สะค้าน เป็นสมุนไพรและจัดเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารประเภทแกงด้วย ช่วยเพิ่มรสเผ็ดและทำให้อาหารมีกลิ่นหอม ยังเสริมให้มีรสชาติกลมกล่อมมากขึ้น และยังช่วยดับกลิ่นคาวในอาหารได้อีกด้วย โดย เฉพาะภาคเหนือและอีสานตอนบนนิยมนำมาปรุงกินในอาหารกันมาก ในบางพื้นที่ใส่สะค้านแทนเนื้อสัตว์เลย
ในด้านยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ระบุการใช้สะค้านไว้ในตำรับ “ยาเบญจกูล” มีส่วนประกอบของเถาสะค้านร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ซึ่งตำรับยานี้มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บำรุงธาตุ แก้ธาตุให้ปกติ นอกจากนี้ยังพบสะค้านเป็นสมุนไพรในตำรับยาอีกมากมาย เช่น ในตำรับพระโอสถพระนารายณ์ มีตำรับ ยามหาจุลทิพย์ แก้เส้นอัมพาต และตำรับ น้ำมันมหาวิศครรภราชไตล เป็นยาทำให้โลหิตไหลเวียนดี และเป็นยาคลายเส้น เป็นต้น
กล่าวถึงสรรพคุณในตำรายาไทยกล่าวไว้ว่า เถาสะค้าน มีรสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้แน่น แก้จุกเสียด บำรุงธาตุ ทำให้ผายเรอ และใช้ปรุงยาธาตุ แก้ธาตุพิการ เป็นตัวยาประจำธาตุลม แก้ไข้ แก้หืด รากมีรสเผ็ดร้อน แก้ไข้ แก้หืด แก้จุกเสียด และบำรุงธาตุ ใบมีรสเผ็ดร้อน แก้ลมในกองเสมหะ และโลหิต ขับลมในลำไส้ แก้แน่นจุกเสียด แก้ธาตุพิการ ผลมีรสเผ็ดร้อนอ่อนๆ แก้ลมแน่นในทรวงอก บำรุงธาตุ ดอกมีรสเผ็ดร้อนเช่นกัน ใช้แก้ลมอัมพฤกษ์ แก้ลมปัตคาดอันเนื่องมาจากพิษพรรดึก
จากฐานข้อมูลเครื่องยาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุไว้ว่า สะค้านที่ใช้เป็นเครื่องยามาจากพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ถึง 3 ชนิด ได้แก่ 1.Piper ribesioides Wall., 2. Piper wallichii (Miq.) Hand.-Mazz. และ 3. Piper interruptum Opiz ซึ่งได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมให้เรียนรู้กันดังนี้
1) ตะค้านเล็กหรือตะค้านหยวก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper ribesioides Wall. ชื่อสามัญ Ming Aralia, Parsley Panax และจากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิว (Kew Garden) ตะค้านชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดกระจายตัวอยู่ในอินเดีย ศรีลังกา กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ มาเลเซีย สุมาตรา ไทย เวียดนาม ลักษณะเป็นไม้เถาแห้งสีน้ำตาล ทรงกระบอก ผิวขรุขระ มีข้อปล้อง รากฝอยติดอยู่ตามข้อ เปลือกค่อนข้างอ่อน เนื้อสีเหลืองน้ำตาล มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดร้อน นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ผลนำมาสกัดน้ำมัน ใช้เป็นเครื่องเทศ ลำต้นใช้ประกอบอาหารมีรสเผ็ดค่อนข้างมาก มีรสผสมผสานระหว่างพริกและพริกไทย ใบเมื่อเคี้ยวจะทิ้งรสเผ็ดไว้ในปากเป็นเวลานาน ลาวตอนเหนือและภาคเหนือของประเทศไทยนิยมนำส่วนลำต้นมาประกอบอาหาร รสสัมผัสเหมือนเนื้อไก่
สรรพคุณทางยามีคุณสมบัติคล้ายพริกหาง (Piper cubeba L.f.) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ น้ำมันที่สกัดได้จากผลตะค้านเล็กมีกลิ่นหอมฉุน คล้ายกลิ่นน้ำมันสน (turpentine-allspice aroma) ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ (antiseptic) ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ทำให้เจริญอาหาร ผลอ่อน เมื่อนำมาทำให้แห้งใช้เป็นยาแก้ไอ หลอดลมอักเสบ ไซนัส ลดการติดเชื้อในลำคอและการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ฟื้นฟูระบบย่อยอาหารที่ผิดปกติและอาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้ออะมีบ้า (amoebic dysentery) เนื้อจากเถานำมาใช้อมแก้เจ็บคอ ตะค้านเล็กนี้น่าส่งเสริมให้มีการบริโภคในยุคโควิด-19 ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ได้ ในตลาดพื้นบ้านภาคเหนือพบการจำหน่ายตะค้านเล็กหรือตะค้านหยวก และยังมีสะค้าน (อีกชนิดหนึ่ง)ที่ตัดเป็นท่อนๆ หรือชิ้นๆ ซึ่งมีเนื้อเถาค่อนข้างดำที่มักนำมาปรุงอาหารแทนเนื้อสัตว์ แต่ตะค้านหยวกนิยมนำมากินมากกว่า
2) จะค้าน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper wallichii (Miq.) Hand.-Mazz. มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พลูป่า (น่าน) ตะค้านหนู (สระบุรี) ชะพลูป่า (ชลบุรี) ผักแค พลูแก พลูตุ๊กแก พลูกะตอย สะค้านหนู ถิ่นกำเนิดกระจายตัวอยู่ที่ อัสสัม บังคลาเทศ จีน หิมาลายาตะวันออก ลาว เมียนมาร์ เนปาล ไทย จะค้านชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกเลื้อยพัน ลำต้นตั้งตรงหรือรอเลื้อย มีข้อโป่งพอง ใบเดี่ยว รูปรี รูปไข่ ออกเรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ มีก้านใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เป็นผลรวมที่เกิดจากดอกเจริญมาเป็นผลและอัดกันแน่นอยู่บนก้านผลอันเดียว
ใบใช้กินสด ๆ เป็นผัก หรือใช้ห่อเมี่ยงต่าง ๆ แล้วยังนิยมนำมาทำแกงคั่วอีกด้วย ในตำรายาพื้นบ้านล้านนาใช้จะค้านชนิดนี้ทั้งต้น นำมาตำพอกแก้อาการอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย สารสกัดจากผลจะค้านด้วยแอลกอฮอล์พบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ยับยั้งการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจ และกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้และมดลูกในสัตว์ทดลอง มีการศึกษาเชิงลึกพบสารสำคัญอย่างน้อย 15 ชนิด ในกลุ่มของไตรเตอปินอยด์ กลุ่มสเตอรอล กลุ่มแอลคาลอยด์ และกลุ่มฟินอลลิก สารเหล่านี้มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านอักเสบ และยับยั้งการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด
3) สะค้าน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper interruptum Opiz จากฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์
หลวงเมืองคิวกล่าวไว้ว่า สะค้านชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดกระจายตัวอยู่ที่ ไต้หวันไปจนถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย ไม่มีรายงานว่าพบในประเทศไทย แต่ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดน่าจะเป็นการนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย มีงานวิจัยเชิงลึกที่แสดงให้เห็นว่าเถาของสะค้านชนิดนี้มีสรรพคุณต้านการอักเสบและลดไข้
สะค้านอยู่ในวิถีชีวิตพื้นบ้านมานานแล้ว ปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจปลูกกันเพิ่มขึ้นในแง่ไม้ประดับ แต่เมื่อดูข้อมูลต่างๆ แสดงให้เห็นว่าสะค้านเป็นอาหารและสมุนไพรที่น่าส่งเสริมการใช้อย่างมาก ยิ่งในสถานการณ์ที่ยังอยู่กับโควิด-19 ยิ่งน่าส่งเสริมให้ปลูกและใช้กันมากขึ้น และทราบมาว่าการดำเนินงานของสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไทที่ลงทำงานกับชุมชนพบว่า หมอพื้นบ้านภาคใต้ยังมีการใช้สะค้านเป็นยา ซึ่งไม่เหมือนกับ 3 ชนิดข้างต้น หมอพื้นบ้านเรียกว่า สะค้านหนัง สะค้านป่า เป็นต้น ซึ่งสะค้านพื้นบ้านนั้นควรเร่งวิจัย และส่งเสริมการปลูกสะค้านทุกชนิดเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตามระบบภูมินิเวศ ซึ่งคือความมั่นคงด้านยาสมุนไพรของเราด้วย.