นักวิจัยเผย “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” ใน กทม. มีใบอนุญาตฯ แค่ 8.24% พบติดตั้งใกล้ฝุ่น 76.3% ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย 28.3% ใกล้ที่ทิ้งขยะ 22% ส่งผลด้านความปลอดภัย ตู้ขึ้นสนิม 29% มีรูรั่วซึม ผุกร่อน หัวจ่ายน้ำไม่สะอาด แนะมาตรการป้องกัน
วันนี้ (2 พ.ย.) น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิจัยอิสระ นำเสนอผลการศึกษา “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” ในงานแถลงข่าว “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ…ผู้บริโภคไว้ใจได้แค่ไหน” จัดโดยคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ว่า จากการสุ่มสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทำในพื้นที่ กทม. 18 เขต รวม 855 ตู้ พบว่า 1.มีการขออนุญาตการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,117 ราย มีใบอนุญาตฯ เพียงร้อยละ 8.24 เท่านั้น 2.สถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เหมาะสม คือ อยู่ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก ร้อยละ 76.3 เช่น ริมถนน ริมทางเท้า อยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 อยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะทำให้มีแม
ลงสาบ หนู แมลงวัน ร้อยละ 22 โดยตู้ที่ยกระดับให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร มีร้อยละ 52.3 มีจุดวางพักภาชนะบรรจุน้ำร้อยละ 88.9
น.ส.มลฤดี กล่าวว่า 3.การติดฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพบว่า แสดงรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำร้อยละ 6 แสดงข้อแนะนำในการใช้ตู้ร้อยละ 20 แสดงรายงานการเปลี่ยนไส้กรองร้อยละ 7 แสดงคำเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ร้อยละ 26.1 แสดงเบอร์ติดต่อกรณีเครื่องมีปัญหาร้อยละ 50.5 4.ลักษณะทางกายภาพของตู้พบ เป็นสนิมร้อยละ 29.4 มีรูรั่วซึมร้อยละ 11.2 มีการผุกร่อนร้อยละ 21.1 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 ตัวตู้ไม่สะอาดร้อยละ 55.2 5.แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มมีการใช้น้ำประปาในการผลิตร้อยละ 93.8 ส่วนร้อยละ 6.2 ไม่มีการระบุ และ 6.การบำรุงรักษาและการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพบว่ามีการล้างถังเก็บน้ำภายในตู้ทุกเดือนเพียงร้อยละ43.3″การแก้ปัญหานั้น ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตฯ และจัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนการติดตั้งตู้ โดยสำนักอนามัย กทม.ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด ถ้าพบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องเรียกเจ้าของตู้ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่สามารถติดต่อได้รื้อถอนตู้ นอกจากนี้ เสนอให้ติดสติกเกอร์ทุกตู้ที่ได้ใบอนุญาตฯ ส่วน อย.ควรเก็บตัวอย่างน้ำตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัย หากน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด เป็นต้น ขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ต้องติดตามกำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม” น.ส.มลฤดี กล่าว
น.ส.มลฤดี กล่าวว่า ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องบังคับให้ผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องขออนุญาตการติดฉลาก รวมถึงติดตามการติดฉลากและการระบุวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองแต่ละชนิด วันเดือนปีที่ตรวจสอบหัวจ่ายน้ำ ช่องรับน้ำ ช่องรับเหรียญ และรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ไมมีการติดฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 พ.ย.2558