พื้นที่ ต.ทางพูน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราชยังไม่เคยมีการจัดการความรู้ด้านภูมิปัญญาสุขภาพมาก่อน
ทางเราและคณะทำงานในพื้นที่จัดเวทีพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่และภาคีเครือข่าย
จากนั้นมีการวางแผนและเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาชุมชน โดยใช้กระบวนการการเรียนรู้จากประสบการณ์
หลังจากพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่และภาคีเครือข่าย หลายๆ ฝ่ายมองเห็นในทิศทางเดียวกัน เห็นความสำคัญของการสร้างสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นภูมิร่วมกันแล้ว จึงจัดตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพตำบลทางพูน ประกอบด้วย รพ.สต.บ้านสระเพลง เทศบาลตำบลทางพูน และ ชุมชน ซึ่งคณะกรรมการฯ จะเป็นกลไกขับเคลื่อนและการดำเนินกิจกรรม
การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพตำบลทางพูนหรือจะเป็นคณะกรรมการใดๆ ก็แล้วแต่ เราต้องทำความเข้ากับคนหลายกลุ่ม ภาคีเครือข่ายหลายฝ่ายเสียก่อน ให้มีความตระหนัก มีทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน
การจัดตั้งคณะกรรมการแบบมีคำสั่งจัดตั้งไม่ก่อให้เกิดผลดีเลยค่ะ
อีกส่วนที่สำคัญนอกเหนือจากการมีคณะกรรมการ ฯ (หน่วยวิชาการ) คือ “คนทำงาน” กลุ่มคนที่จะคอยเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติการกับชุมชน หากองค์ประกอบทั้ง 2 ส่วนนี้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ก็จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การขับเคลื่อนและผลักดันของคณะกรรมการฯ ทำให้คนในชุมชนมีทางเลือกในการจัดการสุขภาพมากขึ้น เช่น มีตำรับยาและนวัตกรรมยาพอกเข่าหรือเจลพอกเข่า มีตำรับอาหารท้องถิ่นเพื่อสุขภาพ องค์ความรู้เรื่องผักสมุนไพรท้องถิ่น เป็นต้น ตำรับอาหารท้องถิ่น เช่น มะพร้าวคั่ว (ใช้กล้วยน้ำว้าสุกแทนน้ำตาล) แกงเลียงหมากหมก (ตำรับอาหารที่ใช้สำหรับผู้ป่วยหลังมีอาการไข้โดยเฉพาะ)
มีการทดลองให้ผู้สูงอายุที่มีอาการปวดเข่าจำนวน 30 คนทดลองใช้เจลพอกเข่าพบว่า อาการปวดเข่าลดลง
นอกจากนั้นทำให้เกิดกิจกรรมกับคนหลายกลุ่มในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุมีหลักสูตรการดูแลสุขภาพที่มีส่วนของเนื้อหาการเรียนที่ใช้องค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาสุขภาพเป็นฐาน ซึ่งในหลายๆ ตำบลจะมีโรงเรียนผู้สูงอายุที่จะให้ ผู้สูงอายุมาทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้สูงอายุหลายคนมีภูมิปัญญา มีองค์ความรู้ ซึ่งการมาพบปะของผู้สูงอายุก็เท่ากับการได้รวบเอาวิชาความรู้มาไว้ด้วยกัน
เวทีแบบนี้ทางเราได้ช่วยกันถอดบทเรียนเป็นองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ในส่วนของหักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุมี เทศบาลตำบลทางพูนเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการ โดยใช้ฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของคณะกรรมการ ฯ
ต.ทางพูนมีพืชท้องถิ่นที่มีความจำเพาะ เช่น ต้นหมากหมก ต้นตะเคียน ต้นเสม็ดขาว พอสมาชิกในชุมชนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของพืชในท้องถิ่น
ทำให้เกิดความตระหนักและการอนุรักษ์พืชสมุนไพรท้องถิ่นที่สำคัญของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ต้นหมากหมก ต้นพาโหม ยอดทำมัง เป็นต้น เกิดเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม คือ ทางโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ จัดทำสวนผักและสมุนไพรท้องถิ่น และเพาะขยายพันธุ์พืชสมุนไพรท้องถิ่น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการจัดการสุขภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลทางพูน เป็นการจัดการสุขภาพที่ใช้ต้นทุนจากทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ภายในชุมชนเป็นสำคัญ ทำให้ชุมชนสามารถสร้างสรรค์การจัดการสุขภาพที่เป็นเอกลักษณ์และกลมกลืนกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน แต่สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพได้จริง
และนี่คือเรื่องราวของตำบลเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก
#มูลนิธิสุขภาพไทย #สร้างสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลทางพูน
#สุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ #สสส.