ในยุคโควิด-19 ทำให้มีข้อมูลรายงานออกมาพอสมควร สันพร้าหอม คือสมุนไพรชนิดหนึ่ง มีรายงานว่าในสันพร้าหอมมีสารที่เรียกว่า quercetin, quercitrin และ psoralen ซึ่งพบว่าสารสกัดเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการเป็นสารต้านไวรัส โดยสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสใน macrophage ของหนูที่ผ่านทางการเหนี่ยวนำของ pro-inflammatory cytokines และ Type I IFN จึงมีฤทธิ์เป็น immunomodulator ของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดในหนูทดลอง และจากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่าสารสำคัญ quercetin ที่พบสามารถแย่งจับกับตำแหน่ง main protease ที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของข่าวต่างๆ ว่า สันพร้าหอมน่าจะนำมาช่วยป้องกันโควิด 19 ได้
ดังนั้นวันนี้จึงขอนำเสนอข้อมูล เพื่อให้ทุกท่านได้เรียนรู้และเข้าใจสมุนไพรชนิดนี้ กระจ่างชัดขึ้น เริ่มจาก
ในเอกสารวิชาการในรายชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ พบว่าสันพร้าหอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eupatorium chinense L. มีการกระจายพันธุ์ทางเอเชียตะวันออก ตั้งแต่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เจริญได้ทั้งเขตอบอุ่นและเขตร้อน ในประเทศญี่ปุ่นพบอยู่บนภูเขาทั่วไปทั้งประเทศ ในเนปาลพบบนพื้นที่เปิดและบริเวณป่าที่ถูกทำลาย ที่สูง 2,000 – 2,600 เมตร จากน้ำทะเล ในประเทศจีนพบตามแนวชายป่าที่มีความลาดชันหรือทุ่งหญ้าที่ระดับ 200-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล
สำหรับรายงานของหอพรรณไม้ประเทศจีน (Flora of China) พบว่าสมุนไพรชนิดนี้จัดเป็นพืชพิษชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของใบ แต่มีการใช้เป็นยารักษาฝีฝักบัว (carbuncles) หิด (scabies) งูพิษขบ กัด และใช้เป็นยาบรรเทาอาการปวด ใบอ่อนนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหาร แต่ต้องระวังความเป็นพิษ ในเนปาลมีองค์ความรู้ที่นำเอาทั้งต้นนำมาบดเป็นผงเพื่อใช้ผสมทำขนมเค็กที่หมักกับเหล้า (marcha)
ในการสำรวจภาคสนามของเครือข่ายนักวิชาการที่ร่วมทำงานกับมูลนิธิสุขภาพไทย พบว่าในภาคเหนือและภาคอีสานจะมีสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับสันพร้าหอม ซึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีการนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน แต่สมุนไพรชนิดนี้ยังไม่มีรายงานในรายชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ แต่ในขณะนี้ที่สำนักหอพรรณไม้ของกรมอุทยานแห่งชาติ ได้รายงานว่า สันพร้าหอมอีกชนิดนั้นเป็นสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eupatorium fortunei Turcz. ในภาษาอีสานเรียกสมุนไพรนี้ว่า “คำพอง” และเมื่อลองสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เนต พบว่ามีการเรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่าสันพร้าหอมเช่นกัน
สันพร้าหอมชนิด Eupatorium fortunei Turcz.) เป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง ที่มีอายุได้หลายปีพบขึ้นบริเวณตามหุบเขาหรือลำธาร แต่พบได้ยากมากในธรรมชาติ ส่วนใหญ่นำมาปลูกเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ในประเทศไทยพบปลูกมากทางภาคเหนือและภาคอีสาน ดอกของต้นคำพอง เมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายดอกลาเวนเดอร์ ดอกมีตั้งแต่สีขาวไปจนถึงสีม่วงอมแดง ในประเทศจีนมีการนำเอาพืชชนิดนี้มาสกัดน้ำมันผลิตเป็นหัวน้ำหอม คำพองมีการใช้เป็นยาสมุนไพรมากทั้งในประเทศจีนและญี่ปุ่น ในตำรายาจีนใช้เป็นยากระตุ้นให้อยากอาหาร ลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนหรืออยู่ในที่มีอากาศร้อนชื้นมากเกินไป ในปัจจุบันใช้รักษาอาการหวัดลงกระเพาะและกระเพาะอักเสบเฉียบพลัน โดยนำไปเข้าตำรับกับมิ้นท์เกาหลี (Agastache rugosa)
สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน นิยมนำมากินเป็นผักสดแกล้มกับลาบได้อร่อยดี (คนกรุงเทพอาจไม่เคยลิ้มรส) ในส่วนของใบจะอุดมไปด้วยวิตามินซี และหมอพื้นบ้านยังมีการใช้คำพองหรือสันพร้าหอมชนิดนี้ใช้เป็นยาปรับธาตุ ช่วยระบายและแก้อาการท้องร่วงในเวลาเดียวกัน วิธีกินจะกินแบบอาหารสุขภาพคือส่วนใหญ่จะนิยมนำมากินกับน้ำพริก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของคำพอง คือ เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 70-120 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อของลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบเรียบหรือจักเป็นฟันเลื่อย ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น คล้ายซี่ร่ม ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกประมาณ 4-6 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก และข้อมูลจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกล่าวว่า คำพองหรือสันพร้าหอมชนิด Eupatorium fortunei Turcz. มีกล่าวไว้ในตำรายาไทยระบุว่า
ใบมีรสสุขุม แก้ไข้พิษ แก้ไข้หวัด ถอนพิษไข้ ผสมในยาแสงหมึก บรรเทาหัด อีสุกอีใส ผสมในยาเขียว และเป็นยาหอมชูกำลัง บำรุงหัวใจ ใบสดขยี้ คั้นน้ำ หรือต้มน้ำชุบผ้าก็อซปิด สมานแผล ทำให้เลือดหยุด และในบัญชียาจากสมุนไพร(บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร) ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ใน “ตำรับยาเขียวหอม” จะมีตัวยาที่ใช้ใบคำพองหรือสันพร้าหอมร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ระบุสรรพคุณว่า บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส) ส่วนการใช้เป็นยาของหมอพื้นบ้าน ใช้แก้ไข้ แก้หวัด บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด แก้มะเฮ็งคุดหรืออาการไมเกรน และในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในภาคอีสาน มีการใช้คำพองทั้งต้นเป็นเครื่องหอม ซึ่งตรงกับการใช้ประโยชน์ในประเทศจีน คือ ใช้ต้นคำพองเป็นเครื่องบำรุงผิว ซึ่งมีความน่าสนใจมาก
แต่ที่ขอเน้นว่า คำพองหรือสันพร้าหอมชนิดนี้ไม่มีพิษเหมือนกับสันพร้าหอมชนิด Eupatorium chinense L. จึงแสดงให้เห็นว่าสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด ถึงจะเรียกชื่อซ้ำกันแต่เป็นคนละชนิดกัน และมีสารสำคัญในพืชคนละอย่างจึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน จากการค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการพบว่างานวิจัยเชิงลึกที่แสดงให้เห็นว่า ต้นคำพองคือพืชสมุนไพรที่มีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 มากกว่าต้นสันพร้าหอม ชนิด Eupatorium chinense L. ซึ่งเป็นพืชพิษ ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และสันพร้าหอมที่เกี่ยวกับโควิด-19 ยังจำเป็นต้องศึกษาวิจัยอีกมาก ยังนำมาใช้รักษาโรคโรควิด-19ไม่ได้ในขณะนี้
วันนี้ชวนให้เรียนรู้สันพร้าหอมทั้ง 2 ชนิด และพิจารณาอย่างรอบครอบก่อนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป.