หลังจากมีกระแสข่าวว่านายกรัฐมนตรีสั่งการให้รัฐมนตรี 3 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม หารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 และ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยมีกำหนดหารือนัดแรกในวันที่ 11 เมษายนนี้
เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) เปิดเผยว่า รู้สึกแปลกใจและต้องการตั้งคำถามว่ารัฐบาลมีเป้าประสงค์อะไร เหตุใดจึงไม่จบ “ใครคือมือที่มองไม่เห็น เพราะกรณีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้แต่งตั้ง นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธานปรับปรุงระเบียบ สสส.ในประเด็นต่างๆ จำนวนกว่า 26 ข้อ เพื่อป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จนผ่านมติบอร์ด สสส.และมีผลบังคับใช้ จนเป็นที่มานายกฯ ลงนามปลดล็อกการตรวจสอบ สสส. และเข้าสู่การบริหารงานปกติ ดังนั้น ในนามภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน จึงออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ พ.ร.บ.กองทุน สสส. และขอให้รัฐบาลยุติความพยายามดังกล่าว ขณะนี้เครือข่ายฯ กำลังจับตาดูอยู่ว่าเบื้องหลังภารกิจตัดตอน สสส.รวมทั้ง สปสช. คืออะไรกันแน่ เพราะรู้ว่ามีกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นทีมและเล่นต่อเนื่อง มีการชงข้อมูลเท็จต่อผู้ใหญ่ มีนักวิชาเกินขาประจำออกมาสาดโคลนผ่านสื่อชนิดเล่นไม่เลิก” นายคำรณ กล่าวและว่า หลักการสำคัญร่วมกันของ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับนี้ คือ การปฏิรูประบบสุขภาพของไทย
“การทุบทำลายกันแบบนี้ เพราะการปฏิรูประบบสุขภาพทำให้ธุรกิจเหล้า บุหรี่ แพทย์พาณิชย์ ธุรกิจยา และอาหารทำลายสุขภาพ เดือดร้อนใช่หรือไม่ คำถามคือ รัฐบาลจะปกป้องใคร ที่ผ่านมา สสส.ทำงานปลุกและสร้างการตื่นตัวของสังคมในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในมิติเชิงป้องกัน ไม่ให้คนเจ็บป่วย ทั้งในประเด็นเชิงรุกในเรื่องประจัยเสี่ยง และเรื่องเชิงรับในการเสริมสร้างสุขภาพ ในทุกมิติ กายใจ สังคม จิตวิญญาน แต่การที่รัฐหรือบางฝ่ายมองว่า สสส. ควรนิยามทำเรื่องสุขภาพให้แคบ เรื่องงบประมาณที่อยากให้ไปอยู่กลไกสำนักงบประมาณเป็นแบบเดิม ถือเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะงบประมาณ สสส.ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกลไกงบประมาณอื่นๆ เพียงแต่เงินจำนวนนี้ไปสร้างผลสะเทือน ทำให้คนบางกลุ่มเสียประโยชน์” นายคำรณ กล่าวและว่า การทำงานของ สสส. คือประชารัฐด้านสุขภาพและความสุขของคนในสังคมโดยจริงแท้ เพราะ สสส.ทำงานกับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพไปสู่สังคมจนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น เรื่องงดเหล้าเข้าพรรษา สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องหมดไปกับการดื่มเหล้าได้มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท