หมอพื้นบ้านได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย มีความหมาย ดังนี้
ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556 ได้ให้คำนิยามว่า “การแพทย์พื้นบ้านไทย” หมายความว่า การตรวจ การวินิจฉัย การบําบัด การรักษา การป้องกันโรค การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ โดยใช้องค์ความรู้ซึ่งสืบทอดกันมาในชุมชนท้องถิ่นทั้งนี้ ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย
ในขณะที่กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้คำนิยามหมอพื้นบ้านไว้ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์พื้นบ้าน ตามวัฒนธรรมของชุมชนสืบทอดกันมานานเป็นที่นิยมยกย่องจากชุมชน
ความเป็นมาเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค
นับตั้งแต่ พ.ศ.2545 หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมสนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ได้รวมตัวขึ้นเป็นเครือข่ายภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ โดยได้จัดกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 1 ขึ้น และได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ และร่วมกันขับเคลื่อนงานซึ่งมีหมอพื้นบ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักวิชาการ และหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นภาคีสุขภาพที่ช่วยกันดำเนินงานใน 4 ภูมิภาค (เหนือ ใต้ อีสาน และกลาง)
ต่อมา พ.ศ. 2550 ได้พัฒนาแผนยุทธศาสตร์และแผนงานพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภูมิภาค ใน 21 จังหวัด มีหมอพื้นบ้านมากกว่า 1,000 คนที่เข้าร่วม โดยมีมูลนิธิสุขภาพไทย ซึ่งเป็นองค์กรประสานงานหลัก ร่วมกันกับหน่วยงาน กลุ่ม ชมรมต่างๆ ที่มีส่วนในการดำเนินงานครั้งนี้ ได้แก่
1.ชมรมหมอพื้นบ้านสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.อุดรธานี
2.ศูนย์ตะบัลไพร จ.สุรินทร์
3.เครือข่ายสุขภาพวิถีไทอีสาน จ.มหาสารคาม
4.เครือข่ายสุขภาพวิถีไทอีสาน จ.สกลนคร
5.ชมรมหมอพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี
6.ศูนย์พัฒนาเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน จ.แพร่
7.เครือข่ายผญ๋าสุขภาพล้านนา จ.ลำปาง
8.เครือข่ายหมอเมืองลุ่มกว๊านพะเยา
9.กองทุนนายแพทย์ธารา อ่อนชมจันทร์(ในมูลนิธิแพทย์ชนบท) จ.เชียงราย
10.มูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคม
11.ศูนย์การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้าน จ.อ่างทอง
12.ชมรมการแพทย์แผนไทยวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา
13.เครือข่ายหมอพื้นบ้านภาคใต้
14.ประชาสังคมชุมพร
15.เครือข่ายหมอเมือง จ.เชียงใหม่
16.เครือข่ายหมอเมือง จ.แม่ฮ่องสอน
17.เครือข่ายหมอเมือง จ.น่าน
18.เครือข่ายเกษตรนิเวศน์เทพนิมิต จ.ชัยภูมิ
19.เครือข่ายอินแปง จ.สกลนคร
รู้จักหมอพื้นบ้าน
มูลนิธิสุขภาพไทยร่วมกับเครือข่ายหมอพื้นบ้าน 4 ภาค จัดทำระบบฐานข้อมูลดิจิตอลภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ หรือ Traditional Knowledge Digital Information . (TKDI) ซึ่งได้แยกประเภทของหมอพื้นบ้านที่พบในเครือข่ายได้ 19 ประเภท ดังนี้
1.หมอดู
2.หมอสะเดาะห์เคราะห์
3.หมอมนต์ หรือหมอน้ำมนต์
4.หมอเสก
5.หมอเป่า
6.หมอธรรม
7.หมอผี
8.หมอลำผีฟ้า
9.หมอทำขวัญ
10.หมอทรง
11.หมอยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ
12.หมอจับเส้น
13.หมอเหยียบเส้น
14.หมอบีบนวด
15.หมออบประคบ
16.หมอแหก
17.หมอย่ำขาง
18.หมอเหยียบเหล็กแดง
19.หมอตำแย
หมอพื้นบ้านอยู่ที่ไหน
1. บ้านหมอ คือ บ้านของหมอที่เปิดบริการรับคนไข้
2. วัด คือ พระภิกษุ หรือหมอที่ได้รับอนุญาตจากพระให้เปิดบริการได้ภายในวัด โดยที่พระภิกษุ มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม
3.ศูนย์สุขภาพ แบ่งได้ 4 ประเภท
3.1 ดำเนินงานโดยเครือข่ายหมอ ซึ่งใช้สถานที่ของเครือข่ายที่สร้างขึ้น
3.2 ดำเนินงานโดยเครือข่ายหมอ ซึ่งใช้สถานที่ขององค์กรท้องถิ่น เช่น อบต. อปท. ซึ่งได้รับ
ความร่วมมือสนับสนุนให้ใช้สถานที่
3.3 ดำเนินงานโดยใช้สถานที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
3.4 ดำเนินงานโดยได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่ในวัด