อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นอาหาร เครื่องดื่ม และเป็นยาสมุนไพรเก่าแก่แต่โบราณชนิดหนึ่ง แต่เดิมเราไม่ได้ปลูกอ้อยเป็นไร่ใหญ่โต ปลูกกันตามวิถีเกษตรขนาดเล็ก ๆ ปลูกกันตามบ้านก็มี ต้นอ้อยนั้นเป็นไม้ล้มลุกแต่มีอายุได้หลายปี แต่เมื่อโลกต้องการความหวานเพิ่มขึ้น การปลูกอ้อนก็ขยายไปทั่วเพื่อส่งให้อุตสาหกรรมทำน้ำตาลทราย และอื่น ๆ ไร่อ้อยขนาดใหญ่โตก็เกิดขึ้น ซึ่งตามมาด้วยปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและวัชพืชต่าง ๆ จำนวนมหาศาล ที่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
หากเป็นการปรุงยาแต่ดั้งเดิม หมอยาหรือครอบครัวที่มีความรู้พึ่งตนเองก็จะใช้อ้อย โดยเฉพาะอ้อยแดงหรืออ้อยดำ นำมาปรุงเป็นยาและเครื่องดื่มต้อนรับฤดูร้อนที่มาถึงนี้ได้อย่างสบาย ๆ
ขอทำความเข้าใจสายพันธ์อ้อยสักนิด อ้อยที่เกษตรกรปลูกป้อนโรงงานน้ำตาลทั่วไป และที่เห็นแม่ค้าพ่อขายหีบน้ำอ้อยขายกันนั้น คือ อ้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saccharum Officinarum L. แต่ในทางยาไทยแต่ดั้งเดิม แม้แต่หมอทองอิน ทองเอก แห่งท่าโฉลง ในละครย้อนยุค ก็ใช้เหมือนหมอไทยทั้งหลาย เมื่อคิดปรุงยาก็ต้องหา อ้อยแดงหรืออ้อยดำ เนื่องจากมีลำต้นและเส้นกลางใบเป็นสีแดงหรือสีดำแดง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ทางการว่า Saccharum sinense Roxb. อ้อยแดงหรืออ้อยดำสายพันธุ์นี้ ปัจจุบันสืบค้นว่า มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน และไตหวัน เขาจึงตั้งชื่อ sinense ( sino หรือ sinense หมายถึงประเทศจีน)
แต่ในการใช้จริงก็มีการนำอ้อยพันธุ์ทั่วไปทดแทนพันธุ์อ้อยแดงหรืออ้อยดำ แต่ถ้าพื้นที่ไหนยังอนุรักษ์พันธุ์ไว้ได้ ก็แนะนำให้ใช้อ้อยแดงหรืออ้อยดำมาปรุงยา ซึ่งอ้อยมีสรรพคุณ พอกล่าวไว้ตามตำรายาไทยได้ว่า
แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะขัด ซึ่งสรรพคุณโบราณตรงกับการศึกษาในระดับสัตว์ทดลองว่า ใบอ้อยมีฤทธิ์ขับปัสสาวะได้ดี และสามารถป้องกันการเกิดนิ่วที่ไตได้ด้วย วิธีใช้แบบง่าย ๆ ตามสูตรโบราณ ใช้ยอดอ้อย 3-4 ยอด สับยอดเป็นท่อนเล็กๆ เติมน้ำ 4-5 แก้ว ต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที ดื่มขณะอุ่นครั้งละ 1 แก้ว ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือใช้ลำอ้อยไม่ต้องปอกเปลือกมาสับต้มน้ำกินก็ได้ผลเช่นกัน
แก้ไข้ แก้ไอ แก้หวัด เสมหะติดคอ ปกติเราเข้าใจว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา แต่อ้อยที่หวานได้ใจนี้ใช้ให้เป็นก็เป็นยาดี นำอ้อยแดงไม่ปอกเปลือก 3 ข้อ นำมาเผาไฟให้ร้อนแล้วรอเย็นนิดหน่อยจึงปอกเปลือกออก แล้วเคี้ยวกินสด ๆ ขณะอุ่น ๆ สูตรยาประจำบ้านนี้ ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ แก้เสียงแหบแห้ง และบรรเทาอาการหวัดด้วย หากดูจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เขาไม่ได้กินอ้อยที่มีน้ำตาลโดยธรรมชาติในปริมาณมากอะไร เขาใช้เป็นยา เมื่อทุเลาอาการแล้วก็เลิก
