ผู้ที่อ่านเรื่องราวในพระพุทธศาสนามามากโดยเฉพาะที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จะพบการสนทนาของพระราชาที่คุ้นเคยหรือเรียกว่าสนิทสนมกับกับพระพุทธเจ้า คือ พระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิโกศลที่เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่หลายครั้ง มีเหตุการณ์หนึ่งที่พระพุทธเจ้าสังเกตเห็นพระเจ้าปเสนทิโกศลน้ำหนักตัวมากหรืออ้วน เห็นอาการเดินเหินไม่คล่องแคล่ว นั่งก็อึดอัด จะลุกขึ้นก็ลำบาก พระพุทธเจ้าจึงพูดสอนให้คิด ทำนองว่าผู้ที่มีสติอยู่เสมอๆ เมื่อรู้จักประมาณในการบริโภค ย่อมมีเวทนาน้อย แก่ช้า และก็อายุยืน พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ตำหนิ ไม่พูดตรง ๆ ให้กินอาหารน้อยลง เพียงพูดให้คิด
ผลลัพธ์คือ พระเจ้าปเสนทิโกศลคิดได้รู้ได้ และเป็นธรรมดาของทุกคนอยากจะมีอายุยืน แต่ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายที่คนเราจะมีสติได้ตลอดเวลา ท่านก็เลยวางเงื่อนไขปลุกสติตนเองเวลาจะเสวยอาหารก็ให้หลานคอยท่องคาถานี้ให้ฟัง เป็นการเตือนสติไม่ให้เพลิดเพลินการกินติดในรสชาติอาหารจนกินมากเกินไป ปรากฏว่าได้ผล พระเจ้าปเสนทิโกศลกินอาหารน้อยลง น้ำหนักลด ลุกนั่งเดินได้คล่อง แฮปปี้ดีใจทีเดียว พระพุทธเจ้าแนะนำการประมาณการบริโภคหมายรวมว่าไม่กินจุกกินจิก ซึ่งในปัจจุบันก็พบว่า การจะลดน้ำหนักจะต้องลดหรือเลิกกินจุกกินจิกด้วย พระพุทธเจ้าเตือนสติให้คนเราระลึกถึงโทษของการกินมาก ๆ หรือให้เห็นประโยชน์ของการกินน้อย ๆ กินพอประมาณ ก็จะมีเวทนาน้อย แก่ช้าและอายุยืน
ที่น่าสนใจต่อมา พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนประโยชน์เพื่อการพ้นทุกข์สู่พระนิพพานเท่านั้น ท่านยังแนะนำประโยชน์สำหรับชีวิตฆราวาสทางโลกด้วย เช่น การมีอายุยืนนี้ ท่านเคยสอนไว้ 5 ประการ ข้อแรกตรงกับที่แนะนำให้พระเจ้าปเสนทิโกศล แต่มีความลึกซึ้งและสอดคล้องกับโลกปัจจุบันด้วย คือ “การกินอาหารให้ย่อยง่าย” ถ้าอยากอายุยืนนอกจากกินพอประมาณแล้วต้องเลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย พูดแบบภาษาปัจจุบันก็ลดไขมัน โปรตีนกินพอประมาณ ผักผลไม้กินให้มาก การลดอาหารหวานมันเค็มในปัจจุบันก็สอดคล้องกับคำแนะนำของพระพุทธเจ้าด้วย
ข้อที่สอง “ทำสิ่งที่สบาย” ไม่ใช่ให้ขี้เกียจ แต่พระพุทธเจ้าสอนให้อย่าไปทรมานตนเอง หรือทำตัวให้ลำบาก เช่น ทำกิจการงานใดก็อย่าหักโหมเกินกำลัง อย่าอดหลับอดนอน ฝืนร่างกาย ถ้าฝืนมากๆ ก็ไม่มีทางอายุยืน และพระพุทธเจ้าก็แนะนำข้อที่สาม เพื่อเตือนสติในข้อสอง ให้ทำสิ่งสบาย แต่ให้ “รู้จักประมาณในสิ่งหรือความสบาย” นั้นด้วย พูดง่ายๆ สบายมากไปก็ไม่ดี ดูข้อเท็จจริงคนทุกวันนี้ ใครที่สบายมากไป กินแล้วก็นั่ง ไม่ก็นั่งเล่นมือถือ จะเดินไปปากซอยไม่ไกลก็ยังนั่งวินมอร์เตอร์ไชต์ ไม่ขยับตัวออกกำลังกายโรคภัยก็ตามมามากมาย คำแนะนำของพระพุทธเจ้าร่วมสมัยมาก ไม่แนะนำให้ทำตัวเองลำบาก ให้รู้จักหาความสบายแต่ก็อย่ายึดติดสบายเกินไป อายุจะสั้น
ข้อที่สี่ “เป็นผู้มีศีล” เราต้องเข้าใจว่าศีล 5 ที่คุ้นเคยไม่ได้แปลว่าข้อห้ามทำให้ชีวิตยุ่งยาก แต่หมายถึงการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขและจะมีสุขภาพดี ข้อปฏิบัติอย่างน้อย 5 ข้อ (บางคนอาจไปถึง ศีล 8 ) เป็นแนวปฏิบัติปกติที่จะทำให้อายุยืนยาว ศีลข้อ 5 ชัดเจนว่าสุราน้ำเมาส่งผลต่อสุขภาพและอาจอายุสั้นเพราะอุบัติเหตุมากมาย ข้ออื่น พูดปดหลอกลวง ทุจริต ประพฤติผิดในกามส่งผลต่อสุขภาพกายใจและ ชีวิตสั้นได้ ข้อที่ห้า “การมีกัลยาณมิตร หรือ มีมิตรที่ดี” คำแนะนำนี้ลึกซึ้ง ทำไมพระพุทธเจ้ากล่าวเช่นนี้ เพราะอายุยืนน่าจะอยู่ที่ตัวเราเองมิใช่หรือ แต่ถ้าคิดให้ดีการมีเพื่อนที่ชักนำหรือเตือนสติ ไม่ใช่ชวนกันสำมะเลเทเมา แต่ชักนำส่งเสริมสุขภาพ และที่สำคัญคือการมีเพื่อนปรึกษาหารือเรื่องชีวิต คลายเหงา เป็นกำลังใจ โลกทุกวันนี้สร้างความวิตกกังวลและความเครียดมาก มิตรที่ดีช่วยให้สุขภาพดีทั้งกายและใจ ชวนกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม จิตใจแช่มชื่น อายุก็ยืนยาว
แต่ทุกวันนี้เราก็อาจอายุสั้น เพราะสภาพแวดล้อมหรือปัจจัยรอบตัวไม่เอื้อให้เรามีสุขภาพดี พระพุทธเจ้ากล่าวถึงหมวดธรรมเรื่องสัปปายะไว้น่าสนใจ ยังร่วมสมัยหากเรานำมาปรับประยุกต์ใช้ในโลกวันนี้ สุขภาพของชาวโลกจะดีและมีอายุยืนยาวด้วย “สัปปายะ 7” 1)อาวาสสัปปายะ พูดภาษาสมัยใหม่คือการออกแบบเมืองเพื่อสุขภาวะ หรือ Healthy city ให้ที่อยู่ ที่ทำงานเหมาะกัน มีพื้นที่สาธารณะไม่พลุกพล่านจอแจ เหมาะกับทุกคน เป็นต้น 2)โคจรสัปปายะ หมายถึงมนุษย์ทุกคนควรได้อยู่ในที่ที่หาอาหารที่สะดวก มีแหล่งอาหารที่ดีปลอดภัยไม่ขาดแคลน ซึ่งก็ต้องคำนึงถึงลดความอดอยาก ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงอาหารด้วย 3)ภัสสสัปปายะ แปลตามศัพท์ คือการพูดคุยที่พอประมาณ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าถ้าไปอยู่ที่ที่มีการสื่อสารการพูดคุยถ้ามากไป และเนื้อหาสาระไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดประโยชน์และเกิดโทษต่อกันด้วย ยุคสังคมสื่อออนไลน์ไร้ขีดจำกัด สภาพแวดล้อมทางสื่อทุกวันนี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งกายและใจเรา มีให้เห็นบ่อย ๆ
4)ปุคคลสัปปายะ ในสถานที่นั้น ในเมืองหรือในชุมชน หากมีแต่คนขัดแย้งทะเลาะกัน หาคนที่ถูกกันคุยกัน ปรึกษาหารือคุยกันด้วยสติและปัญญาไม่ได้ ก็ไม่สงบสุขไม่มีทางที่จะสุขภาพดีหรือมีอายุยืนได้ 5)โภชนสัปปายะ ข้อนี้ต่างจากข้อ 3 คือแหล่งอาหาร แต่ข้อนี้พระพุทธเจ้าเล็งการณ์ไกลหมายถึง เราควร “กินอาหาร”ที่เกื้อกูลต่อสุขภาพ ผลดีของอาหารสมุนไพร น้ำพริกผักเคียง และเมนูอาหารเพื่อสุขภาพมีให้เห็นมากมาย ข้อนี้ยืนยันว่าการกินอาหารมีผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพของเรา กินให้พอประมาณและเลือกกินอาหารดีต่อสุขภาพ 6)อุตุสัปปายะ สถานที่นั้นมีดินฟ้าอากาศ ธรรมชาติแวดล้อมเหมาะสม ไม่หนาวไม่ร้อนเกินไป แต่ทุกวันนี้เราอาจหาที่สัปปายะไม่ง่าย เพราะเรากำลังเผชิญกับสภาวะโลกร้อนหรือโลกรวน ข้อนี้ต้องช่วยกันแก้ไขไม่เช่นนั้นเราทุกคนก็ไม่มีสุขภาวะ 7)อิริยาปถสัปปายะ ในอดีตน่าจะหมายถึงสถานที่ให้ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมสามารถจะเดินจงกรมก็ได้ จะนั่งฝึกสมาธิก็ได้ ให้มีการเคลื่อนไหวที่พอดี ข้อนี้ในพ.ศ.นี้ น่าจะเป็นเจตนาของพระพุทธเจ้าเล็งเห็นว่า ชีวิตคนเราจะต้องมีกิจกรรม มีการเคลื่อนไหวร่างกายให้เหมาะสม ทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เหมาะ และจะไม่สบายทั้งกายและใจ
หลักคิดแนวพุทธนี้ มูลนิธิสุขภาพไทยกำลังปฏิบัติการในพื้นที่จริงในชุมชน 5 จังหวัด สร้างระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญา มีสัปปายะ มีแหล่งอาหารและยาสมุนไพร จะนำมาเล่าในโอกาสต่อไป.