จากการลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อติดตามสถานการณ์การใช้ยาไม่เหมาะสมในชุมชน โดย “แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา” (กพย.) ทั้งที่พื้นที่ อ.บางบาล และ อ.คลองตะเคียน พบว่า ก่อนที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเครือข่ายเภสัชกรชุมชน จะทำการรณรงค์เชิงรุกและสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสมนั้น ที่นี่นับเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างมาก
ภก.สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการประจำกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ซึ่งทำงานด้านการเฝ้าระวังด้านยาในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เล่าว่า ปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสมของชาวบ้านที่นี่จะแตกต่างกันไปในแต่ละอำเภอ มีทั้งปัญหายาชุดที่ผสมสารสเตียรอยด์และยาปฏิชีวนะ ปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อนทำให้ได้รับยาเกินขนาด และปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อคนได้
เริ่มต้นจากปัญหายาชุดแผนปัจจุบัน ภก.สันติ กล่าวว่า เป็นปัญหามากในพื้นที่ อ.คลองตะเคียน พบกระจายจำหน่ายตามร้านชำและร้านขายของทั่วไป มีการจัดขนานยา 4-5 เม็ดและบรรจุใส่ซองเพื่อใช้รักษาโรคต่างๆ และจากการติดตามเก็บตัวอย่างตรวจสอบพบการจัดยาชุดถึง 10 ขนาน ซึ่งที่น่าห่วงเพราะพบแม้กระทั่ง “ยาบำรุงไต” มีฉลากติดบอกชัดเจน และจากการแกะดูยาในซองพบว่า ส่วนใหญ่ยาแก้ปวดกลุ่มเดียวกัน 3-4 เม็ด และพบยาสเตียรอยด์ปะปนอยู่ ที่น่าตกใจเพราะมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ซื้อกินเป็นประจำ เกิดความเสี่ยงต่อการรับยาเกินขนาด
“มีผู้ป่วยรายหนึ่งเหลือไตเพียงข้างเดียว มีอาชีพขับรถบรรทุก เวลาขับรถต้องนั่งอยู่ในรถนานๆ ทำให้รู้สึกปวดหลัง และคิดว่าเริ่มมีอาการทางไต จึงซื้อยาชุดบำรุงไตร้านชำหน้าปากซอยมากิน อาการที่ปวดหายไป จึงซื้อกินต่อเนื่องเป็นประจำนาน 2 ปี จนส่งผลให้ไตที่เหลือเพียงข้างเดียวเกิดภาวะไตวาย ตอนนี้ต้องรอการเปลี่ยนถ่ายไตใหม่ กรณีที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างชัดเจน ในชุมชนมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ซื้อยาชุดเหล่านี้มากินและมีความเสี่ยงทำให้ไตทำงานหนักจากการรับยาเกินขนาด” ภก.สันติ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมียาชุดแก้หวัด ภายในซองจะมียาพาราเซตามอลสำหรับแก้ปวด แต่ยาจะมีสีสันแปลกๆ ภก.สันติ ระบุว่า สิ่งที่ทำให้เป็นห่วงและเห็นว่าจะก่อให้เกิดปัญหา คือ ยาชุดแก้หวัดนี้ยังประกอบไปด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งโดยปกติแล้วยากลุ่มนี้นอกจากต้องควบคุมการใช้ที่ไม่พร่ำเพรื่อแล้ว ผู้ป่วยยังต้องกินยาให้ครบจำนวนตามที่แพทย์สั่ง เพราะไม่เช่นนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งพฤติกรรมของชาวบ้านที่ซื้อยาชุดเหล่านี้ อย่างมากจะซื้อเพียงแค่ 2-3 ชุด เมื่อกินไปแล้วรู้สึกอาการดีขึ้นก็จะหยุดยาทันที แต่เมื่อมีอาการอีกก็จะกลับไปซื้อมากินเพิ่มอีก ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาได้ นอกจากปัญหารับยาเกินความจำเป็น นับเป็นเรื่องที่น่าวิตก
“ร้านขายของชำเหล่านี้ไม่มีความรู้เรื่องยา ส่วนใหญ่จะไปซื้อยาจากร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำร้าน ซึ่งมักเป็นร้านที่ซื้อประจำ โดยจะซื้อยารายการละ 100-200 เม็ด ตกครั้งละ 1,000-2,000 บาท และนำมาจัดใส่ซองเองพร้อมติดฉลากบรรยายสรรพคุณ ขายซองละ 5-10 บาท ซึ่งจะได้กำไรพอควร ชาวบ้านเมื่อกินแล้วรู้สึกดีขึ้น ที่เป็นผลจากยาแก้ปวดและสเตียรอยด์ เมื่อดีขึ้นก็มักจะกินต่อ และยังบอกต่อๆ กัน จนแพร่กระจายเป็นวงกว้าง” เภสัชกรชำนาญการประจำกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคระบุ
ส่วนสาเหตุที่ชาวบ้านเลือกซื้อยาชุดเหล่านี้จากร้านชำมารักษาอาการมากกว่าไปหาหมอนั้น ภก.สันติ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญมาจากเรื่องความสะดวก อย่างผู้ป่วยที่เป็นไตวายนั้น แม้แต่ร้านยาที่มีเภสัชกรประจำร้านซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดยังต้องขับรถไกลออกไปถึง 5 กิโลเมตร ขณะที่ร้านชำอยู่แค่หน้าบ้าน ซ้ำยังมีราคาถูกแค่ 5-10 บาท และเห็นผลทันที ทั้งนี้ผู้ที่กินส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงาน เท่าที่สำรวจพบร้านชำเหล่านี้ประมาณ 10 แห่งได้
ภก.สันติ กล่าวว่า นอกจากปัญหาจากยาชุดแล้ว การใช้ยาซ้ำซ้อนยังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องแก้ไข พบมากในพื้นที่ อ.บางบาล เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วม ทำให้ชาวบ้านแถวนี้ได้รับการบริจาคจากหน่วยงานต่างๆ เป็นประจำ รวมถึงยาและเวชภัณฑ์ โดยยาบางอย่างเป็นยารายการเดียวกัน แต่มีลักษณะและสีต่างกัน ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นคนละรายการ จึงกินยาซ้ำซ้อน ซึ่งยังไม่นับรวมยาที่ได้รับเวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิก หรือที่โรงพยาบาล
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ จึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ และน้องๆ เภสัชกร จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาด้านยา โดยเฉพาะการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ความรู้กับชาวบ้านในการใช้ยาอย่างถูกต้อง ผ่านทางแกนนำชุมชน อสม. เน้นที่การเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จากเดิมที่เพียงแค่การตั้งรับอยู่เฉพาะในโรงพยาบาล รอให้ชาวบ้านเกิดปัญหาสุขภาพจากการใช้ยาก่อน นอกจากนี้ยังร่วมกับทีมแพทย์ลงไปตั้งโต๊ะตรวจสุขภาพและให้ความรู้ในพื้นที่ ซึ่งจากที่ได้ดำเนินงานมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สามารถช่วยลดปัญหาลงได้ ชาวบ้านส่วนหนึ่งเริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาไม่เหมาะสมมากขึ้น
นอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว ภก.สันติ กล่าวว่า ยังพบการใช้ “ยาทรามาดอล” ที่เป็นยาแก้ปวดนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ระบาดในกลุ่มเยาวชนที่มักซื้อไปกินก่อนที่จะตีกับวัยรุ่นด้วยกัน มีความเชื่อว่ากินเพื่อกันไม่ให้เจ็บเวลาถูกตี รวมถึงมีเยาวชนบางส่วนที่ติดเกมเล่นจนดึกดื่น มักจะกินยาเหล่านี้ก่อนกลับบ้านเพื่อที่เวลาถูกตีทำโทษจะไม่เจ็บ นอกจากนี้ยาทรามาดอลนี้ยังถูกนำไปใช้ในกลุ่มแรงงาน เพื่อให้สามารถทำงานหนักมากขึ้น ไม่ปวดเมื่อย ซึ่งยาทรามาดอลนี้เป็นยาอันตรายอยู่ในความควบคุม ซื้อได้จำกัด และต้องให้เภสัชกรเป็นผู้จำหน่าย แต่ก็มีการลักลอบขายในร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำ เป็นอีกหนึ่งปัญหาต้องแก้ไข เช่นเดียวกับกรณียายาลูกกลอน ยาสมุนไพร ที่มักพบผสมสารสเตียรอยด์ ซึ่งยังพบปัญหาอยู่มาก
ภก.สันติ กล่าวว่า ไม่เพียงแต่การใช้ยาในคนเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่การใช้ยาในสัตว์ได้เริ่มพบปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะที่ชาวบ้านมักนำมาใช้กับไก่ชน เวลาบาดเจ็บจากการตี ได้แก่ คลอแรมเฟนิคอล แอมม็อกซี่ ซึ่งรวมไปถึงยารักษาวัณโรค ที่มีผลต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งหากใช้เป็นประจำไม่มีการควบคุมจะทำให้เชื้อเหล่านี้เกิดการดื้อยาได้และอาจแพร่กระจายสู่คน และจะทำให้ผู้ป่วยไม่มียารักษาได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสมนั้นมีอยู่มาก และมักมีปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะต้องประสานร่วมมือกันทุกฝ่าย และแม้แต่ชาวบ้านเองเพื่อช่วยกันเฝ้าระวัง
ด้าน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า อันตรายจากการใช้ยาไม่เหมาะสม นับเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แม้ว่าที่ผ่านมาทางเครือข่ายเฝ้าระวังด้านยา เครือข่ายเภสัชกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสมและไม่เป็นอันตราย แต่ขณะเดียวกันหน่วยงานระดับนโยบายเองควรที่จะออกมาตรการเพื่อควบคุมปัญหาเช่นกัน โดยต้องป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเฉพาะในกลุ่มยาที่เป็นปัญหาอย่างสารสเตียรอยด์ที่มักพบผสมในยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ
“สารสเตียรอยด์มีประโยชน์ในทางการแพทย์ รักษาผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ แต่ด้วยฤทธิ์ยาที่ช่วยรักษาได้รวดเร็ว ทำให้มีผู้นำไปผสมและใช้ผิดวิธีจนส่งผลอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาทาง กพย. เคยเสนอให้ ควบคุมที่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่การนำเข้า การกระจายและจำหน่าย เพื่อไม่ให้เล็ดลอดถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ส่งผลให้สเตียรอยด์ยังคงเป็นปัญหา” ภญ.นิยดา กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวินะที่ผิดวิธี และเริ่มพบการนำไปใช้ในสัตว์ พบแม้กระทั้งยารักษาวัณโรคที่นำมาใช้ในไก่ชน ซึ่งหากไม่เร่งควบคุม และปล่อยให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยาต่อเนื่อง ที่สุดผู้ป่วยจะไม่มียาใช้ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายหันมาช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งปลายปีนี้จะมีการนำเรื่องการใช้ยาไม่เหมาะสมเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อหาทางออกร่วมกัน
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 2 ต.ค.2557