ใครที่เริ่มร้อนจากอากาศ และลามไปสู่อาการที่เรียกว่า ร้อนใน ปากเปื่อย ให้หาอ้อยแดง ถ้าไม่ได้ก็อ้อยธรรมดา โบราณให้ตัดอ้อยยาวเท่านิ้วชี้ของตนเอง จำนวน 3 ท่อน แต่ละท่อนผ่าออกเป็น 4 ส่วน แต่เอาไว้ใช้ 3 ทิ้งไป 1 (ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด แต่คาดการณ์ว่าจำกัดปริมาณยา) แล้วนำไปแช่น้ำ 3 แก้ว เติมข้าวสารเจ้าลงไปหยิบมือหนึ่ง แช่นาน 30 นาที กินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 3-4 วัน อาการร้อนใน ปากเปื่อย จะทุเลาลงจนหายขาด
และสรรพคุณอ้อยตามคัมภีร์โบราณ ว่า “น้ำอ้อยสดมีรสหวานและเย็น กินปัสสาวะออกมาก เจริญอายุ ให้มีกำลัง แก้ไข้กำเดาและลม กระจายเสมหะ ผายธาตุ น้ำอ้อยต้มและอ้อยเผา มีรสหวานยิ่งกินแก้เสมหะ หืดไอ แก้ไข้สัมประชวร” อธิบายความว่า น้ำอ้อยสดใช้บำรุงกำลังแล้ว ยังเหมาะมากกับฤดูร้อน ที่เรียกว่าไข้กำเดาและลม คือไข้หวัดตัวร้อน อากาศแบบนี้ใครที่กำลังเป็นไข้ฤดูร้อนก็ขอแนะนำ คั้นน้ำอ้อยสด กินครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 3- 4 ครั้ง ติดต่อกัน สัก 2-3 วัน จะช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกายได้ดี
นอกจากนี้ ภูมิปัญญาชาวจีนจะกินน้ำอ้อยคั้น ซึ่งให้รสหวานชุ่มและเย็น ในการแก้ร้อนใน บำรุงกระเพาะ ช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ คอแห้ง และยังกล่าวถึงการแก้อาการร้อนรุ่มกลุ้มใจ คลื่นไส้อาเจียน และท้องผูกด้วย น้ำอ้อยคั้นสดจึงเหมาะมากสำหรับอากาศร้อน ๆ หากได้น้ำคั้นอ้อยสดแช่เย็นหรือใส่น้ำแข็งสักแก้ว ในยามบ่าย จะช่วยให้หายอ่อนเพลียและแก้ร้อนในด้วย
ถ้ามีเวลาทำเองได้ แนะนำให้ปรับแต่งสูตรตามตำรายาโบราณ คือ ก่อนจะคั้นน้ำกิน ให้นำลำอ้อยไปเผาไฟจนมีน้ำไหลออกมาก่อน แล้วค่อยคั้นน้ำกิน จะได้น้ำอ้อยหอมอร่อยมาก แต่ก็มีบางท่านใช้เทคนิคนำน้ำอ้อยสดๆ ที่คั้นเสร็จแล้วค่อยนำไปตั้งไฟให้ร้อน ๆก็จะกลิ่นหอมและรสหวานอร่อยเช่นกัน แต่ในอากาศร้อน ๆแบบนี้ คงไม่อยากกินน้ำอ้อยอุ่น ก็แนะนำให้ใส่น้ำแข็งกินให้ชื่นใจ และที่มีการขายกันซึ่งได้รสชาติอร่อยไปอีกแบบ คือ การบีบน้ำมะนาวลงไปตัดรสหวานของอ้อยลงเล็กน้อย ก็ทำให้น้ำอ้อยรสชาติกลมกล่อมขึ้นด้วย และได้รสเปรี้ยวมาช่วยคลายร้อนได้เช่นกัน
แต่ถ้าจะให้ดีเลิศต่อสุขภาพ ก็แนะนำให้ช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนอ้อยจากการปลูกแบบอินทรีย์ ที่ไม่ใช้สารเคมีโดยเฉพาะพาราควอต ที่มีการใช้ในไร่อ้อยจำนวนมาก ปัจจุบันมีการศึกษากันมากพอสมควรถึงผลกระทบของพาราควอตต่อสุขภาพคน และปนเปื้อนในแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมด้วย
ใครที่ยังเชื่อว่า ไร่อ้อยขนาดใหญ่ต้องพึ่งพิงพาราควอตนั้น ให้ลองสอบถามไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัดหลายแห่ง ที่เริ่มมี Young Smart farmer หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันมาปลูกอ้อยอินทรีย์ เพื่อคั้นน้ำขาย สร้างรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 30,000 บาท หรือคุยกับบริษัทน้ำตาลขนาดใหญ่ ที่ดำเนินกิจการขยายพื้นที่การปลูกอ้อยอินทรีย์โดยร่วมมือกับชาวไร่ ปลูกกันแล้ว หลายร้อยหลายพันไร่ ได้น้ำตาลทรายอินทรีย์ส่งขายทั้งไทยและต่างประเทศ
หากเรายังเชื่อว่าต้องพึ่งสารเคมีอันตราย ก็เหมือนเรายังเชื่อว่าสุขภาพของเรา ไม่ได้เริ่มที่ตัวเรา จะคลายร้อนก็ต้องเริ่มลองทำน้ำอ้อยอินทรีย์คั้นสด ๆ สักแก้ว แล้วคุณจะรู้ด้วยตัวคุณเอง