ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ คือสิ่งที่ดีที่สุดแน่นอน แต่ก็ปฎิเสธไมได้ว่าโรคภัยไข้เจ็บก็เกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาการป่วยที่เป็นกันบ่อยและง่ายที่สุดน่าจะเป็น อาการไข้ ตัวร้อน ที่เป็นกันได้ง่ายๆ ตั้งแต่เด็กถึงสูงวัย แค่อากาศเปลี่ยน (เหมือนทุกวันนี้) เดี๋ยวร้อน หนาว แล้วก็เจอละอองฝน ร่างกายรับไม่ทันก็ไข้จับได้ง่ายๆ ถ้าผสมโรงกับเชื้อไข้หวัดน้อยหวัดใหญ่หวัดโควิด จากไข้ตัวร้อนธรรมดาก็กลายเป็นไข้ที่ต้องเฝ้าระวังไม่ให้ลุกลาม
แต่ไม่ว่าจะไข้ธรรมดาหรือไข้หวัดต่างๆ หากเรามีสติรู้เนื้อรู้ตัวกับอาการแรกเริ่มที่แสดงออกจากอาการไข้ ที่เริ่มรู้ตัวว่าตัวชักร้อน ๆ อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ (ปกติ 37 องศาเซลเซียส) หรือเรารู้ดีว่ามีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มึนๆหัว อาการหนาวๆ ร่างกายอาจมีอาการเมื่อยๆ ตัวบ้าง หากเริ่มมีอาการไข้ที่เราจับสัญญาณเร็วและสามารถหาวิธีลดไข้หรือคุมอาการไม่ให้ลุกลามได้เร็ว ก็ย่อมดีต่อสุขภาพของเรา
หากกลับไปศึกษาในคัมภีร์ดั้งเดิมในพระคัมภีร์ตักกะศิลา กล่าวถึงไข้หวัดน้อยที่อาการไม่รุนแรง และไข้หวัดใหญ่ที่อาการรุนแรงมากกว่านั้น กล่าวถึงวิธีรักษาไว้ว่า
“ให้แต่งยากระทุ้ง (ขับพิษไข้จากภายในร่างกาย) ให้กิน ชื่อว่าแก้วห้าดวง เอารากคนทา 1 รากไม้เท้ายายม่อม 1 รากชิงชี่ 1 รากมะเดื่อ 1 รากหญ้านาง 1 ยาทั้งหมดนี้เอาเสมอภาค (ชั่งน้ำหนักเท่ากันทุกตัว) ต้มให้กิน แล้วจึงแต่งยาประสะกระทุ้งผิวภายนอก ใบหญ้านาง 1 ใบมะขาม 1 เอาเสมอภาค เอาดินประสิวใส่แต่พอสมควร ละลาย น้ำซาวข้าวพ่น (ตามผิวหนัง) ถ้ามิฟังให้เอาใบทองหลางใบมน 1 เปลือกทองหลางใบมน 1 ข้าวสารด้วย เอาเสมอภาคแทรกดินประสิวทั้งกินทั้งพ่น”
เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าในพระคัมภีร์นี้ใช้หลักการเอายาเย็นกินกระทุ้งขับพิษภายในร่างกายออกมา แล้วใช้ทาพ่นที่ผิวกายเพื่อกระทุ้งขับพิษที่ผิวหนัง เป็นความลึกซึ้งของตำรับยาสมุนไพรที่ปรับสมดุลความร้อนเย็นภายในร่างกาย ให้มีภูมิต้านทานต่อพิษไข้ถ้าในภาษาพ.ศ.นี้ก็เรียกว่ารับมือกับไวรัสไข้หวัดนั่นเอง ตำรับยานี้ในปัจจุบันได้รับการบรรจุอยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เรียกว่า ยาห้าราก บรรเทาอาการไข้ ในผงยา 100 กรัม ประกอบด้วย รากย่านาง รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากชิงชี่ รากไม้เท้ายายม่อม(สมุนไพรแต่ละชนิด เท่ากับ 20 กรัม) ปัจจุบันมีการบรรจุในแคปซูลขนาด 500 มก. ให้กินครั้งละ 2-3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร สำหรับเด็กลดขนาดยาลงครึ่งหนึ่ง
ตำรับยาที่ลดไข้ได้ดี และอยู่ในรายการบัญชียาหลักด้านสมุนไพรของชาติอีก 1 ตำรับ คือ ยาจันทน์ลีลา ซึ่งมีที่มาจากตำราเวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม 1 และในตำราของพระยาพิศณุประสาทเวช ร.ศ.127 สูตรตำรับ ในผงยา 99 กรัม ประกอบด้วย โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาวหรือจันทร์ชะมด แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก ทุกอย่างๆ ละ 12 กรัมและพิมเสน 3 กรัม ปัจจุบันผลิตยาชนิดแคปซูลและชนิดเม็ด ผู้ใหญ่กินลดไข้ ถ้าขนาดแคปซูล 500 มก. ก็ให้กิน 2-4 แคปซูล ทุก 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ถ้าเด็กก็ลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง
