นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 4 ก.พ.ทุกปี องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก(World Cancer Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ รณรงค์ให้รู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคนี้ เนื่องจากขณะนี้โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงระดับโลก เป็นภัยเงียบคุกคามชีวิตประชาชนวัยแรงงานและผู้สูงอายุมากที่สุด
องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลกปีละประมาณ 13 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 7.6 ล้านคน มากที่สุดคือมะเร็งปอดจำนวน 1.37 ล้านคน แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกประเทศ คาดว่าในอีก 16 ปีคือในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านกว่าคน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก
สำหรับประเทศไทย พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่องมานานกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ล่าสุดในปี 2554 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทุกชนิด 61,082 คน คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่มีปีละ 414,670 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3,000 คน ในการจัดบริการทั้งการป้องกัน การดูแลรักษาผู้ป่วย
ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ มีทั้งหมด 12 เขต เขตละ 5-8 จังหวัด ดูแลประชาชนเฉลี่ยประมาณ 5 ล้านคน ให้แต่ละเขตบริการใช้หลักการบริหารร่วมทั้งงบประมาณ กำลังคน และเครื่องมือแพทย์ร่วมกัน โดยใช้แผนบริการสุขภาพหรือเซอร์วิส แพลน ( service plan) เป็นเครื่องมือหลักของการพัฒนา ซึ่งได้กำหนดให้บริการของโรคมะเร็งเป็น 1 ใน10 สาขาบริการหลักที่ต้องดำเนินการทุกเขตบริการสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งที่มาพบแพทย์ ป่วยในระยะลุกลามมากกว่าระยะเริ่มต้น โอกาสหายขาดจึงมีน้อย
ทั้งนี้มาตรการพัฒนาบริการ กำหนดให้ทุกเขตบริการสามารถผ่าตัดมะเร็ง รักษาด้วยเคมีบำบัด และขยายการรักษาด้วยรังสี เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยมะเร็งเร็วขึ้น ได้รักษาใกล้บ้าน โดยได้รับการผ่าตัดใน 4 สัปดาห์ ได้รับยาเคมีบำบัดใน 4 สัปดาห์ และได้รับการฉายแสงระงับเซลล์มะเร็งแพร่กระจายใน 6 สัปดาห์
ด้านนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายบริการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะดูแลที่บ้าน โดยให้ทีมสุขภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนและอสม.ออกไปให้การดูแลที่บ้านอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมานผู้ป่วย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งที่สำคัญมี 5 ประการได้แก่ ความอ้วน การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย และไม่กินผักผลไม้สดโดยโรคมะเร็งจะค่อยๆก่อตัว ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รู้ตัว จึงขอแนะนำผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพ ค้นหาความผิดปกติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบเร็วโอกาสรักษาหายจะมีสูง
ขณะเดียวกันได้จัดระบบการป้องกัน และการค้นหาผู้ที่เริ่มมีความผิดปกติ แต่ยังไม่รู้ตัว เช่นผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป จะรณรงค์ให้ตรวจหามะเร็งปากมดลูกให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ตรวจมะเร็งเต้านมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 หากพบความผิดปกติจะได้รับการผ่าตัดภายใน 1 เดือน ซึ่งมีโอกาสหายเป็นปกติสูงมาก หากเซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่อื่น ส่วนในบางเขตบริการฯ เช่นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบโรคมะเร็งตับสูง จะตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ หากพบจะให้ยาฆ่าพยาธิและปรับพฤติกรรมเลิกกินปลาน้ำจืดดิบๆ สุกๆ ด้วย
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็ง มีหลักการง่ายๆ คือ 5 ทำ 5 ไม่ กิจกรรมที่ควรทำ 5 ประการได้แก่ 1.ออกกำลังกายประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที จะป้องกันความอ้วน ลดความเครียดได้ 2. ทำจิตแจ่มใส ทำได้หลายวิธีเช่น ออกกำลังกาย การทำบุญตามวิถีแห่งศาสนา การทัศนศึกษา 3. กินผักผลไม้สดให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม ในผักผลไม้มีสารต้านมะเร็ง เช่นวิตามินเอ สารเบต้าแคโรทีน และมีเส้นใยอาหาร ทำหน้าที่คล้ายแปรงไปกระตุ้นผนังลำไส้ใหญ่ให้สร้างเมือกมากขึ้น ทำให้ระบบขับถ่ายดี 4.กินอาหารให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ และใหม่สด สะอาด ปราศจากเชื้อรา ลดอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง หรือทอดไหม้เกรียม อาหารหมักดองเค็ม และ5. ตรวจร่างกายเป็นประจำ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 3 ก.พ.57