อากาศสลับเย็นสลับร้อนทำให้ร่างกายเราปรับตัวไม่ค่อยทันก็จะมีอาการหวัดน้อย ๆ ได้ง่าย ประกอบเข้าฤดูแล้งอากาศแห้งปัญหาฝุ่นจิ๋วอันตราย หรือ PM 2.5 ก็กำลังบุกมาประชิดตัวคอยทำลายสุขภาพของเรา ทำให้นึกถึงไร่ข้าวโพดและไร่อ้อยที่ตกเป็นจำเลยสังคม เพราะการปลูกจำนวนมากป้อนอุตสาหกรรมอาหารก็จะต้องมีการเผาทำให้เกิดมลพิษ ทั้ง ๆ ที่แหล่งสร้าง PM 2.5 ภาคโรงงานอุตสาหกรรมก็มี ด้านขนส่งปล่อยฝุ่นพิษก็ไม่น้อย
เมื่อนึกถึงไร่อ้อย ก็ขอทำความเข้าใจระหว่างอ้อยที่ปลูกส่งเข้าโรงงานทำน้ำตาล กับสมุนไพรโบราณที่เรียกว่า อ้อยดำ หรือ อ้อยแดง เพราะถ้าแยกตามชื่อวิทยาศาสตร์ อ้อย 2 ชนิดนี้ไม่เหมือนกัน อ้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saccharum Officinarum L. แต่ที่ใช้เป็นยาสมุนไพรดั้งเดิมและหมอพื้นบ้านนำมาใช้กันทั่วไปด้วยนั้น คือ อ้อยแดงหรืออ้อยดำ ที่มีลำต้นและเส้นกลางใบเป็นสีแดงหรือสีดำแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ทางการว่า Saccharum sinense Roxb. อ้อยที่แต่โบราณนำมาทำยานี้ ปัจจุบันมีการสืบค้นได้ว่า การตั้งชื่อแสดงถึงถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน และไต้หวัน เขาจึงตั้งชื่อ sinense ซึ่งคำว่า sino หรือ sinense หมายถึงประเทศจีนนั่นเอง แต่นักประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า อ้อยแดงหรืออ้อยดำนี้เป็นพืชพื้นเมืองพันธุ์ไทยแท้ ดูได้จากในราชสำนักไทยเคยส่งอ้อยแดงไปเป็นบรรณาการให้ทางเมืองจีนเมื่อราว 400 ปีก่อนแล้ว และชาวจีนเห็นคุณค่ารักษาอ้อยแดงพันธุ์ไทยไว้เป็นอย่างดี จนนักวิชาการไปพบจึงตั้งชื่อให้ในถิ่นที่พบยกให้จีนไป
อ้อยดำ จึงเป็นพืชท้องถิ่นมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย นำมาปรุงยาต้องหาต้นทีมีสีม่วงดำมาอนุรักษ์พันธุ์ไว้ และถ้าได้ปอกเปลือกลองกินก็จะพบว่าน้ำภายในลำต้นมีรสจืด มีรสหวานบ้างแต่น้อยและปนรสขมด้วย หากดูตามรสยาก็พบว่ามีทั้ง จืด หวานน้อยและขมนิด ๆ ในตำรายาไทย ใช้อ้อยดำ ช่วยขับปัสสาวะ แก้นิ่ว อาการไอ แก้ไข้ คอแห้ง กระหายน้ำ ถ้าใช้แก้นิ่วและแก้ปัสสาวะขัด ให้นำยอดอ้อยดำ 3-4 ยอด ตัดเอาใบออก สับยอดเป็นท่อนเล็ก ๆ เติมน้ำ 4-5 แก้ว ต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที ดื่มขณะอุ่นครั้งละ 1 แก้ว ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือจะใช้ลำอ้อยที่ไม่ปอกเปลือกหรือโคนอ้อยที่มีรากติดอยู่ นำมาสับต้มกินก็ได้ผลเช่นกัน
แก้ไข้ แก้ไอ แก้หวัด เสมหะติดคอ ให้นำอ้อยแดงที่ยังไม่ปอกเปลือกขนาด 3 ข้อ มาเผาไฟจนร้อน สังเกตจากฟองที่ปุดออกมาทางปลายทั้งสองข้าง รอให้หายร้อนปอกเปลือกออกนำมาเคี้ยวกินขณะอุ่น ๆ อาจจิ้มเกลือกิน ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ แก้เสียงแหบแห้ง และถ้ากินอ้อยดำควั่นจิ้มเกลือเป็นของกินเล่นทั้งวัน หรือกินทุก ๆ 3 ชั่วโมง ครั้งละ 2-3 ควั่น ช่วยแก้อาการไข้หวัดให้ทุเลาลงได้ ภาคใต้ของเรายังมีฝน ภาคเหนือเริ่มหนาวอย่างนี้ ลองหาอ้อยแดง ยาโบราณกินไว้แก้หวัดได้
ในตำรับยาตามคัมภีร์ดั้งเดิม เรียกว่า พิกัดเบญจมฤต แปลความได้ว่า ตำรับยาดังน้ำทิพย์ มีตัวยาห้าชนิด (เบญจ) คือ น้ำนมสด น้ำสมสายชู น้ำอ้อย น้ำผึ้ง และน้ำมันเนย สูตรยานี้ใช้ชูกำลัง บำรุงไฟธาตุ ขับลมให้แล่นทั่วร่างกาย แก้ไข้ตรีโทษ แก้กำเดาและลม กระจายเสมหะ และในสูตรยาพื้นบ้านมีการนำอ้อยดำผสมกับแก่นปีบ หัวยาข้าวเย็น ต้มดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงเลือด แก้ช้ำบวม ตำรับยาของหมอพื้นบ้านที่ จ.แพร่ พ่อหมอแหว หล้าวัน ใช้อ้อยดำ หัวยาข้าวเย็นเหนือ ใบเตย ต้มเป็นยาแก้เมื่อย และมีอาการชามือชาเท้า ดื่มเช้าเย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ และตำรับยาของหมอชาลี ขวัญเมือง ใช้อ้อยดำ มะเฟืองทั้ง 5 มะแฮะเลือด ว่านงาช้าง โคกกระสุน /หญ้าถอดปล้อง จาวตาลแหลม (ปลายของปลีตาล)/ หญ้างวงช้าง แก้นิ่วในไต ต้มดื่มเช้าเย็นหลังอาหารแก้ตกขาว ในประสบการณ์การใช้ของแพทย์แผนไทยบางแห่งเริ่มกล่าวถึงว่าใช้อ้อยดำ(ไม่ใช่อ้อยทั่วไป) ช่วยลดน้ำตาลในเลือดด้วย
จากการขับเคลื่อนงานของมูลนิธิสุขภาพไทย ในพื้นที่จังหวัดแพร่ก็พบการปรับประยุกต์นำเอาสูตรยาของหมอแหว หล้าวัน ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านชาวกะเหรี่ยงนำเอาสูตรยา อ้อยดำ หัวยาข้าวเย็นเหนือ ใบเตย มาปรับสูตรเพราะหัวยาข้าวเย็นเหนือที่เริ่มหายากในธรรมชาติ จึงนำแก่นฝางเสน (Caesalpinia sappan L. ) ซึ่งเป็นสมุนไพร รสขื่นขม หวาน ฝาด และสรรพคุณเช่น บำรุงโลหิต แก้ธาตุพิการ แก้ร้อน เป็นต้น นำฝางเสนมารวมเป็นสูตรอ้อยดำ ฝางเสน ใบเตย เป็นสูตรยาต้มสีสวยงาม กินง่ายรสชาติดี เป็นเครื่องดื่มร้อนดื่มได้ทั้งวัน หรือเวลามีการประชุมก็เสิร์ฟแทนน้ำชากาแฟ เป็นการลดเครื่องดื่มน้ำหวานต่าง ๆ ด้วย
ใบเตย (Pandanus amaryllifolius Roxb.) มีกลิ่นหอม ตามสรรพคุณแก้ไข้ แก้อ่อนเพลีย ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดความดันโลหิต และในตำราโบราณพบว่านำใบเตย 32 ใบ และใบต้นสัก 9 ใบ นำมาสับและนำไปตากแดดให้แห้ง ทำเป็นชาชง หรือใช้รากใบเตย ประมาณ 1 กำมือนำมาต้มดื่มเช้า-เย็น มีส่วนช่วยลดน้ำตาลในเลือด
สรรพคุณสมุนไพร 3 ชนิด อ้อยดำ ฝาง ใบเตย ที่เครือข่ายหมอพื้นบ้านจ.แพร่ กำลังส่งเสริมและต้มกินกันประจำ พร้อมกับโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจากอาหารซื้อกินเองมาเป็นทำอาหารท้องถิ่นกินผักพื้นบ้าน และต้มน้ำสมุนไพร ชนิดนี้ พบว่าช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น เบาหวานและความดันก็ทุเลาเบาบางใช้ชีวิตปกติขึ้น
อากาศเปลี่ยนและอุณหภูมิเย็น ต้มเครื่องดื่มร้อนกินบำรุงสุขภาพกันนะ.