ตำรับยาลดไข้ 2 ตำรับนี้แนะนำให้มีติดบ้านติดที่ทำงาน ยามที่เริ่มมีอาการไข้ก็หยิบใช้ได้สะดวก แต่ผู้ที่นิยมปรุงยาสดจากธรรมชาติ และชื่นชอบการปลูกสมุนไพร หรือเก็บเกี่ยวสมุนไพรสดทำแห้งเก็บยาไว้ใช้นั้น ขอแนะนำสูตรยาแก้ไข้ใกล้มือที่ลดไข้ได้ดีเยียม เริ่มจากสมุนไพรยอดฮิตซึ่งเป็นที่ยอมรับแก้ไข้แก้หวัดมาก่อนโควิด-19 จะบุกโลกแล้ว นั่นคือ ฟ้าทะลายโจร ผู้ที่ปลูกตนสดและเก็บเป็นใบแห้งไว้ นำใบแห้งมา 1 หยิบมือ ชงน้ำร้อนเดือดๆ ทิ้งไว้พออุ่นๆ กิน แต่รสชาติจะขมมาก สามารถแต่งรสโดยบีบน้ำมะนาวเล็กน้อยตัดรสขมได้ กินวันละ 3-4 แก้ว บางท่านใช้ต้นสดตัดมา 1 ต้น ใส่น้ำท่วมยาต้มเดือด รินน้ำยากินครั้งละ 1 แก้ว ก็ได้เช่นกัน หรือสะดวกหาซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรติดบ้านก็ดี
หญ้าใต้ใบ หรือ ลูกใต้ใบ ก็เป็นวัชพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ดี นำหญ้าใต้ใบสัก 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 3-4 แก้ว ให้เดือดนานสัก 1 นาที กินน้ำยาครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร และก่อนนอน ขอบอกว่ารสยาหญ้าใต้ใบมีรสขมไม่น้อยไปกว่าฟ้าทะลายโจร สมุนไพรรสขมใกล้ตัวอีก 1 ชนิด คือ สะเดา ให้เอาก้านสะเดาประมาณ 15 ก้าน หั่นเป็นท่อนสั้น ๆ ประมาณ 1 องคุลี ต้มกับน้ำ 2 แก้ว โดยต้มเคี่ยวสามส่วนให้เหลือสองส่วน ดื่มยาครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2-3 ครั้ง
ตำรับยาโบราณอีก 1 ตำรับใช้ลดไข้ และใช้ถ่ายลดพิษไข้ ที่คนมักไม่ค่อยนึกถึงนั่นคือ ลูกสมอไทย ให้ใช้ 2-3 ลูก ต้มกับน้ำ 3-4 แก้ว ต้มเดือดนานสัก 15 นาที กินครั้งละครึ่งแก้วถึง 1 ก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น รสชาติลูกสมอสดมีรสชาติหลายรสจึงถือว่าเป็นยาที่ดีต่อร่างกาย กล่าวคือ มีรสเปรี้ยว ฝาด หวาน ขม และยังมีรสออกเค็มปนด้วย
ในความจริงวิธีที่เรียกว่าธรรมชาติสุดๆ ได้ผลดีในการบรรเทาไข้ยามที่ยังไม่มีหยูกยากินนั้นก็คือ การใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดตัว โดยเฉพาะเช็ดบริเวณรักแร้หรือตามซอกข้อพับต่างๆ ในร่างกาย แม้ได้กินยาแล้วแต่อุณหภูมิยังสูงก็ยังเช็ดตัวระบายความร้อนได้โดยเฉพาะเด็กเล็กจะช่วยได้ดีมาก และควรดื่มน้ำบ่อย ๆ ให้ดื่มน้ำ 1 แก้ว ทุก ๆ 2 ชั่วโมง ช่วยลดไข้ได้ดี
สำหรับใครที่ไม่มีไข้แล้ว แต่ยังรู้สึกคัดจมูกยังมีอาการหวัดหายใจไม่สะดวก และยังรู้สึกไม่สดชื่น เป็นอาการหลังฟื้นไข้นั้น แนะนำให้อบสมุนไพร (ตะไคร้ หมอแดง ใบมะขาม) ช่วยขับเหงื่อ สูดดมกลิ่มหอมสมุนไพรจะช่วยให้ร่างกายดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าใครมีไข้สูงเกิน 39.4 C ขึ้นไป ถือว่าอันตรายควรรีบไปโรงพยาบาลจะดีสุด และยามมีไข้เมื่อยตัวนั้น ห้ามนวดเด็ดขาดจะทำให้ไข้ยิ่งขึ้นสูง
ตลอดปีเถาะ ขอให้สุขภาพทุกท่านสว่างไสวดั่งกระต่ายในดวงจันทร์ มีสมุนไพรไพรใกล้ตัวลดไข้ใกล้มือทุกครัวเรือน.