สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำร่องหนุนเกษตรกร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้สารสกัดเมล็ดมันแกวกำจัดหนอนหัวดำในมะพร้าว แทนการใช้สารเคมี ทั้งยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของการส่งออกไทยได้ด้วย
ที่มาของโครงการสืบเนื่องจาก จ.ประจวบฯ เป็นหนึ่งในแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวรายใหญ่ของไทย มีพื้นที่การเพาะปลูกกว่า 4.2 แสนไร่ ให้ผลผลิตราว 3 แสนตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านบาทต่อปี แต่พบปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำที่ก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีนำสารเคมีมากำจัดหนอนหัวดำ ซึ่งมีราคาแพงและมีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ รวมถึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว.นำร่องทดสอบประสิทธิภาพสารสกัดเมล็ดมันแกวที่สวนมะพร้าว อ.ทับสะแก พบว่าการฉีดพ่นสารสกัดมันแกว 1 ครั้ง กำจัดหนอนหัวดำได้ถึงร้อยละ 91 ซึ่งมันแกวที่ นำเมล็ดมา สกัด เป็นพันธุ์หัวสีขาวซึ่งในเมล็ดแก่มีสารให้พิษ ต่อแมลง จึงมีประสิทธิภาพในการปราบปราม และออกฤทธิ์ต้านการดูดซึมอาหารของแมลงเป้าหมาย ได้แก่ เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้ หนอนกะหล่ำ หนอนใยผัก ด้วงหมัดกระโดด มวนเขียว หนอนผีเสื้อทั่วไป และแมลงวัน ทั้งยังสลายตัวได้ตามกระบวนการชีวภาพจึงไม่มีพิษตกค้าง และช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร
นอกจากนี้ วว.ยังได้ทดสอบความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ แต่ไม่พบอาการผิดปกติใดๆต่อมนุษย์
ทั้งนี้การดำเนินงานของวว. อยู่ภายใต้ความร่วมมือบูรณาการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลงานวิจัยพัฒนาเพื่อชุมชนของวว. กับจ.ประจวบฯ (โครงการประจวบโมเดล) มีระยะดำเนินการ 4 ปี ระหว่างปี 2556-2559 ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร.0-2577-9300 หรือ 0-2577-9000
ที่มา : นสพ.ข่าวสด 6 มิ.ย.56