คนทั่วไปที่สนใจไม้ดอกไม้ประดับย่อมรู้จักต้นอังกาบหรือพืชจำพวกอังกาบ ซึ่งในประเทศไทยมีรายงานว่าพบพืชชนิดนี้ถึง 7 ชนิด คือ
1) อังกาบเขา Barleria biloba J.B. Imlay เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก
2)อังกาบ Barleria cristata L. เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก เป็นพันธุ์ที่ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ดอกสีม่วงและขาว ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่แตกต่างกัน
3) ไม้เท้าฤษี Barleria longiflora L.f. เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก พบเฉพาะในภาคใต้ ดอกสีขาว เป็นท่อยาว
4) เสลดพังพอนตัวผู้ Barleria lupulina Lindl. ซึ่งเป็นสมุนไพรที่รู้จักกันดี แต่ในทางวิชาการถือว่าเป็นไม้นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีดอกสีเหลือง
5) อังกาบหนู Barleria prionitis L. เป็นไม้นำเข้ามาจากต่างประเทศเช่นกัน มีดอกสีเหลืองเช่นกัน
6) ต้นระงับหรือระงับพิษ Barleria siamensis Craib เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ดอกสีม่วง
และ 7) สังกรณี Barleria strigosa Willd. เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ดอกสีม่วง
อังกาบทั้ง 7 ชนิดนี้ ส่วนใหญ่มีการนำมาใช้เป็นไม้ประดับ และกรมป่าไม้รายงานว่ามีอังกาบที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจำนวน 2 ชนิด คือ เสลดพังพอนตัวผู้และอังกาบหนู เสลดพังพอนตัวผู้มีข้อมูลสรรพคุณสมุนไพรค่อนข้างมากแล้ว จึงขอกล่าวแนะนำถึง อังกาบหนู
แม้ว่ากรมป่าไม้จะรายงานว่าอังกาบหนูเป็นไม้ต่างประเทศที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย แต่พบข้อมูลที่กล่าวว่า อังกาบหนูมักพบขึ้นหนาแน่นเป็นวัชพืชอยู่ตามเขาหินปูนในที่แห้งแล้งทางภาคใต้และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไทย และมีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในแอฟริกา ปากีสถาน อินเดีย พม่า มาเลเซีย รวมไปถึงภูมิภาคอินโดจีน อังกาบหนู มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า porcupine flower เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ในช่วงฤดูร้อนส่วนของลำต้นเหนือดินมักจะแห้งตาย แต่ส่วนรากยังคงมีชีวิตอยู่ ส่วนของลำต้นเหนือดินจะเจริญขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงฤดูฝน
การใช้ประโยชน์ทางยามีรายงานการใช้ประโยชน์ เช่น
ใบ น้ำคั้นจากใบทาแก้ส้นเท้าแตกได้ ใช้เคี้ยวแก้อาการปวดฟัน ใบใช้ผสมกับน้ำผึ้งช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหู แก้หูอักเสบได้ ใช้แก้พิษงู ช่วยรักษาโรคคัน แก้อัมพาต โรคปวดตามข้อ บวม ใช้ทาแก้ปวดหลัง แก้ท้องผูก แก้โรคไขข้ออักเสบ หรือนำมาผสมกับน้ำมะนาวใช้แก้ขี้กลาก หรือใช้ผสมกับน้ำผึ้งรักษาเลือดออกตามไรฟัน
