หมอโอ๋ เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” เคยบอกไว้ว่า “ครอบครัว” ในอุดมคติของคนส่วนใหญ่จะต้องมีพ่อ แม่ และลูกผู้หญิง 1 คน ผู้ชาย 1 คน ถึงจะเรียกว่าเป็นครอบครัวโดยสมบูรณ์ แต่ความจริงแล้วครอบครัวที่สมบูรณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของคนในครอบครัว เพราะต่อให้มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวก็สามารถเป็นได้ เพียงแค่สามารถเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาได้อย่างมีความสุขและเป็นไปตามศักยภาพของเขา
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” บอกว่า “มันไม่มีหรอกพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ มีแต่พ่อแม่ธรรมดา ๆ ที่สามารถเลี้ยงลูกให้ได้ดี แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่กลับผูกความคาดหวังให้กับตัวเองมากเกินไปจนเกิดเป็นปมขึ้นในใจ เพราะชอบคาดหวังว่าตัวเองจะต้องเป็นนางฟ้าตลอดเวลา หรือตัวเองจะต้องไม่สร้างบาดแผลให้ลูก”
ในงานเสวนาสาธารณะ (Public Forum) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัวและการพัฒนาศักยภาพเยาวชน เรื่อง “เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก : ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่” จัดโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักพิมพ์ Bookscape และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านเด็กและครอบครัว อย่าง หมอโอ๋ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หมอวิน ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ และ ครูเม เมริษา ยอดมณฑป มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 100 คนได้ฟังกัน
วัย 3-7 ปี เรียนจริง สอบจริง เจอสังคมจริงมากขึ้น
“เลี้ยงดี มีเวลาให้ เป็นแบบอย่างที่ดี” คำแนะนำการเลี้ยงลูกในวัยนี้ของ ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยา และมะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี หรือ หมอวิน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ ก่อนจะบอกต่อไปว่า ในช่วงวัยนี้หากพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับลูกมากนักต้องหาเวลาชดเชยมาใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน ทั้งการเล่นแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่มีโครงสร้าง เป็นของเล่นแบบเปิดให้เด็กได้เล่นต่อยอด สามารถสร้างจินตนาการที่หลากหลายโดยที่มีพ่อแม่เป็นของเล่นร่วมเล่นที่ดีที่สุด คอยส่งพลังความรักและสร้างเงื่อนไขให้เด็กรู้จักเรียนรู้กฎกติกา เช่น เมื่อเล่นเสร็จแล้วต้องเก็บของเล่นเข้ากล่อง กลับมาบ้านต้องวางรองเท้าให้เป็นระเบียบ ล้างมือก่อนกินข้าว เป็นต้น
โดยนอกจากนี้ การสร้างกฎกติกาให้เป็นความรับผิดชอบในการช่วยเหลือดูแลตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เมื่ออายุ 2 ขวบ สามารถกินข้าวได้เอง ใส่เสื้อผ้าได้เอง ติดกระดุมได้เอง เหล่านี้เมื่อลูกทำได้ก็ต้องชื่นชม เพราะคำชมเล็ก ๆ น้อย ๆ จะทำให้เด็กรู้จักภาคภูมิใจในตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงจะทำให้เด็กอยากทำสิ่งนั้น ๆ มากขึ้น
“ลูกต้องเป็นคนที่มีความสุขในชีวิต รักตัวเองเป็น รักคนอื่นเป็น มีทักษะสำคัญติดตัวเพียงอย่างเดียวก็ถือว่าโอเคแล้ว ทักษะก็ไม่ต้องมหัศจรรย์อะไรมาก ชอบดีดกีต้าร์ ชอบฟังเพลง เล่นกีฬา ก็นับว่าเป็นทักษะติดตัวได้เหมือนกัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะสร้างความอยู่รอดในอนาคตในวันที่เขาต้องพบเจอความทุกข์ ปัญหา หรืออุปสรรคต่าง ๆ เพราะยังมีสิ่งที่เขารักตรงนี้ช่วยผ่อนคลายจิตใจและอารมณ์”
เด็กวัยรุ่น VS ภาวะซึมเศร้า
“ไม่เก่งไม่เป็นไร ไม่ดีที่สุดไม่เป็นไร แต่ต้องหาให้เจอว่าตัวเขามีคุณค่าในตัวเองรึเปล่า” ครูเม เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาด้านเด็กและครอบครัว เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ ตามใจนักจิตวิทยา บอกว่า เด็กสมัยนี้แบกความคาดหวังเอาไว้มาก ทั้งความคาดหวังจากพ่อแม่ และความคาดหวังจากตัวเอง ที่เห็นบ่อย ๆ คือ พ่อแม่อยากให้เรียนแบบนั้น อยากให้ทำอาชีพนี้ สุดท้ายการตัดสินใจนั้นลูกไม่ได้เป็นคนที่เลือกเอง หากผลสุดท้ายจบด้วยดีก็ถือเป็นกำไร แต่หากเจอปัญหาระหว่างทางหรือกลายเป็นเส้นทางที่ก้าวพลาด ลูกก็จะเป็นคนที่ต้องแบกรับความคาดหวังและความรับผิดชอบนั้นไว้เพียงคนเดียว
