใช้สารละลายของสารสกัดจากใบข่อยฉีดล้างในร่องลึกปริทันต์ภายหลังการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ก็พบว่า สามารถลดการอักเสบของเหงือก และลดเชื้อก่อโรคปริทันต์ได้ กลุ่มผู้วิจัยจึงได้พัฒนาสารสกัดจากใบข่อยเป็นเจลสำหรับใส่ในร่องลึกปริทันต์ (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 2141, พ.ศ.2548) และทำการทดสอบในอาสาสมัคร พบว่า มีความปลอดภัยทางคลินิก สามารถลดการอักเสบของเหงือกและสามารถลดเชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จิงจิวาลิส (Porphyromonas gingivalis) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคปริทันต์ได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า สารสกัดจากใบข่อยมีคุณสมบัติในการลดการยึดเกาะของเชื้อแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) ต่อเซลล์เยื่อบุผิวกระพุ้งแก้มและฟันเทียมฐานอะคริลิก (denture acrylic) ได้ด้วย
แม้จะมีรายงานการศึกษาที่พบว่าสารสกัดจากใบข่อยสามารถยับยั้งการเจริญเติบโต หรือทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคฟันผุและโรคปริทันต์ได้ แต่การศึกษาดังกล่าวข้างต้นได้ทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากใบข่อยต่อเชื้อที่อยู่ในรูป planktonic cells ด้วย ซึ่งไม่ใช่เชื้อที่อยู่ในรูปแบบไบโอฟิล์ม เนื่องจากมีรายงานการศึกษามากมายที่บ่งชี้ว่า เชื้อแบคทีเรียที่สามารถสร้างไบโอฟิล์มและเจริญเติบโตอยู่ภายในไบโอฟิล์มมีความต้านทานต่อ antibodies, antibiotics และ antibacterial agents ต่างๆ ได้ดีกว่าแบคทีเรียชนิดเดียวกันที่อยู่เป็น planktonic cells ดังนั้น หากสามารถยับยั้งหรือลดการสร้างไบโอฟิล์มได้ จะสามารถลดการเกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์อักเสบหรือทำให้การดำเนินโรคช้าลง
ทั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดจากใบข่อยที่ความเข้มข้น 60-150 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งการสร้างไบโอฟิล์มได้ตั้งแต่ 2-8 วัน อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นซึ่งจะต้องดำเนินการวิจัยในระยะต่อไป
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?