น้ำนมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก แต่ละหยดอุดมไปด้วยคุณค่า สารอาหารมากมายรวมตัวในน้ำนมสู่ปากลูก แต่ตัวแม่เองก็สูญเสียสารอาหารในร่างกายไม่น้อยจนอาจเข้าสู่สภาวะขาดสารอาหารได้ ฉะนั้นหากแม่ระยะให้นมลูกมีอาการ อาทิ อ่อนเพลีย เหน็บชา เป็นตะคริว เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว แผลหายช้า
นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายกำลังขาดสารอาหาร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตัวเองและประสิทธิภาพการเลี้ยงลูกน้อย จึงจำเป็นที่แม่ระยะให้นมบุตรต้องดูแลเรื่องโภชนาการอย่างเร่งด่วน
รศ.ประไพศรี ศิริจักรวาล นักวิชาการด้านโภชนาการ กล่าวว่า คุณแม่ระยะให้นมบุตรอาจไม่ทราบว่ากำลังมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารอาหารบางชนิดเพียง 30% ของความต้องการของร่างกาย ซึ่งรายงานสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ.2546 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้ว่า แม่ระยะให้นมบุตร
ต้องการสารอาหารหลายชนิด มากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์หรือช่วงตั้งครรภ์เสียอีก เพื่อตัวเองและผลิตน้ำนมให้ลูกน้อย
ฉะนั้นคุณแม่อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ได้แก่ แคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินซี ขณะเดียวกันก็ควรได้สารอาหารเพิ่มอีกเท่าตัว ได้แก่ เหล็ก วิตามิน บี1 และวิตามิน บี2
“แม่จะขาดสารอาหารหรือไม่นั้น ไม่ได้ตัดสินกันที่รูปร่าง เพราะมีแม่จำนวนมากที่ขาดสารอาหารทั้งๆ ที่รับประทานอิ่มทุกมื้อและสมส่วนดี ฉะนั้นแม่ระยะให้นมบุตรควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ใส่ใจในสุขภาพและโภชนาการของตนเองมากขึ้น เลือกรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารจำเป็นในปริมาณที่แน่ใจได้ว่าเพียงพอ”
“คุณแม่ควรรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง รับประทานตับสัปดาห์ละ 1-2 ช้อนกินข้าว โดยอาจเลือกทานมะละกอสุกให้ได้ปริมาณ 200 กรัมต่อวัน หรือร่วมกับการได้รับวิตามินเอจากแหล่งอื่น เช่น ผักใบเขียว ในขณะเดียวกันควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อย 800 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งปกติจะได้รับแคลเซียมจากอาหารอื่นๆ อยู่เพียงประมาณ 30% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน จึงควรเสริมด้วย
การดื่มนมจืดทั่วๆ ไป วันละ 2 แก้ว หรืออาจพิจารณานมสูตรเฉพาะ หรือแคลเซียมเม็ดเป็นทางเลือก” รศ.ประไพศรีกล่าวให้คำแนะนำ เริ่มต้นเลี้ยงลูกที่ดีด้วยการดูแลสุขภาพตัวเอง
ที่มา : มติชน 24 เม.ย.2557