ราก นำมาตากแห้งแล้วนำมาต้มเป็นยาดื่ม ช่วยขับเสมหะ ใช้เป็นยาแก้ฝี ยาลดไข้ เมื่อเอารากมาผสมกับน้ำมะนาวแก้ขี้กลาก แก้อาหารไม่ย่อย สารสกัดจากรากอังกาบหนูมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด โดยมีการทดลองในหนูเพศผู้นานติดต่อกัน 60 วัน พบว่าสามารถคุมกำเนิดได้ 100% เนื่องจากสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ในการรบกวนการสร้างอสุจิ ลดจำนวนอสุจิ และทำให้การเคลื่อนไหวของอสุจิลดลง โดยสารสกัดจากอังกาบหนูนั้นส่งผลต่อการสร้างอสุจิ ทำให้โครงสร้างและหน้าที่ของอสุจิผิดปกติไป
รากและดอก อังกาบนำมาตากแห้งใช้ปรุงเป็นยาสมุนไพร ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยเจริญธาตุไฟได้ดี รากหรือใบใช้เป็นยาลดไข้ ใช้ผสมกับน้ำมะนาวช่วยรักษากลากเกลื้อน หากนำมาใช้ทุกส่วนหรือเรียกว่าทั้ง 5 ส่วนของต้นอังกาบหนูก็ใช้เป็นยาแก้ไขข้ออักเสบได้
ในประเทศอินเดียซึ่งมีการใช้สมุนไพรจำนวนมากนั้น ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันยังมีการใช้อังกาบหนูเป็นยาค่อนข้างมาก เรียกได้ว่าเป็นสมุนไพรประจำบ้านที่ประชาชนสามารถใช้พึ่งตนเองได้กันทั่วไป ซึ่งพอประมวลการใช้ประโยชน์ของคนอินเดีย ดังนี้
ใบ ส่วนของใบนำมาต้มกับสารสกัดที่ได้จากพืชในสกุล Acacia ที่เรียกว่า กัตตา (Kattha) ใช้เป็นน้ำยาล้างปาก ช่วยทำให้เลือดหยุดไหลออกมาจากช่องเหงือก ทำให้ฟันแข็งแรง พืชในกลุ่มอังกาบยังช่วยลดอาการคั่งของเลือดในตับ ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ใช้รักษาอาการดีซ่าน ขับปัสสาวะ บำรุงตับ ใบนำมาบดให้แหลกพอกตามบริเวณลำตัวที่มีอาการปวด ในช่วงฤดูฝนชาวบ้านมักมีอาการเท้าแตก ก็จะนำน้ำคั้นจากใบทาแก้เท้าแตก นอกจากนี้ยังใช้พอกบริเวณที่มีอาการคันหรือบริเวณที่มีอาการอักเสบ
คนอินเดียยังใช้น้ำคั้นจากใบ ผสมกับน้ำตาลกินแก้หืดหอบ น้ำคั้นจากใบผสมกับน้ำผึ้ง กินครั้งละ 2 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง จะช่วยลดอาการไอ ไอกรน ลดเสมหะ ลดไข้ น้ำคั้นจากใบใช้หยอดหู เมื่อมีอาการเจ็บในหู
เปลือกลำต้น นำมาบดให้เป็นผงกินครั้งละครึ่งช้อนชา วันละ 2 ครั้ง ช่วยลดอาการปวดจากไขข้ออักเสบ
ราก นำมาตำให้ละเอียดใช้ใส่บริเวณที่เป็นฝีหนอง รากนำมาต้มใช้เป็นน้ำยาบ้วนปาก
ทั้งต้น นำมาสกัดเอาน้ำมันมานวดศีรษะทำให้ผมดำ ทั้งต้นนำมาต้มดื่มครั้งละ 50-100 มิลลิลิตร แก้โรคเกาต์ ไขข้ออักเสบ อาการบวมตามตัว ลดอาการอักเสบตามข้อ ใช้เป็นสมุนไพรเพิ่มอสุจิ โดยนำทั้งต้นนำมาทำให้แห้ง บดเป็นผง ใช้ครั้งละ 6 กรัม ผสมกับน้ำผึ้งกิน ในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองบวม ให้นำรากมาทุบให้แหลก นำไปแช่ในน้ำซาวข้าว พอกบริเวณที่บวม ยอดอ่อน นำมาเคี้ยวในกรณีที่เป็นแผลในปาก กิ่ง ใช้เคี้ยวแทนการแปรงฟัน ในสมัยพุทธกาลมีการใช้กันมาก
หลายท่านคงนึกไม่ถึงว่า อังกาบหนู พืชสมุนไพรต้นน้อย ๆ หรือบางคนเห็นเป็นวัชพืชนั้น นอกจากให้ความสวยงามแบบไม้ประดับแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจน่าเรียนรู้นำมาใช้ดูแลสุขภาพด้วย.