ศิริราชโมเดลแจง นโยบายไทยศูนย์กลางเมดิคัลฮับอาเซียนนำกำไรกระจายผู้ป่วยยากจน “น.พ.มงคล” ชี้ขยายปมขาดหมอชนบท นักวิจัยแนะนำรายได้ 10%พัฒนาการแพทย์กันดาร…
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น “นโยบายการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ” ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ โดย ดร.ชะเอม พัชนี นักวิจัยสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (ไอเฮชพีพี) เปิดเผยว่าจากการที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยจนพึงพอใจและเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยปี 2551 มีผู้ป่วยต่างชาติเข้ารับการรักษาพยาบาลสูงถึง 1.36 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 ทำให้โรงพยาบาล(รพ.) เอกชนปรับตัวเพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติดีขึ้น รัฐบาลปัจจุบันยังสนับสนุนให้ ร.พ.ภาครัฐและมหาวิทยาลัยการแพทย์จัดตั้งศูนย์การแพทย์มาตรฐานสากล โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 1.โครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ 2.โครงการจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 3.โครงการการจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข 4.โครงการพัฒนา จ.ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ
อย่างไรก็ตามการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ(เมดิคัลฮับ) ของไทยได้ส่งผลกระทบทั้งด้านบวก คือจะสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ด้านลบบุคลากรด้านการแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอกับผู้รับบริการ นอกจากนี้ยังเกี่ยวพันถึงผลกระทบต่อการผลิตนิสิตนักศึกษาแพทย์ด้วย เนื่องจากบุคลากรที่ย้ายไปอยู่ในระบบเมดิคัลฮับส่วนหนึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ ทำให้ต้องใช้งบประมาณและเวลามากในการผลิตอาจารย์แพทย์ใหม่ และการเข้าถึงการบริการอย่างไม่เท่าเทียมของคนไทย
ฉะนั้นจึงเสนอให้พัฒนาเมดิคัลฮับโดยต้องสอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2553 ซึ่งต้องมีกลไกร่วมระหว่างรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด ขณะที่รัฐบาลต้องจัดสรรรายได้ของเมดิคัลฮับไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 มาผลิตบุคลากรและพัฒนาระบบสุขภาพในชนบทและสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้บุคลากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น ซึ่งทุกคนต้องเข้าถึงการรับบริการอย่างเท่าเทียม
ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่ารัฐบาลสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมดิคัลฮับในอาเซียน ซึ่งต้องแข่งขันกับสิงคโปร์ที่ประกาศตัวเป็นผู้นำด้านการแพทย์ในภูมิภาค ทำให้สถาบันการแพทย์และการศึกษาของไทยต้องเร่งพัฒนางานวิจัยและบุคลากรให้มากขึ้น ภายหลังหลายฝ่ายกังวลว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขจะไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ป่วยไทย เนื่องจากต้องดึงไปรักษาผู้ป่วยต่างชาติ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่มีน้อยและใช้เวลาในการผลิตนาน ส่งผลให้มีบุคลากรเข้ามากระจุกตัวในเมืองใหญ่ จนชนบทขาดแคลนหมอ
นพ.มงคล กล่าวต่อว่าปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบทมีมานาน แม้ภาครัฐจะพยายามผลิตแพทย์ชนบท แต่ไม่สามารถจูงใจให้อยู่ในท้องถิ่นได้นานตามสัญญาใช้ทุนเรียน ถึงจะออกมาตรการเสียค่าปรับแต่กลับถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย ดังนั้นหากจัดตั้งเมดิคัลฮับสมบูรณ์ในอนาคต อาจเกิดปัญหาการดึงบุคลากรจาก ร.พ.ศูนย์และมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ “สมองไหล” ไปรองรับบริการศูนย์กลางการแพทย์ โดยเฉพาะเอกชนซึ่งมีระบบเมดิคัลฮับรองรับอยู่แล้ว
“รัฐบาลต้องทุ่มงบในการวิจัยเพื่อหาวิธีดึงแพทย์กระจายตัวในท้องถิ่นให้ได้ โดยเพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิพิเศษอื่น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน และสร้างความมั่นใจแก่แพทย์ชนบทที่จบใหม่ หวั่นว่าโครงการผลิตดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเพียงปี 56”
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าการเปิดเมดิคัลฮับของไทยซึ่งมีร.พ.ศิริราชนำร่องดำเนินการระยะที่ 1 เมื่อ 1 ส.ค.49 – 29 พ.ค.50 และระยะที่ 2 เมื่อ 16 มิ.ย.52 มิใช่มุ่งหวังตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่สร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพและบริการทางการแพทย์เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้รับบริการคนไทยที่มีกำลังจ่ายหลีกเลี่ยงจากการเข้ารับบริการ ร.พ.เอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพระดับนานาชาติให้คนไทยได้ใช้ มิใช่ต้องการบริการเฉพาะชาวต่างชาติ โดยกำไรที่ได้นั้นจะนำมาช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ จึงยืนยันว่าไม่มีโรงเรียนแพทย์แห่งใดที่ประกาศรับเฉพาะชาวต่างชาติ
ขณะที่ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ร.พ.เอกชนให้บริการเมดิคัลฮับตั้งแต่ปี 2540 โดยต้องการหาตลาดใหม่เจาะกลุ่มชาวต่างชาติ เพื่อความอยู่รอดขององค์กรภายหลังประสบภาวะทางเศรษฐกิจ ส่วนการจัดตั้งศูนย์กลางความเป็นเลิศทางการแพทย์ใน ร.พ.รัฐวางเป้าหมายการให้บริการที่ดีเยี่ยม ซึ่งผู้รับบริการอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ทางกลับกันนโยบายของรัฐบาลไม่มีเงินลงทุนให้โรงเรียนแพทย์ จนหน่วยงานต้องดิ้นรนหาเงินมาจัดการองค์กรเอง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ ซึ่งแสดงถึงความไม่พร้อม
ที่มา : ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน