ศาสตราเมธี ดร.สุปรีดิ์ วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในด้านสาธารณสุข เกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ (กองทุนสวัสดิการข้าราชการ, กองทุนประกันสังคม, กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะเดินหน้าลดการเหลื่อมล้ำและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย และเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง
ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ประชาชนทุกคน สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการทุกแห่งทั้งรัฐบาลและเอกชน โดยไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิด้านการรักษาพยาบาล ประชาชนภายใต้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันก็ล้วนได้รับประโยชน์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ยังมีความเหลื่อมล้ำอีกมาก ทั้งขอบเขตเงื่อนไขการให้บริการ สิทธิประโยชน์ วิธีการจ่ายเงิน และอัตราการจ่ายเงิน เป็นต้น ซึ่งทางรัฐบาลตระหนักในเรื่องนี้ดี และได้ประกาศว่าจะเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ในโรคเอดส์ และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายต่อไป ซึ่งทราบว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมเชิงนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ในวันที่ 21 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ในโอกาสนี้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลโรคมะเร็งเป็นนโยบายเร่งด่วนคู่ไปกับโรคไตและโรคเอดส์ด้วย
ภญ.จิราพร กล่าวต่อว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย แต่ระบบบริหารจัดการการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 3 กองทุน มีความเหลื่อมล้ำ มีสิทธิประโยชน์ต่างกันโดยเฉพาะเรื่องยา รวมถึงวิธีจ่ายเงิน และอัตราการจ่ายเงินให้หน่วยบริการ มีวิธีบริหารจัดการที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งในแต่ละระบบได้รับการดูแลที่ต่างกัน มีอัตราการเสียชีวิตโดยเหตุไม่สมควร ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับวิธีการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งทุกระบบให้เหมือนกัน โดยมีข้อเสนอดังนี้
1.ปรับสิทธิประโยชน์ และแบบแผนการรักษามะเร็งทุกโรคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาราคาแพง ที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้ง 3 ระบบ
2.ปรับวิธีจ่ายเงินให้หน่วยบริการ โดยเฉพาะวิธีจ่ายเงินสำหรับการรับยามะเร็งแบบผู้ป่วยนอกให้เป็นลักษณะเฉพาะ อัตราเดียวกัน แยกจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว เนื่องจากเป็นการรักษาที่มีราคาแพง เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้น ไม่มีปัญหาเช่นผู้ป่วยประกันสังคมที่ถูกรวมในงบเหมาจ่ายรายหัว สำหรับผู้ป่วยในขอให้จ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือ DRG ที่เท่ากัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ
3.ให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ จัดงบประมาณให้ความสำคัญกับการรณรงค์สร้างความรู้การส่งเสริมป้องกันโรค และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อการรักษาตั้งแต่เป็นระยะแรกซึ่งจะลดการสูญเสียได้มากกว่าการเป็นระยะลุกลาม
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews