หญ้าหวานเป็นพืชที่มนุษย์รู้จักมาเป็นเวลานานกว่า 1,500 ปี ชนพื้นเมืองแถบอเมริกาใต้เป็นผู้ค้นพบและนำมาใช้เป็นครั้งแรก ต่อมาได้มีการนำมาสกัดให้ได้สารสกัดของหญ้าหวาน ซึ่งนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในชาที่ชงดื่มรวมถึงยาสมุนไพรโบราณ ส่วนในแถบเอเชียพบว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการใช้สารสกัดจากหญ้าหวานอย่างแพร่หลาย โดยนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ผักดอง ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เนื้อปลาบด เป็นต้น
หญ้าหวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana (Bertoni) Bertoni มีถิ่นกำเนิดใน บราซิล ปารากวัยและอเมริกากลาง เป็นพืชล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีลำต้นกลมและแข็งลักษณะคล้ายต้นกะเพราหรือ ต้นแมงลัก ใบเดี่ยว รูปหอก ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย มีช่อดอกสีขาว มีสารในใบที่ให้รสหวาน เรียกว่า “สตีวิโอไซด์” (Stevioside) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานคล้ายคลึงกับน้ำตาลทรายมาก แต่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 200-300 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นสารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำตาลทราย เนื่องจากไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงานในร่างกาย คุณสมบัติของสารสกัดหญ้าหวานที่มีความพิเศษเช่นนี้เองจึงทำให้ในปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นสารทดแทนน้ำตาลทราย เพื่อให้ความหวานสำหรับอาหารและเครื่องดื่มบางประเภท ซึ่งวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือลดปริมาณแคลอรี่ในอาหาร และเครื่องดื่มสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วนหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน
สำหรับในประเทศไทย เดิมเข้าใจว่ามีการนำเข้ามาปลูกทางภาคเหนือเป็นที่แรก แต่จากเอกสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบว่า ในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) ได้มีชาวญี่ปุ่น ชื่อ นายเตอิชิ ยากิ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทแห่งหนึ่ง ได้นำเข้ามาทดลองปลูกครั้งแรกที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และในปีถัดมานำไปปลูกที่นิคมสร้างตนเองเทพา จังหวัดสงขลา ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 จากการทดลองปลูกไว้ก็เริ่มการวิจัยเป็นครั้งแรกในเมืองไทยและพัฒนาสายพันธุ์จนได้ผลดี มีความหวานสูง ในช่วงเวลานั้นยังได้นำไปปลูกเพื่อวิจัยในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวันและเกาหลีด้วย แต่ปรากฎว่าหญ้าหวานที่ปลูกที่นิคมสร้างตนเองเทพาได้ผลดีกว่าที่อื่น ๆ ต่อมานายเตอิชิ ยากิได้นำหญ้าหวาน “พันธุ์นิคมเทพา1” ไปปลูกที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน
นอกจากนี้มีรายงานวิจัยว่าการนำหญ้าหวานไปปลูกทางภาคเหนือของไทยบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ทั้งบนที่สูงและที่ราบ แต่ผลผลิตที่ภาคเหนือพบว่ามีความหวานน้อยกว่าที่ปลูกที่นิคมสร้างตนเองเทพา ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ของหญ้าหวานไปไม่น้อยกว่า 150-300 สายพันธุ์ และประเทศจีนเป็นผู้ปลูกและมีผลผลิตมากที่สุดในโลก
รายงานจากกรมวิชาการเกษตร เกี่ยวกับการปลูกหญ้าหวานที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย พบว่าหญ้าหวานที่ปลูกในประเทศไทยมี 4 ลักษณะ คือ 1) ใบใหญ่มีขน 2) ยอดอ่อนสีม่วง 3) ใบแคบยาว (ไต้หวัน) และ 4) ทรงพุ่มเล็ก ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของหญ้าหวานจำนวน 4 สายพันธุ์ พบว่าหญ้าหวานทั้ง 4 ตัวอย่างมีความแตกต่างทางพันธุกรรมทั้งหมด หญ้าหวานสายพันธุ์ยอดอ่อนใบสีม่วง ให้สารสตีวิโอไซด์ สูงที่สุด ซึ่งสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ประมาณ 10 เท่า ในปัจจุบันซึ่งทุกท่านก็คงพอทราบแล้วว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้อนุญาตให้มีการใช้สารสตีวิโอไซด์เพื่อการบริโภค หรือใส่ทดแทนน้ำตาลทรายในผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ได้ สารให้ความหวานจากต้นหญ้าหวานอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารแล้ว สำหรับต้นหญ้าหวานก็จัดเป็นสมุนไพรใช้ในครัวเรือนด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่า “การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ไม่ได้ช่วยการควบคุมน้ำหนักในระยะยาว เราต้องพิจารณาหาวิธีการอื่นๆ ที่จะลดปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายได้รับ เช่น บริโภคอาหารที่มีน้ำตาลตามธรรมชาติ อย่างเช่นผลไม้ หรือบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เติมความหวาน สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ไม่ได้เป็นปัจจัยทางอาหารที่จำเป็นและไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการ เราควรลดความหวานของอาหารโดยรวม ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น” โดยคำแนะนำนี้ยังรวมถึงสารให้ความหวานทั้งสังเคราะห์ ดัดแปลง หรือเกิดเองตามธรรมชาติชนิดอื่น ๆ ทั้งหมดที่ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทของน้ำตาล เช่น แซ็กคารินหรือขัณฑสกร (Saccharin) หญ้าหวาน (Stevia) แอสพาร์เทม (Aspartame) แอดแวนเทม (Advantame), ไซคลาเมต (Cyclamate) เอซีซัลเฟมเค (Acesulfame K) และอื่น ๆ
ประกาศระดับโลกชิ้นนี้ทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ คิดว่าหญ้าหวานไม่ปลอดภัย ที่จริงหญ้าหวานยังปลอดภัยเพราะข้อมูลงานวิจัยจากญี่ปุ่นที่ทำการศึกษาความเป็นพิษเรื้อรัง (Chronic toxicity) ของหญ้าหวานพบว่า ระดับความปลอดภัย คือ ไม่เกิน 550 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สรุปว่า สารสกัดจากหญ้าหวานมีความปลอดภัยในทุก ๆ กรณี โดยค่าสูงสุดที่กินได้อย่างปลอดภัยคือ 7,938 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงมากถ้าเทียบกับการผสมในเครื่องดื่มหรือกาแฟจะต้องกินมากถึงประมาณ 73 ถ้วยต่อวัน ซึ่งคงไม่มีใครดื่มเครื่องดื่มหรือกาแฟมากขนาดนั้นต่อวัน เพราะคนส่วนใหญ่ดื่มกันประมาณ 2-3 ถ้วยต่อวันก็ถือว่ามากแล้ว หากจะใช้หญ้าหวานอย่างปลอดภัย ควรอยู่ใน ประมาณ 1-2 ใบต่อเครื่องดื่ม 1 ถ้วย ถือว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสมและไม่หวานมากจนเกินไป
การที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศไว้นั้นต้องการบอกผู้บริโภคว่า สารให้ความหวานไม่ได้ช่วยควบคุมน้ำหนักในระยะยาว ดีที่สุดคือการควบคุมหรือลดอาหารหวานโดยรวมและก็ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกายด้วย และก็แนะนำหรือเตือนไว้ว่า หากเด็กเยาวชนกินอาหารและเครื่องดื่มรสหวานตั้งแต่เยาว์วัยก็จะติดหวานไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ WHO จึงแนะนำว่า “ควรลดความหวานของอาหารโดยรวม ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย” พวกเราในฐานะผู้บริโภคก็น่าจะรู้เท่าทันความหวานทั้งน้ำตาลและหญ้าหวานด้วย