ประชากรทั่วโลก ณ พฤศจิกายน 2561 มี 7.7 พันล้านคน เป็นชายร้อยละ 50.4 เป็นหญิงร้อยละ 49.6 หรือประมาณ 3,800 ล้านคน (สำหรับในประเทศไทยสลับกัน ชายประมาณร้อยละ 49 หญิงร้อยละ 51) เป็นหญิงที่มีอายุมากกว่า 64 ปี 315 ล้านคน อายุ 15-64 ปี 2,400 ล้านคน และอายุน้อยกว่า 15 ปี 937 ล้านคน หากผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนประมาณอายุ 51 ปี อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงทั่วโลก (ปี 2550-2558) อยู่ที่ 72 ปี 8 เดือน นั่นหมายความว่า การหมดประจำเดือนจะมีผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้หญิงไปนาน 22 ปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีหญิงวัยหมดและหลังหมดประจำเดือนทั่วโลกถึง 1,200 ล้านคน โดยมีรายใหม่ปีละ 47 ล้านคน
การคงความเป็นหนุ่มสาวนั้น เป็นความใฝ่ผันของคนทั่วโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
มีตำนานและความเชื่อมากมายที่จะทำให้ร่างกายกลับคืนคงความหนุ่มสาว อายุยืนยาวในทุกชนชาติ ตั้งแต่น้ำพุแห่งความหนุ่มสาว จอกศักดิ์สิทธิ์ ยาอายุวัฒนะ พลังจักระของอินเดีย เป็นต้น การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านก็มีตำรับยาอายุวัฒนะมากมาย การคงความหนุ่มสาวนั้น การแพทย์แผนปัจจุบันเชื่อว่า เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายที่สำคัญคือ เอสโตรเจนในผู้หญิง และเทสโทสเตอโรนในผู้ชาย เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้ลดน้อยลงหรือหมดไป ร่างกายจะเข้าสู่ความชราผิวหนังเหี่ยวย่น กล้ามเนื้อลีบลง ผมร่วง กระดูกบางไขมันในเลือดสูง เกิดโรคหัวใจหลอดเลือด ฯลฯ
ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีหลังหมดประจำเดือน บางรายต้องใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อลดอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์เปลี่ยนแปลง กระดูกบาง แต่ก็มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนสังเคราะห์ จึงมีการหาฮอร์โมนทดแทนที่ได้จากธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัย และได้ผลเหมือนฮอร์โมนจากร่างกายมากที่สุด
สมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีความน่าสนใจมาก คือ ว่านชักมดลูกตัวเมียกับฮอร์โมนเพศหญิงธรรมชาติ
ข้อมูลจากสำนักข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) ว่า สรรพคุณตามตำรายาไทย มีการใช้เหง้าว่านชักมดลูกรักษาอาการของสตรี เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย ริดสีดวงทวาร และไส้เลื่อน ซึ่งจากภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ นักวิจัยไทยได้ทำการวิจัยในหนูทดลอง พบว่าว่านชักมดลูกตัวเมียมีสารสำคัญ คือ กลุ่มไฟโตเอสโตรเจน (สารที่ได้จากพืชในธรรมชาติที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน) ซึ่งมีศักยภาพในการรักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมและความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย
นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่าไวตามินซี ต้านการอักเสบซึ่งเป็นผลดีกับโรคในระบบประสาท รักษาและซ่อมแซมระบบหลอดเลือดและหัวใจ กระตุ้นการหลั่งน้ำดี ลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ยังพบสารช่วยลำเลียงไขมันออกจากเนื้อเยื่อต่างๆ เข้าไปในตับ และเสริมให้เกิดการขับคลอเลสเตอรอลและกรดน้ำดีสู่ทางเดินอาหารและออกจากร่างกายพร้อมอุจจาระ ว่านชักมดลูกตัวเมียยังช่วยทำให้หลอดเลือดแข็งแรงป้องกันเยื่อบุผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขาดความยืดหยุ่น ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนในหนูทดลองที่ถูกตัดรังไข่ รักษาความหนาแน่นของมวลกระดูกได้เท่ากับกลุ่มหนูที่กินเอสโตรเจน ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ป้องกันโรคสมองเสื่อมในหนูทดลอง
ข้อมูลการใช้ว่านชักมดลูกในประเทศไทย พบว่าว่านชักมดลูกเป็นสมุนไพรในตระกูลขมิ้น ในตำรายาไทยใช้รักษาอาการของสตรี แก้มดลูกพิการ ทำให้มดลูกเข้าอู่ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปัจจุบันมีการนำว่านชักมดลูกทำเป็นผลิตภัณฑ์ขายกันอย่างกว้างขวาง จึงทำให้ ศ.ดร.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชและพิษวิทยา พบว่า ว่านชักมดลูกที่ขายในท้องตลาดนั้น มีการปะปนกันทั้งตัวเมียและตัวผู้ ว่านชักมดลูกตัวผู้ จะมีพิษต่อตับ ไต ม้าม แถมยังไม่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือมีน้อยมากอีกด้วย
ว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia) มีลักษณะต่างจากตัวเมียเล็กน้อย หัวจะกลมแป้นกว่า แขนงข้างจะยาวกว่า แต่ผู้ปลูกมักจะตัดหรือหักแขนงข้างออกเพื่อนำไปปลูก ทำให้แยกตัวผู้ตัวเมียไม่ออก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรงพยาบาลของรัฐที่เคยส่งเสริมต้องเลิกทำการผลิตยาว่านชักมดลูกสำหรับสตรีหมดประจำเดือน เพราะหาแหล่งวัตถุดิบที่ถูกต้องไม่ค่อยได้
ดีที่ในเวลานี้ ทางมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการเพาะเนื้อเยื่อว่านชักมดลูกตัวเมีย ได้ทดลองปลูกไปจนขยายพันธุ์ในพื้นที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา มานานร่วม 10 ปี จนเป็นแหล่งปลูกและขยายพันธุ์ว่านชักมดลูกตัวเมียมากที่สุดของประเทศไทย แล้วด้วยความพอดีที่ประธานมูลนิธิสุขภาพไทยมีที่ดินอยู่ละแวกนั้น จึงได้ร่วมขอพันธุ์ว่านชักมดลูกทำการปลูกตามประสาคนชอบปลูกดอกไม้ต้นไม้ ทำไปทำมาหลายปีจึงแบ่งวัตถุดิบมาให้สถานที่ผลิตยาของมูลนิธิสุขภาพไทย ผลิตออกมาเผยแพร่
ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นฮอร์โมนธรรมชาติจากพืชมีศักยภาพในการรักษาสุขภาพของสตรีวัยทอง ช่วยชะลอความเสื่อม และป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดจากความเสื่อมเนื่องจากการสูงวัย มีความปลอดภัยเพราะมีการใช้กันมายาวนาน สุขภาพหญิงวัยทองกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกยังคงแสวงหาสมุนไพรจากธรรมชาติ ว่านชักมดลูกตัวเมียเป็นสมุนไพรธรรมดาๆ ปลูกง่าย ใช้เป็นยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตซับซ้อน จึงมีราคาไม่แพง ผู้หญิงทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก จะปลูกและใช้เพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนก็ได้ จะพัฒนาเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนก็ได้อีกด้วย
สนใจศึกษาข้อมูลลึกซึ้งสอบถามสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หากสนใจถามการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพว่านชักมดลูก ติดต่อมูลนิธิสุขภาพไทย โทร 02 589 4243, 094 489 7887 หรือ 081 300 3300.