“พ่อแม่ต้องฟังเสียงความคิด เสียงที่อยู่ภายในใจที่เป็นความต้องการของลูกจริง ๆ หากเส้นทางที่ลูกเลือกจะเป็นหรือเลือกจะทำไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ก็ต้องให้เขารู้จักแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่มีพ่อและแม่เป็นคนเดินเคียงข้างต่อสู้ปัญหาไปกับเขา เพราะสุดท้ายแล้วทุกความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนให้ลูกรู้จักการแก้ไขปัญหา เข้าใจว่าทุกเรื่องบนโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ความสมหวังดั่งใจ เขารู้จักการรอคอย รู้จักอดทน รู้จักผิดหวัง เพราะเด็กทุกคนมีเส้นทางเป็นของตัวเอง”
ส่วน หมอโอ๋ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เสริมว่า หลายคนยังเข้าใจผิดว่าที่เด็กเป็นโรคซึมเศร้านั้นเกิดจากความอ่อนแอ ความคิดมาก หรือเด็กคนนั้นไม่เข้มแข็ง แต่จริง ๆ แล้วการเลี้ยงดูจากครอบครัว การแสดงออกทางความรักจะเป็นเกราะป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ เพราะการรับรู้ถึงความรักจากครอบครัวจะเป็นภูมิคุ้มกันติดตัวเด็กให้เข้าใจว่า “ไม่ว่าเขาจะเป็นยังไง เขาก็จะยังเป็นที่รักสำหรับคนในครอบครัวเสมอ จะทำให้เขารู้จักรักตัวเองมากพอ”
“เด็กที่มีจิตใจเปราะบางเป็นทุนเดิมมาอยู่แล้วก็จะเสี่ยงภาวะซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันเด็กวัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก หมอว่าส่วนหนึ่งเกิดจากโลกออนไลน์ เพราะความเศร้าเกิดขึ้นได้ง่าย แค่เห็นชีวิตคนอื่นก็เอามาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเอง แม้บางครั้งเด็กจะไม่ได้เป็นคนคิดเปรียบเทียบเองก็อาจโดนคนภายนอกมาเปรียบเทียบหรือตัดสินให้ โพสต์อะไรไปแล้วเพื่อนไม่กดไลก์ก็เก็บมาคิดมาก หรือแม้กระทั่งการคุยผ่านกรุ๊ปไลน์ แค่การที่เด็กพิมพ์ไปแล้วคนอื่นเงียบ ไม่ตอบ เขาก็คิดว่ามันเป็นการ bully แล้ว เพราะเขามีจิตใจที่เปราะบาง รักตัวเองไม่มากพอ คิดว่าตัวเองมีคุณค่าไม่มากพอ หรือเขาอาจคิดว่าไม่มีใครในชีวิตที่พร้อมจะอยู่ข้าง ๆ พ่อแม่บางคนแค่ฟังแต่ไม่เข้าใจถึงความรู้สึกจริง ๆ จึงไม่รู้ว่าที่ลูกพูดออกมาเพราะต้องการระบาย ต้องการคนรับฟัง หรือต้องการคำแนะนำคำสอน ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่จะฟังแล้วสอนซะมากกว่า” หมอโอ๋ เล่า
คงจะดีไม่น้อยหากทุกบ้านสามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวและฟื้นฟูเราได้ในทุกสถานการณ์ ตามท่อนหนึ่งของเนื้อเพลง “ทุกสิ่ง จากวงพรู Pru” ที่ว่า “ในตอนที่ฉันไม่เหลือใครก็ยังมีเธอปลอบโยนหัวใจ…ก็เพราะทุกอย่างที่เธอนั้นเคยได้ทำ นั้นเปลี่ยนใจที่เคยบอบช้ำ ความอ่อนโยน ทุก ๆ ถ้อยคำ คอยเติม และทำให้ความหวังของฉันกลับมา”
เพราะไม่ว่าชีวิตจะต้องเจอเหตุการณ์ที่สมหวัง ผิดหวัง ทุกข์ใจ หรือสุขล้นมากแค่ไหน อย่างน้อยเราทุกคนก็รู้กันดีว่ายังมีสถาบันที่เล็กที่สุดที่ถูกเรียกว่า “ครอบครัว” คอยเติมพลังใจให้กัน เพราะท้ายที่สุดแล้วการเข้าใจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่แบ่งความสุขและลดความทุกข์ให้คนในครอบครัวได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะออกไปเจอสถานการณ์ที่โหดร้ายมากแค่ไหน อย่างน้อยก็ยังมีที่รับฟัง ที่ปรึกษา ที่ระบาย และที่เพิ่มกำลังใจให้พร้อมเดินต่อ อีกทั้งความเข้าใจในครอบครัวยังเป็นตัวช่วยทำให้ลูกกล้าเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ออกไปพบเจอมาแต่ละวัน เช่น ลูกกำลังอยู่ในสถานการณ์ไหน คิดจะทำอะไร คิดจะไปที่ไหน เป็นต้น
…..
เรื่องโดย : ดนยา สุเวทเวทิน Team Content www.thaihealth.or.th ดูต้นฉบับข่าวที่นี่..https://www.thaihealth.or.th/Content/
ข้อมูลจาก : งานเสวนาสาธารณะ (Public Forum) เรื่อง “เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก : ไขปัญหาและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่”
ภาพโดย สสส. และ ณัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th